8 เสียงตัวแทนภาคท่องเที่ยวไทย ระดมสมอง ส่งเสียงสะท้อนปัญหา เสนอทางแก้ไข หวังฟื้นการท่องเที่ยวไทยให้ทันโลก


เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Tourism Voice: เสียงท่องเที่ยวไทย’ จัดงานเสวนาออนไลน์ ‘OPEN MIC! 100 เสียงแรกท่องเที่ยวไทย’ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 โดยมีผู้ร่วมเสวนากว่า 30 คน ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยทั่วประเทศ และมีผู้เข้าฟังหลายร้อยคน เพื่อพูดคุย ร่วมส่ง #เสียงท่องเที่ยวไทย ถึงปัญหาที่หนักหนาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในวันนี้ พร้อมเสนอวิธีทางแก้ไข ที่อยากให้คนไทยทุกคนได้ยิน เพื่อฟื้นการท่องเที่ยวไทยให้กลับคืนมา

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา #เสียงท่องเที่ยวไทย เสียงที่ไม่เคยดัง และชาวท่องเที่ยวซึ่งไม่อาจนิ่งเงียบทนรอความหวัง ธุรกิจท่องเที่ยวจึงออกมาส่งเสียงร่วมกัน ‘TOURISM VOICE’ มีเดียแพลตฟอร์ม ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีเป้าหมาย เพื่อต้องการเป็นตัวแทนสื่อสารปัญหาด้านการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ตรงไปตรงมา เป็นกระบอกเสียงให้คนในธุรกิจท่องเที่ยว ไม่ว่าจะระดับใหญ่ กลาง หรือระดับชุมชน ปลายทางคือ การแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมกันนี้ได้ สรุปประเด็นสำคัญในงานเสวนาออนไลน์ ‘OPEN MIC! 100 เสียงแรกท่องเที่ยวไทย

เสียงจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
ขอให้เร่งฉีดวัคซีนคุมแพร่ระบาด – กระจายเงินทุน

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์’ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (สทท.) เสนอความเห็นต่อรัฐบาล “ขอกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ครบ 70% ของประชากร” “พร้อมเร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างจริงจัง” และ “กระจายแหล่งเงินทุนให้เข้าถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วประเทศ” เพราะหลังนี้ หากเปิดประเทศเรียบร้อยตามแผนที่นายกรัฐมนตรีเคยประกาศ ถ้าหากไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจะเป็นความลำบากอีกระลอกของคนท่องเที่ยว จึงเสนอว่าการเปิดประเทศจะต้องมีกระบวนการที่ง่าย เข้าถึงได้ นักท่องเที่ยวสะดวกสบาย รวมถึงจำเป็นขอองการมีแคมเปญสำหรับการเปิดประเทศ อาจช่วยจ่ายเงินค่าห้องให้นักท่องเที่ยว ผ่านแคมเปญ “1 ดอลลาร์ 1 คืน จ่ายเพียง 1 ดอลลาร์ก็สามารถเข้าพักได้แล้ว” โดยรัฐสนับสนุนเบื้องต้นไปก่อน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนคนท่องเที่ยวล้มหายตายจากเพิ่มอีก

เสียงจากภูเก็ต
ให้ความสำคัญกับการมาของนักท่องเที่ยว


ศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด ส่งเสียงแทนคนท่องเที่ยวว่า จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้าสู่ภูเก็ตวันแรกเพียง 300 กว่าคน สะท้อนว่าการจะเปิดโรงแรม 100% อีกครั้งคงยาก จึงฝากถึงผู้กำกับนโยบายว่า “ควรเร่งศึกษาแนวทางเปิดประเทศของประเทศอื่นๆ อาทิ สิงคโปร์ เพื่อลดความซับซ้อนของกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง” และจำเป็นจะต้องมีโปรโมชันหรือแคมเปญ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่วนสำคัญอีกอย่างที่ศิริญามอง คือ ประเทศไทยควรเปิดให้เข้าถึงการตรวจ COVID-19 ด้วยรูปแบบการตรวจแอนติเจนที่ทั่วโลกใช้งาน เพื่อให้ประชาชนไทยสามารถตรวจ COVID-19 ได้ด้วยตัวเอง เพื่อลดความหวาดกลัวของนักท่องเที่ยวต่อประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นตัวเลขจากกรุงเทพฯ ถ้าสามารถประกาศแยกรายจังหวัดได้ก็จะลดความน่ากังวลลงไปมาก

“เชื่อว่านักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่เดินทางมาคือ ‘กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ เพราะไทยโดดเด่นเรื่องอากาศ อาหาร สมุนไพร และเพิ่งเปิดเรื่องเสรี “กัญชากัญชง” จึงเป็น 3 จุดที่สามารถสร้างความแตกต่างให้ต่างชาติอยากเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่ภาครัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดก่อน หันมาให้ความสำคัญในประเด็นว่า ‘จะทำอย่างไรให้คนมา’ ตามด้วยเรื่อง ‘รักษาความปลอดภัยได้ยังไง’ เพราะถ้าคิดตั้งกฎก่อน การท่องเที่ยวก็จะไม่เกิด” ศิริญา กล่าว

เสียงจากระยอง เสม็ดพร้อมเปิดเกาะ
เตรียมดันเสม็ดแซนด์บ็อกซ์

พิศมัย ศุภนันตฤกษ์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดระยอง และเจ้าของโรงแรมโนโวเทล ระยอง สตาร์คอนเวนชั่น กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเสม็ดได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมดแล้ว เสม็ดมีความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างมาก และอยากผลักดันให้เสม็ดสามารถเดินหน้าได้เหมือนกับ #ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยไว ภายใต้ชื่อ #เสม็ดแซนด์บ็อกซ์ เพราะคนบนเกาะฉีดวัคซีนครบ 100% แล้ว พื้นที่ปลอดภัยควรถูกทยอยเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ภาพรวมท่องเที่ยวไทยค่อยๆ ฟื้นตัว นอกจากนี้ อยากให้เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่สีแดงจังหวัดรอบๆ เช่น กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี และสมุทรปราการ เพื่อลดอัตราการตายที่ยังมีต่อเนื่องด้วย

เสียงจากพัทยา
วอนขอวัคซีนสู่อีกหนึ่งด่านหน้าท่องเที่ยวไทย

นรินทร์ ณ บางช้าง ตัวแทนจาก Legend Siam แหล่งท่องเที่ยวดังในพัทยา สะท้อน 2 ประเด็นสำคัญ อย่างแรกคือ พัทยาก็ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยว ‘ด่านหน้า’ ในการเปิดประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการจัดสรรวัคซีนด่วน เพื่อให้พร้อมต่อการเตรียมตัวเปิดประเทศในอีก 120 วันข้างหน้า อย่างที่สอง คือ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมี ‘อีเว้นท์’ หรือ ‘กิจกรรม’ ในการโปรโมทการท่องเที่ยว โดยภาครัฐควรจะทุ่มงบประมาณลงมา เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้สึกอยากเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น ไม่เช่นนั้นอนาคตในอีก 120 วันข้างหน้าคงยากที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา แม้คนท่องเที่ยวจะอยากกลับมามีชีวิตปกติ อยากกลับมาสร้างรายได้ทางด้านการท่องเที่ยวแค่ไหนก็ตาม

ด้าน อลิสา พันธุศักดิ์’ เจ้าของทิฟฟานี โชว์ พัทยา มองว่า ที่ผ่านมาบุคลากรท่องเที่ยวไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือ “วัคซีนจะต้องเท่าเทียมและยุติธรรม” บุคลากรทางด้านการท่องเที่ยวมีต่างชาติมากมาย จำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนเช่นเดียวกันกับคนไทย เพราะอยู่ในประเทศไทย ทำงานให้กับคนไทย และเจ้าของกิจการก็จ่ายภาษีไปแล้วจำนวนมาก อีกประเด็นสำคัญคือ ‘การเยียวยา’ ในส่วนของทิฟฟานีโชว์ พนักงานไม่ได้รับการเยียวยาจากประกันสังคม เพราะจดทะเบียนเป็น ‘โรงมหรสพ-โรงละคร’ ทั้งที่ตอนเปิดทำการจ่ายภาษีเดือนละเฉียดล้าน
“เราจึงต้องอุทธรณ์เพื่อให้ลูกน้องเราได้รับความเป็นธรรม อยากชวนให้ทุกคนออกมาสู้ มาส่งเสียงเพื่อลูกน้องของตัวเอง ทำไมเราไม่ได้รับการเยียวยา? ทั้งที่รัฐบาลบอกจะให้เงินเยียวยา แต่เอาเข้าจริงเราต้องไปเรียกร้อง อีกเรื่องคือการ “เยียวยาต่อเนื่อง” เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวต้องรักษาคุณภาพของพนักงานและสถานที่ แต่ตอนนี้ไม่ได้รับการดูแลตรงนี้ โดยปีที่ผ่านมาทิฟฟานี่โชว์ไม่ได้เสียภาษี เพราะไม่มีรายได้ ซึ่งปีนี้ไม่ใช่แค่ทิฟฟานี่โชว์ แต่ทุกคนก็จะยิ่งไม่มีรายได้ รัฐก็จะเก็บภาษีได้น้อยลงไปด้วย “เราจะเจอวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ ในขณะที่ SME ทางด้านท่องเที่ยวตายไปหมดแล้ว โดยไม่รับการเยียวยา” อลิสา กล่าวย้ำ

เสียงจากเชียงใหม่
ขอความจริงใจจากรัฐบาล
เกษมสันต์ ยศรุ่งโรจน์ เจ้าของโรงแรมน้ำเพียงดิน บูติก โฮเทล เชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องที่อยากฝากถึงรัฐบาล หนึ่ง ต้องมีความจริงใจทั้งกับเรื่องวัคซีนหรือการเยียวยาผู้ประกอบการโรงแรม ไม่ใช่ทำเป็นแค่หนังสือราชการมา
แจ้งหน่วยงาน ให้โรงแรมให้ความร่วมมือ”น้ำเพียงดิน บูทิค โฮเทล เชียงใหม่ ได้รับผลกระทบเรื่องเงินทุน ไปขอกู้จากธนาคารใดก็ไม่ได้ แม้จะเสียเงินค่าประเมินไปแล้วก็ตาม ผู้ประกอบการอย่างตนต้องควักทุนไปกว่า 10 ล้านบาทแล้ว เพื่อประคองการจ้างงานและพนักงานจำนวน 19 คนเอาไว้ เพราะทำงานร่วมกันมานานกว่า 8 ปี
“ ผมอยากให้รัฐบาลดูปัญหาจริงๆ ว่าคุณมีความจริงใจขนาดไหน เรื่องวัคซีนพนักงานผมลงไปแต่แรกก็ไม่ได้ฉีดสักคนเลย แล้วใช้ระเบียบการทำเป็นหนังสือแจ้งมาตลอด อันนี้ผมว่ามันแก้ปัญหาไม่ได้หรอกครับ ถ้าคุณไม่ได้เยียวยาผู้ประกอบการและช่วยเหลืออย่างจริงใจ ขออย่างเดียวรัฐบาลมีความจริงใจเท่านั้นแหละครับ ประชาชนทุกคนได้รับผลประโยชน์หมดแหละครับ ” เกษมสันต์ กล่าว

เสียงจากท่องเที่ยวชุมชน
ย้ำท่องเที่ยวชุมชนต้องรอด
ดร.ชนิสรา ดาอ่อน ประธานเครือข่ายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากชุมชน เผยว่า หลัง COVID-19 บริบทการท่องเที่ยวใหม่จะแตกต่างจากเดิม COVID-19 ไม่เลือกติดคนสูงต่ำแพงถูก ตอนนี้ท่องเที่ยวชุมชนเป็นโอกาสแห่งความทัดเทียม จึงอยากจะบอกกับแกนนำท่องเที่ยวชุมชนทั่วประเทศว่า ความคิดสร้างสรรค์กับต้นทุนทางปัญญาจะช่วยเราในการวางแผนล่วงหน้าสู่ความหวังของการเปิดประเทศในอีก 120 วัน จากการสอบถามไปทางเครือข่ายของเราในภูมิภาคยุโรปและอื่นๆ ยืนยันได้ว่า ด้านการท่องเที่ยวชุมชนและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ท่องเที่ยวชุมชนประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ที่นักท่องเที่ยวรอที่จะกลับเข้ามาสัมผัสมนต์เสน่ห์

“ดังนั้น เราต้องให้โอกาสตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ช่วยให้เสียงชุมชนเป็นจริงขึ้นมา สร้างความเข้มแข็งขึ้น สร้างความภาคภูมิใจขึ้น ไม่ยอมแพ้ ลุกขึ้นมาสื่อสารนำเอาสินค้าและบริการออนไลน์ของชุมชนขึ้นไปเสนอผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างไร้ขีดจำกัดสู่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่เรื่องของการแข่งขัน แต่คนเข้มแข็งเท่านั้นที่จะอยู่รอด” ดร.ชนิสรา กล่าว

เสียงจากอยุธยาย้ำชุมชนรอด
ประเทศไทยก็รอด
มยุรี ศรีนาค ตัวแทนจากท่องเที่ยวชุมชน อำเภอไทรน้อย อยุธยา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวชุมชนโดดเด่น ก็เล่าว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการกว่า 600-700 คนในเครือข่ายนิ่งและซบเซาจาก COVID-19 ต้องอาศัยทำตลาดออนไลน์เพื่อเลี้ยงชีพ ที่ผ่านมาท่องเที่ยวเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและในหลายๆ ชุมชนกลายเป็นรายได้หลัก จึงอยากให้มีการสนับสนุนฟื้นท่องเที่ยวชุมชน

ด้าน วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ตัวแทนตลาดหลวงปู่ทวด จังหวัดอยุธยา มองว่าจากตรงนี้ไปท่องเที่ยวชุมชนยังต้องได้รับการประชาสัมพันธ์อีกมาก อาจต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงยังต้องการแรงกระตุ้นจากภาครัฐในการกระตุ้นการท่องเที่ยวใน “16 อำเภอทั่วอยุธยา” และให้ด่านหน้าทางด้านการท่องเที่ยวได้รับวัคซีนก่อน เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวในประเทศที่น่าจะฟื้นตัวแรกๆ มีความพร้อมต่อการรองรับนักท่องเที่ยว

เสียงจากอินฟลูเอนเซอร์ท่องเที่ยว
Miss Tourism พร้อมช่วยสื่อสาร

เบญจา กัลยาวินัย ตัวแทนจาก ‘Miss Tourism’ ยืนยันว่าในฐานะตัวแทนผู้ถือลิขสิทธิ์ของ Miss Tourism ในประเทศไทย จะไม่รอคอยให้ COVID- 19 หายไป แต่เราพร้อมแล้วที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวบนโลกออนไลน์ โดยจะเดินหน้าใช้อินฟลูเอนเซอร์และช่องทางออนไลน์ที่มีอยู่ในมือสื่อสาร กระจายเสียง ปัญหา ความต้องการด้านการช่วยเหลือ โดยปัจจุบันมีช่องทางสื่อสารมากกว่า 77 เพจครบทุกจังหวัด รวมถึงมีน้องๆ ทูตการท่องเที่ยวที่ทำงานออนไลน์เป็นและอยากที่จะช่วยเหลือชุมชน ทุกคนสามารถเข้าไปในเพจได้และให้น้องๆ ช่วยทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอหมด COVID-19 แต่อย่างใด

เสียงท่องเที่ยวอื่นๆ
ขอความชัดเจน – ตรงไปตรงมาจากรัฐ


กนกชล ศรศิลป์ ตัวแทนพนักงานจากโรงแรมมณเฑียร เผยเสียงสะท้อนว่า สิ่งแรกที่อยากส่งเสียง คือ ‘วัคซีน’ อย่างที่สอง ขอชื่นชมคุณหมอบุญ วนาสิน จากโรงพยาบาลธนบุรีที่ออกมาพูดเพื่อการขยับตัวของรัฐบาลมากขึ้น เรื่องต่อมาคือ เพื่อสร้างความมั่นใจในการท่องเที่ยว อยากให้เริ่มจาก “เรื่องความชัดเจนในการสื่อสาร” ของรัฐบาล ไม่ใช่เช้าส่งเมสเสจหนึ่ง เย็นส่งเมสเสจหนึ่ง แค่อยากได้โร้ดแม็ปของการท่องเที่ยวที่ตรงไปตรงมา มีเหตุผลและจับต้องได้ และหากทำไม่ไหว ควรให้หาคนอื่นมาทำแทน

จาตุรนต์ สุวรรณรัตน์ จากสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สะท้อนสถานการณ์ต่างประเทศว่า ทั่วโลกกำลังเร่งผ่อนคลายนโยบายการท่องเที่ยวและเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้กลับมาอีกครั้ง โดยหลายประเทศเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจ COVID-19 ได้ด้วยตัวเองจากบ้าน เพื่อให้สามารถเดินหน้าผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น และเป็นเรื่องที่การท่องเที่ยวไทยควรตามให้ทัน
ส่วนการเปิด #PhuketSandbox ตอนนี้ถือว่าเป็นเรื่องดี เพื่อจำลองก่อนเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องบูมมากเกินไปจนกลายเป็นเป้าของประเทศคู่แข่ง เพียงแต่จำเป็นจะต้องเร่งสื่อสารให้ชัดเจนให้นักท่องเที่ยวเข้าใจถึง ‘เหตุผล’ ของมาตรการต่างๆ เหมือนกับที่สิงคโปร์สามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีและเริ่มทำข้อตกลงกับหลายประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งหมดนี้คือ #เสียงท่องเที่ยวไทย ที่อยากให้คนไทยทุกคน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้ยิน เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นคืนจากวิกฤต และกลับมาสดใสในเร็ววัน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save