กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน 7 รูปแบบ หลัง “รัฐมนตรีพลังงาน” เร่งเดินหน้าโครงการต้นแบบ Quick Win โดยเอกชนลงทุนก่อนทั้งหมดเมื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ให้ชุมชนเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 10% และเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าในราคาประกัน ขณะที่ชุมชนจะได้รับส่วนแบ่งรายได้อย่างน้อย 25 สตางค์/หน่วย จากการขายไฟฟ้าที่จะมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังความเห็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2562 โดยกระทรวงพลังงานคาดว่าจะสามารถเปิดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เฟสแรกได้ประมาณ 250 แห่ง รวมถึงโรงไฟฟ้าชุมชนแบบเร่งด่วน (Quick Win) 10-20 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563
ขณะที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ตั้งโจทย์โรงไฟฟ้าชุมชน 7 รูปแบบ เพื่อเปิดรับฟังความเห็น กำหนดให้วิสาหกิจชุมชน ถือหุ้น 10% และเอกชนที่อาจร่วมกับภาครัฐถือหุ้นในสัดส่วน 90% ซึ่งชุมชนจะมีรายได้จาก 3 ส่วนหลัก คือ รายได้จากการถือหุ้นในโรงไฟฟ้า รายได้จากส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้า 25 สตางค์ต่อหน่วย และรายได้จากการขายเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า
การนำร่องโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อให้เกิดโครงการโดยเร็ว จะใช้รูปแบบ Quick Win สำหรับโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้ว หรือใกล้สร้างแล้วเสร็จ รวมถึงโครงการที่ภาครัฐเคยให้การสนับสนุนบางส่วนมาแล้ว แต่ยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ โดยโครงการ Quick Win นั้น ทางเอกชนสามารถเสนอโครงการเข้ามาพิจารณาได้ก่อน แต่เงื่อนไขการงทุนของชมชนอาจจะถือหุ้นได้มากกว่า 10% โดยชุมชนจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่มากกว่า 25 สตางค์/หน่วย
สำหรับกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน ได้กำหนดรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนไว้ 7 รูปแบบ ได้แก่ 1.โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) 2.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน)-พลังงานแสงอาทิตย์ 3.โรงไฟฟ้าชุมชน ชีวมวล 4.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์ 5.โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) 6.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย-ของเสีย)-พลังงานแสงอาทิตย์ และ7.โรงไฟฟ้าชุมชน พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในรูปแบบสุดท้ายนี้ หากพื้นที่ใดไม่สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวล แก๊สชีวภาพ หรือ รูปแบบผสมผสานเชื้อเพลิงได้ ก็สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกสารที่เกี่ยวข้อง |
Source: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน