ยานยนต์ไฟฟ้าหรือสถานี อัดประจุไฟฟ้าต้องมาก่อน?


          ยานยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป ขณะนี้ทั่วโลกตื่นตัวเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า และเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายที่เอื้อต่อการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยผ่านมาตรการภาคบังคับ ห้ามจำหน่ายรถใหม่ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลหรือยกเลิกผลิตรถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
          สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเริ่มตื่นตัวและมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รัฐบาลมีการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดปลั๊กอิน และยานยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ 1.2 ล้านคันภายใน พ.ศ. 2579 ที่ผ่านมาทางกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการโครงการนำร่องเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะตามมา เพราะเป็นที่ถกเถียงว่าควรจะมียานยนต์ไฟฟ้ามาก่อน หรือสถานีอัดประจุไฟฟ้าควรจะมาก่อน ฉะนั้น กระทรวงพลังงานจึงมองว่า ให้เริ่มต้นมีโครงสร้างพื้นฐานก่อน เพื่อจะได้เดินหน้าต่อไปได้ในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า

          กระทรวงพลังงานเดินหน้าเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า ตั้งเป้า 150 หัวจ่าย ภายใน พ.ศ. 2562

          โครงการส่งเสริมให้เกิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า เกิดจากกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ได้มอบหมายให้ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยช่วยดำเนินโครงการส่งเสริมให้เกิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าตั้งเป้า 150 หัวจ่าย ทั่วประเทศไทย ภายใน พ.ศ. 2562
          เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิด สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ผลักดันนโยบายพลังงาน 4.0 เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยกลายเป็นสมาร์ทซิตี้ (Smart City) รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคที่สนใจยานยนต์ไฟฟ้าโดยตั้งเป้าหมายใน พ.ศ. 2562 ให้มีสถานีครบ 150 สถานี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานการไฟฟ้า ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าในแต่ละเครือข่าย รวมทั้งค่ายรถยนต์ต่างๆ กว่า 20 หน่วยงาน ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมกันเดินหน้าพัฒนาระบบเชื่อมต่อการใช้งานของแต่ละเครือข่ายเข้าด้วยกัน เพี่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด

          ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นโยบายยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เป็นนโยบายหลักประเทศ อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นฐานของการผลิตยานยนต์ใหญ่ที่สุดในอาเซียนโดยผลิตกว่า 2 ล้านคันต่อปีและส่งออกมากกว่า 1.2 ล้านคันต่อปี เพราะฉะนั้นการที่วิวัฒนาการของโลกในอนาคตจะก้าวไปสู่การเลิกใช้น้ำมัน หันไปใช้ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ หากเราไม่เตรียมพร้อมก็จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ไม่เพียงแค่ผู้ประกอบการ การจ้างงาน การประกอบอาชีพของพนักงาน ธุรกิจ SME ที่ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ป้อนให้กับอุตสาหกรรมนี้ รัฐบาลได้ตระหนักและเตรียมพร้อมที่จะขับเคลื่อน ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม จากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมาเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก เพื่อเตรียมที่จะก้าวไปสู่อนาคต โดยขณะนี้ได้เร่งขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้นโดยตั้งเป้าไว้ว่าใน พ.ศ. 2579 ประเทศไทยจะต้องมียานยนต์ไฟฟ้าให้ได้มากถึง 1.2 ล้านคัน
          “คาดว่าไม่เกิน 10 ปี ทั่วโลกน่าจะมีการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงมาก สนพ.เริ่มทดสอบหลักการเรียกว่าสมาร์ทซิตี้ ในการกระจายว่าทุกๆ ชุมชน ทุกๆ หน่วยงาน ทุกๆ บ้าน สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายไฟในส่วนที่เหลือตรงนี้เป็นอนาคตที่เรามองออกไปในการบริหารจัดการไฟฟ้า”

          ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
กล่าวว่า คาดการณ์ในอนาคตจะมีประชาชนหันมาใช้มากขึ้นโดยเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งขณะนี้ได้เร่งขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคที่สนใจยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังขยายตัวและจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนงานวิจัยแบตเตอรี่ สนับสนุนการนำร่องยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถสาธารณะ อาทิ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น เตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้า

          ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ในขณะนี้สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่แล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการแล้ว จำนวน 15 หัวจ่าย จาก 13 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1. กรมควบคุมมลพิษ 2. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตองครักษ์ 3. บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด ปทุมวัน 4. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (สำนักงานใหญ่) 5. บริษัท เค.อี.รีเทล จำกัด (CDC) 6. ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอลเอชช็อปปิ้ง เซ็นเตอร์ สาขา 001 (ศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21 อโศก) 7. บริษัท แรบบิท ออโต้ คราฟท์ จำกัด 8. บริษัท ทีเอสแอล ออโต้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด 9. บริษัท ทีเอสแอล ออโต้ เซอร์วิส 2016 จำกัด 10. บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ราชพฤกษ์ 2) 11. บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด 12. บริษัท สแตนดาร์ด เอ็นจีวี จำกัด 13. บริษัท เกษรเรียลตี้ จำกัด (ศูนย์การค้าเกษร)

          นอกจากนี้ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยยังได้ริเริ่มโครงการเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีอยู่หลากหลายเครือข่ายและบริษัทรถยนต์ที่จำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) โดยได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือในการพัฒนาระบบเชื่อมต่อการใช้งานของแต่ละเครือข่ายเข้าด้วยกัน อันมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ให้สามารถใช้บริการอัดประจุไฟฟ้าในแต่ละแห่งได้โดยไม่ต้องพกบัตรผู้ใช้บริการหลายใบ โดยในเบื้องต้น สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ 1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด
4. บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด 5. บริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
6. บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด 7. บริษัท จีแอลที กรีน (ประเทศไทย) จำกัด
8. บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด 9. บริษัท เดอะ ฟิฟท์ อีลีเมนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
10. บริษัท วอลโว่คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด 11. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 12. บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด 13. บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด
14. บริษัท เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส จำกัด 15. บริษัท อี.วี.เอฟ (ประเทศไทย) จำกัด
16. บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเซีย) จำกัด 17. บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด 18. บริษัท อินช์เคป
(ประเทศไทย) จำกัด และได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้า  ส่วนภูมิภาค และล่าสุดโครงการเปิดรับสมัครมาถึงรอบที่ 5 มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 83 สถานี จำนวน 103 หัวจ่าย

          เดลต้า พร้อมติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รองรับการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า

          รัฐบาลไทยคาดหวังว่าจะมียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 1.2 ล้านคันภายใน พ.ศ. 2579 เพื่อสนับสนุนแผนนโยบายนี้จึงจำเป็นต้องมีสถานีอัดประจุไฟฟ้ารองรับเป็นจำนวนมาก ซึ่งเดลต้าอยู่ในสถานภาพที่พิเศษกว่าผู้อื่นที่สามารถจัดให้บริการติดตั้งสถานีได้ ยกระดับความเชี่ยวชาญในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการแปลงและจัดการพลังงาน เพื่อสร้างเครื่องชาร์จแบบไฟฟ้ากระแสตรง (DC) และไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ที่ใช้ทั้งระบบภาพสัญลักษณ์สื่อสารกับผู้ใช้ผ่านเว็บไซต์ หรือ Graphical User Interface (GUI) และแอพพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนในการติดตั้ง การใช้งาน และการบำรุงรักษาเพื่อลดความยุ่งยาก
          เมื่อต้นปีนี้ เดลต้าเปิดตัวอุปกรณ์ชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบชุดในประเทศอินเดีย และจะเปิดโรงงานผลิตใน พ.ศ. 2562 เดลต้ายังวางแผนที่จะขยายงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยได้ร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวงในกรุงเทพมหานคร และสถาบันยานยนต์ในบางปู เพื่อให้บริการโซลูชั่นสำหรับการอัดประจุไฟฟ้า
          ในปีนี้ เดลต้าเข้าร่วมกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในฐานะหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้า ที่สามารถจัดหาโซลูชั่นการชาร์จประจุไฟยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของประเทศ การเป็นสมาชิกของเดลต้าเป็นผลมาจากความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้านยานยนต์ชั้นนำของรัฐบาลไทย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกำหนดรูปแบบการชาร์จประจุไฟยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

          กิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เดลต้า ประจำภูมิภาค
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ที่ผ่านเดลต้าได้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าใประเทศไทย โดยติดตั้งให้กับสถาบันยานยนต์ จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สำนักงานบางปูและสำนักงานกล้วยน้ำไท รวมทั้งการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 10 สถานีในพ.ศ. 2555 ซึ่งจะเป็นเครื่องชาร์จแบบไฟฟ้ากระแสตรง (DC) หรือ Quick Charge โครงการที่ติดตั้งส่วนใหญ่ เป็นโครงการนำร่องของภาครัฐ ส่วนเครื่องชาร์จแบบกระแสสลับ (AC) หรือ Normal Charge จะติดตั้งในส่วนของภาคเอกชน เช่น คอนโดมิเนียม ในส่วนของต่างประเทศมีการติดตั้งที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง และประเทศนอร์เวย์ ติดตั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2559-2561 จำนวน 388 สถานี ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกา เนื่องจากรัฐบาลในหลายประเทศก็เริ่มให้ความสนใจกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะการอัดงบประมาณสำหรับติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้า และการพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
          อีกตัวหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ คือจะเห็นว่าตัวอัดประจุไฟฟ้าเป็นตัวที่ใช้พลังงาน โดยการดึงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานค่อนข้างสูง หากติดตั้งตัวอัดประจุไฟฟ้าในปริมาณมาก อนาคตก่อให้เกิดปัญหาเรื่องระบบไฟหรือระบบสายส่ง และระบบหม้อแปลงได้ ดังนั้น เดลต้าจึงพัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่า Energy Storage หรือตัวกักเก็บพลังงาน เข้ามาช่วยเสริม ตัวกักเก็บพลังงานเปรียบเสมือนแท็งก์น้ำสำรองอีกหนึ่งแท็งก์ นั่นก็คือ ในบ้านปกติจะมีน้ำประปาเป็นตัวหลัก แต่ก็มีแท็งก์น้ำสำรองเก็บไว้เพื่อใช้ยามขาดแคลน แนวคิดดังกล่าวเหมือนกันกับตัวกักเก็บพลังงาน จะเป็นเหมือนแท็งก์ไฟฟ้าสำรอง ที่ช่วยทำให้สภาวะระบบไฟฟ้าเกิดความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น
          “ภาพในอนาคตถ้าเราติดตั้งตัวอัดประจุไฟฟ้าไปเยอะแล้ว แน่นอนว่าจะไปมีปัญหาหรือระบบกวนระบบสายส่งหรือระบบที่นำส่งไฟฟ้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรม และบ้านเรือน ฉะนั้นนวัตกรรมคือ ตัวกักเก็บพลังงาน เข้ามาช่วยเสริมในระบบสายส่งไฟฟ้าให้มีความเสถียรภาพและสามารถมีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อผู้ใช้ในอนาคต”

          EA Anywhere ตั้งเป้าติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 1,000 สถานีทั่วประเทศ ภายใน พ.ศ. 2561

          บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน มีความเชี่ยวชาญ และเป็นผู้นำในเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงาน จากนโยบายที่เล็งเห็นว่า ในอนาคตพลังงานจากฟอสซิลซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะ เช่น น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน จะถูกลดบทบาทไป พลังงานอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มบทบาทยิ่งขึ้น และเข้ามาแทนที่ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

          สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด
กล่าวว่า EA Anywhere ได้เพิ่มงบประมาณสำหรับการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า 1,000 สถานีทั่วประเทศ จาก 600 ล้านบาทเป็น 800 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้ง ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเริ่มที่จะกระจายสู่ภูมิภาคต่อไป โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2561 เราต้องการให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้ากระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ เพื่อความสะดวกของผู้ใช้บริการ ไม่ต่างจากการใช้บริการของสถานีบริการน้ำมัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตของยอดขายรถยนต์ประเภทนี้ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และยังคงมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
          “EA Anywhere พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ เพราะการติดตั้งและลงทุนอุปกรณ์สถานีชาร์จ EA Anywhere เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด เพียงแค่เจ้าของพื้นที่จะต้องมีพื้นที่จุดจอดให้ตรงตามสเปก รวมถึงสายไฟที่เหมาะสมกับเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแต่ละสถานีจะมีรูปแบบสถานีที่แตกต่างกันออกไป เช่น สถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ ร้านกาแฟ ศูนย์อาหารขนาดใหญ่ ผู้ให้บริการดูแลรถยนต์ โรงแรม คอนโดมิเนียม อาคารจอดรถ โรงพยาบาล สถานศึกษา สนามกีฬา รวมถึงศูนย์การค้า ซึ่งรองรับไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันออกไป”
          EA Anywhere ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในความปลอดภัยอย่างสูงสุด ด้วยการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจาก IEC STANDARD ทั้งแบบกระแสไฟฟ้าตรง และกระแสไฟฟ้าสลับ
          สถานีอัดประจุไฟฟ้านั้นมีหัวจ่ายอยู่ 2 แบบ คือ แบบ DC ชาร์จเร็วภายใน 7 นาที วิ่งได้ระยะทาง 100 กม. ส่วนแบบ AC ชาร์จปกติ 1-2 ชม. รองรับรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าทุกค่ายและทุกรุ่นสามารถชาร์จไฟฟ้าได้

รูปแบบสถานีอัดประจุไฟฟ้ามี 3 ขนาด คือ เอส, เอ็ม, แอล
          i. ขนาดเอส 3 หัวจ่าย ประกอบด้วย DC 2 หัว และ AC 1 หัว
          ii. ขนาดเอ็ม 4 หัวจ่าย ประกอบด้วย DC 1 หัว และ AC 3 หัว
          iii. ขนาดแอล ประกอบด้วยหัวจ่ายแบบ DC 1 หัว และแบบ AC ที่จะกระจายแยกจุดออกไปติดตั้งยังจุดจอดรถต่างๆ
          อัตราค่าบริการ คิดค่าบริการลูกค้าที่มาใช้บริการแบบชาร์จปกติ 1 ชม. 50 บาท, 2 ชม. 80 บาท, 3 ชม. 120 บาท และ 4 ชม. 150 บาท ส่วนแบบชาร์จเร็ว คิดตามหน่วยไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาราคาเบื้องต้นที่ไม่สูงกว่าก๊าซเอ็นจีวีอย่างแน่นอน
          ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด Cashless Society หรือ Cashless Economy เป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจที่ปราศจากเงินสด หรือสังคมเศรษฐกิจที่ไม่นิยมถือเงินสด ความสำคัญของเงินสดลดน้อยลง และจะถูกแทนที่ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคมในการทำธุรกรรมทางการเงินแทน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดการและการลดต้นทุนรวม โดย EA Anywhere มุ่งเน้นการพัฒนาระบบโดยใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น EA Anywhere ทั้งระบบ iOS และ Android ซึ่งสามารถ จอง จ่าย ชาร์จ ได้อย่างสะดวกปลอดภัยง่ายต่อการจัดการ และบริหารระบบ Station ของ EA Anywhere อีกด้วย

          สมโภชน์ กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมาตลอดว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก EA จึงมุ่งเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากปัจจุบันที่พลังงานทดแทนเป็นเพียงพลังงานทางเลือก ดังนั้นจึงต้องไปลงทุนในอุตสาหกรรม แบตเตอรี่รถยนต์ ถือว่าเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย ที่จะทำให้พลังงานทางเลือกกลายเป็นพลังงานหลักได้ เราจึงร่วมมือกับพันธมิตรทำนิคมอุตสาหกรรมแบบใหม่มีความสวยงามน่าอยู่ เราเริ่มจากรัฐสนับสนุน แล้วกลับมาต่อยอดช่วยเหลือสังคม ผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเป็นรูปธรรม
          สถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere เปิดตัวโครงการในสถานะผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Service Provider) ซึ่งมุ่งเน้นการให้บริการกับยานยนต์ไฟฟ้าทุกค่าย ทั้งนี้ EA Anywhere ได้ต่อยอดธุรกิจโดยจัดตั้ง บริษัท ไมน์ โมบิลิตี้ จำกัด ภายใต้เครื่องหมายการค้า MINE (MISSION NO EMISSION) เพื่อคิดค้น และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัทฯ และวิศวกรชาวไทย
          การผลิตรถยนต์ของ ไมน์ โมบิลิตี้ ไม่ได้เป็นเพียงรถยนต์ต้นแบบเท่านั้น แต่บริษัทฯ มีแผนที่จะผลิตรถยนต์ดังกล่าวออกจำหน่ายภายใน พ.ศ. 2562 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการผลิต ซึ่งเมื่อถึงเวลาผลิตยานยนต์ไฟฟ้าก็จะสามารถพัฒนาให้เหมาะสมได้ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาธุรกิจของทาง EA Anywhere ซึ่งจะมีสถานีบริการรองรับครบ 1,000 สถานีภายใน พ.ศ. 2561
          อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มต้นด้วยการปูทางโครงสร้างพื้นฐานแล้ว สิ่งที่ต้องมองต่อไปคือยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาตอบโจทย์ และบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน การที่ยานยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตได้นั้น ภาคเอกชนถือเป็นกำลังหลักในการช่วยผลักดัน

          วอลโว่ ยกเลิกพัฒนาหรือติดตั้งด้วยเครื่องยนต์ดีเซลเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ใน พ.ศ. 2562

          เมื่อปีที่ผ่านมา วอลโว่ได้ประกาศว่า รถยนต์ทุกรุ่นของวอลโว่ที่จะเปิดตัวตั้งแต่ พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป จะใช้เครื่องยนต์ปลั๊กอินไฮบริดระบบเชื้อเพลิงร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า หรือใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานไฟฟ้าอย่างแท้จริงของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งวอลโว่นับเป็นผู้ผลิตรถยนต์ระบบเชื้อเพลิงรายแรกที่ให้คำมั่นสัญญาในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทุกรุ่นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560

          คริส เวลส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อนาคตของเราคือพลังงานไฟฟ้า และเราจะไม่พัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่อีกต่อไป โดยจะยุติการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายในเท่านั้น โดยยังคงมีเครื่องยนต์ไฮบริดเชื้อเพลิงเบนซินเป็นทางเลือกในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยการเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปและได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในประเทศไทย เห็นได้จากการที่ลูกค้าของเรากว่า 80% เลือกรถยนต์รุ่น T8 Plug-in Hybrid ในรุ่นรถยนต์ที่เปิดจำหน่าย ในเวลาเดียวกัน เรายังต้องตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าให้ได้ และความต้องการของผู้บริโภคในประเทศจะเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้
          ลูกค้าในปัจจุบันมีความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้วอลโว่จำเป็นต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจากเครื่องยนต์ดีเซลมาสู่เครื่องยนต์ไฮบริดระบบเชื้อเพลิงร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่วอลโว่จะเดินหน้าพัฒนาเพื่อผู้บริโภคของเราต่อไป
          ในเดือนที่ผ่านมา วอลโว่ตอกย้ำถึงกลยุทธ์เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานไฟฟ้าด้วยการประกาศว่า บริษัทจะตั้งเป้าหมายให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่สร้างยอดขายได้ 50% ของยอดขายทั่วโลกภายใน พ.ศ. 2568 โดยประกาศไว้ที่งาน 2018 Beijing Auto Show ซึ่ง พ.ศ. 2568 ก็จะมาถึงในอีกไม่นานนี้แล้ว
          “เราได้เห็นแล้วว่าลูกค้าของเราในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนมาใช้รุ่นเครื่องยนต์ T8 Twin Engine Plug-in Hybrid Engine กันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้องการซื้อรถยนต์คันใหม่ ในช่วงที่ผมเดินทางมาถึงเมืองไทยในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 เรามียอดจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล 50% และเครื่องไฮบริด 50% โดยประมาณ หากวันนี้เราได้เห็นว่ามีลูกค้าถึง 80% ที่เลือกเครื่องยนต์ T8 Twin Engine ซึ่งผมไม่คิดว่าแนวโน้มนี้จะเปลี่ยนแปลง รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะแพร่หลายอย่างรวดเร็วหากมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานรองรับอย่างเพียงทั่วประเทศไทย แต่ผมเชื่อว่า ลูกค้าของเราจะยังคงเลือกรุ่นเครื่องยนต์ไฮบริดเป็นตัวเลือกยอดนิยมต่อไปอีกในระยะสั้นๆ”

The new Volvo XC60 – T8 powertrain

          ปัจจุบัน เรานำเสนอเครื่องยนต์ T8 Twin Engine Plug-in Hybrid Engine ในรุ่น XC90, S90 และ XC60 และจะเพิ่มเครื่องยนต์นี้ในรุ่นอื่นๆ ต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานไฟฟ้าของเรา เป้าหมายของวอลโว่ คาร์ ประเทศไทย คือทำให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตได้อย่างเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เราจึงนำเสนอทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อมอบบริการที่ดีเยี่ยมเหนือความคาดหมายของผู้บริโภคในทุกๆ ด้าน
          ยานยนต์ไฟฟ้าหรือสถานีอัดประจุไฟฟ้าอะไรต้องมาก่อน กลายเป็นที่ถกเถียงกันเช่นเดียวกับไข่และไก่ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะยานยนต์ไฟฟ้าหรือสถานีอัดประจุไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดควบคู่กัน ฉะนั้นการส่งเสริมทั้งสองส่วนนี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แน่นอนว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อันจะส่งผลต่อการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save