ขยะพลาสติกในท้องทะเลหรือมหาสมุทรกำลังเป็นปัญหาระดับโลกเพราะได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ในท้องทะเลที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้นด้วยการกลืนกินพลาสติกเข้าไปและในที่สุดได้ย้อนกลับมากระทบต่อแหล่งอาหารที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งต่อการดำรงชีวิตของคนเรา แต่ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ท้องทะเลหรือมหาสมุทรทั่วโลกมีปริมาณกว่า 8-13 ล้านตันต่อปี ขณะที่ไทยซึ่งสร้างขยะรวม 27 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตัน และจำนวน 0.41 ล้านตันไหลลงสู่ทะเล ทำให้ไทยติดประเทศอันดับ 7 ของโลกที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุด
ปัญหาดังกล่าวทำให้รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy) ภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อใช้เป็นทางออกแก้วิกฤตขยะแบบยั่งยืน โดยยึดหลักการว่าด้วยเศรษฐกิจที่เน้นการใช้วัตถุดิบ ทรัพยากรและผลิตภัณฑ์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด และมีการสร้างของเสียที่ต่ำที่สุดหรือไม่มีเลยด้วยการนำกลับมาใช้ประโยชน์หมุนเวียน รวมทั้งกำหนดโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 เพื่อเป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ อาทิ ภายในปี 2562 เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ภายในปี 2570 นำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100%
การบริหารจัดการขยะพลาสติกไม่อาจอาศัยแค่ภาครัฐเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องดำเนินการแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทั้งกำลังคนและนวัตกรรมเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา โดยในส่วนของเทคโนโลยีนั้นภาคเอกชนของไทยมีการตื่นตัวในการพัฒนาอย่างมาก หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นและน่าจับตา คือ บริษัท ดาว (DOW) ผู้นำด้านวัสดุศาสตร์ระดับโลกซึ่งดำเนินธุรกิจในไทยมากว่า 50 ปี ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เพื่อการบริหารจัดการขยะแบบยั่งยืน ภายหลังจากที่ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศ ในการรีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นน้ำมันไพโรไลซิส (Pyrolysis Oil Feedstock) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นความร่วมมือของ ดาว และบริษัท ฟือนิกซ์ อีโคจี กรุ๊ป (Fuenix Ecogy Group) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นแนวทางการพัฒนาและต่อยอดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมรีไซเคิลของ ดาว ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นด้วยการนำไปใช้ผลิตพลาสติกชนิดหมุนเวียนใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการลดการใช้วัตถุดิบแบบดั้งเดิมและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก
นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ ดาว และเอสซีจี ยังได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ในการรีไซเคิลพลาสติกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณการรั่วไหลของพลาสติกไปสู่สิ่งแวดล้อม ด้วยการเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติก โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ของทั้งสองบริษัทฯ มาพัฒนาขยะพลาสติกให้มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มอัตราการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ภายในปี 2570 เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะลดจำนวนและช่วยป้องกันการหลุดรอดของขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน
ความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจรีไซเคิลที่ประกอบด้วย 1) เทคโนโลยีและกระบวนการด้านการรีไซเคิลเชิงกล (Mechanical Recycling) หรือการรีไซเคิลพลาสติกให้เป็นเม็ดพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ 2) การรีไซเคิลพลาสติกกลับเป็นวัตถุดิบ (Feedstock Recycling) หรือการนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการเพื่อกลับไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ (virgin polymers) และ 3) การนำวัตถุดิบหมุนเวียนมาผลิตพลาสติก (Renewable Feedstock) คือการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพเป็นวัตถุดิบตั้งต้นทดแทนผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
“เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นอีกหนึ่งหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยดาวจะนำองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ จากประสบการณ์ทั่วโลก มาพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกในประเทศไทย รวมถึงร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคมที่จะช่วยกันนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ด้วยเทคโนโลยีในการบริหารจัดการขยะ และ การรีไซเคิล ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการและตลาดใหม่ ๆ ให้กับขยะพลาสติกเหล่านั้น” นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าว
ก่อนหน้านี้ ดาว และเอสซีจี สองพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศไทย ได้ร่วมกันสร้างถนนพลาสติก โดยเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นส่วนประกอบในการทำถนนยางมะตอย ซึ่งจากการวิจัยพบว่าการนำขยะพลาสติกมาเป็นส่วนผสมในการสร้างถนนนั้นจะช่วยให้ถนนมีความทนทานขึ้นกว่าเดิมได้ 15 –33%
ดาว ยังเป็นสมาชิกของ “Alliance to End Plastic Waste” (AEPW) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่ได้มีการเปิดตัวความร่วมมือดังกล่าวครั้งแรกในไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา โดย AEPW เป็นการรวมตัวของ 40 บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ประกอบการห่วงโซ่พลาสติกเพื่อระดมทุนกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ใน 5 ปี เพื่อสนับสนุนโครงการที่มีศักยภาพในการพัฒนาแนวทางจัดการพลาสติกหลังการใช้งาน มุ่งผลสำเร็จลดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน ทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจและสังคม ซึ่งภาคเอกชนมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นให้คนไทยทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันเร่งจัดการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป แน่นอนว่านวัตกรรมดี ๆ แม้จะมีส่วนต่อการเข้ามาช่วยบริหารจัดการขยะพลาสติกของไทยที่กำลังเป็นปัญหาหนักขึ้นทุกวันได้ แต่การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนแก่สังคม เพื่อให้คนเราสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้จริงก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงปัญหาขยะร่วมกัน แล้วลงมือคัดแยกขยะ แปลงขยะให้เป็นทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบที่มีคุณค่าอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งบางส่วนจำเป็นต้องอาศัยนโยบายของภาครัฐและกฎหมายเข้ามาเพื่อเร่งรัดการจัดการให้เกิดประสิทธิผลเร็วขึ้นต่อไป