ยุคหลัง COVID-19 คนไทยเริ่มเห็นคุณค่าภาคเกษตรกรรมมากขึ้น เกษตรกรรมอาจกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายของเศรษฐกิจไทย ในฐานะสำมัญชนคนเดินดิน ขอขอบคุณและยกย่องความคิดการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ (แปลงเล็กๆ มารวมกัน) ด้วยการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักร อุปกรณ์เพื่อให้ไทยสู่เกษตรแม่นยำ และจะลืมไม่ได้ก็คือโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะมีการปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์กว่า 200,000 ไร่ จะช่วยอีสานเขียวให้เห็นทันตา และแน่นอนที่สุดก็คือ โครงการดีๆ ใหญ่ๆ ระดับนี้ คงต้องพึ่งพาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและแนวคิดเชิงนวัตกรรม จึงขอเจาะลึก Drone อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle) และขอขอบคุณ คุณปภังกร โชคทวีชัยเจริญ www.sb1andseenbo.com ที่อนุเคราะห์ข้อมูลและภาพถ่ายมาลงใน Green Network ฉบับนี้
ใครคือผู้ประดิษฐ์ Drone คนแรกของโลก
สำหรับ Drone อาจมีข้อมูลไม่ชัดเจนเหมือนสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ของโลก เนื่องจากมีการริเริ่มและพัฒนามาโดยตลอดในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อเนื่องมาถึงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 คือในราว ค.ศ. 1920 วิศวกรชาวฝรั่งเศสได้เริ่มผลิตอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งมีรูปทรงคล้ายเครื่องบินขนาดเล็กแต่ไม่มีคนขับ ต่อมาราวปี ค.ศ. 1939 สหรัฐอเมริกาก็ได้นำแนวคิดของ Drone มาต่อยอดใช้ในสงคราม Drone สามารถบินได้อย่างจริงจังราว ค.ศ. 1955 Drone ได้ผลิตมาสำหรับใช้ถ่ายภาพและสำรวจโดยนักศึกษาชาวจีนจากมณฑลหางโจว ที่ไปศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ฮ่องกง ได้ต่อยอดเทคโนโลยี Drone เพื่อใช้งานด้านการถ่ายภาพ จนถึงปัจจุบันสามารถถ่ายภาพนิ่งได้ถึง 20 MB และ VDO ระดับ 4k ในราคาไม่กี่หมื่นบาทต่อเครื่อง
เทคโนโลยีอัจฉริยะของ Drone
ท่านอาจกำลังจะชินกับการที่หุ่นยนต์ทำงานหนักๆ และอันตรายแทนคนในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า ปลอดภัยกว่าต้นทุนต่ำกว่า … แต่ Drone ไม่ใช่แค่นั้น Drone คือหุ่นยนต์ที่เหาะเหินเดินอากาศได้ ทำงานแทนคนและทำงานที่คนอย่างเราๆ ทำไม่ได้อีกด้วย บางท่านคิดว่ามี Internet มีโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถบังคับการทำงานของ Drone ได้แล้ว แท้ที่จริงจะมี Internet หรือไม่ Drone ก็บินได้ เนื่องจากเจ้าหุ่นยนต์บินได้ตัวนี้มีจานดาวเทียมเล็กๆ ฝังอยู่ สามารถเชื่อมโยงกับระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก GPS (Global Position System) และมีกล่องบังคับการบิน Flight Controller/Quadrocopter โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ Drone
ปัจจุบันยังมีหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องไม่มากนัก แต่หาก Drone ได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย ก็จะมีหน่วยงานเสนอตัวเข้ามาดูแลมากมาย และจะไม่สามารถซื้อง่ายใช้คล่องเหมือนในปัจจุบันอีกต่อไป สำหรับ Drone เพื่อการเกษตรที่ผลิตในประเทศ โดยนำเข้าชิ้นส่วนหลักๆ ผู้ผลิตต้องจดแจ้งจำนวนและชนิด พร้อม Serial No. ไว้ให้กับ กสทช. ซึ่งไม่ต่างกับการผลิตประกอบรถยนต์ในปัจจุบัน สำหรับผู้ใช้งำนต้องขออนุญาตเป็นผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินกับกรมการบินพลเรือน ซึ่งโดยปกติผู้ขาย Drone จะเป็นผู้ดำเนินการให้ เท่านี้ก็นำ Drone ไปใช้งานในภาคเกษตรได้แล้ว แต่สำหรับผู้อยากจะมีสิทธิ์ใช้งานมากกว่านี้ก็ต้องไปสอบใบขับขี่เหมือนรถยนต์ คือต้องไปฝึกอบรมและเรียนรู้กฎระเบียบอีกมากมาย เนื่องจาก Drone คือหุ่นยนต์ที่มีคุณอนันต์และโทษมหันต์ โดยการไปสอบที่ สทม. : สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
ส่วนประกอบ Drone เพื่อการเกษตรวิถีใหม่
ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหุ่นยนต์เหินฟ้าทรงสี่เหลี่ยมที่ผันตัวจากเพชฌฆาตเวหามาสู่เกษตรวิถีใหม่ ที่มีความอัจฉริยะสารพัดอย่างที่มนุษย์ทำไม่ได้ ทันทีที่ท่านเปิดสวิตช์สัญญาณ GPS จะแสดงผลให้ทาง กสทช. ทราบทันที ส่วนประกอบสำคัญมีดังนี้
- ตัวเฟรม รูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายเครื่องดับเพลิงแบบหาบหาม น้ำหนักเบา ยกเคลื่อนย้ายได้ด้วยคนเพียงคนเดียว มีแขนพับได้เพื่อติดตั้งใบพัด พร้อมมอเตอร์ไฟฟ้า มีจำนวนใบพัด 4 ใบ 6 ใบ และ 8 ใบ ตามขนาดของถังน้ำที่ต้องการ
- Flight Controller เป็นเหมือนมันสมองควบคุมการบินและการทำงานได้อย่างอัจฉริยะ
- Remote Control พร้อม Application
- แบตเตอรี่แบบ Lithium Polymer ซึ่งมีอัตราการจ่ายกระแสสูง เหมาะกับงานหนักๆ อาจจะราคาสูงแต่ใช้งานได้ยาวนานไม่เสื่อมตามกาลเวลา น้ำหนักเบา ไม่ต้องกระตุ้นก่อนใช้
- ชุดถังและปั๊มน้ำ มีขนาดตั้งแต่ 10 ลิตร 16 ลิตร และ20 ลิตร ตามความต้องการ
ประสิทธิภาพการทำงาน
ยุคเกษตรวิถีใหม่หรือเกษตรแม่นยำ Drone อาจจะกลายมาเป็นของใช้จำเป็นของเกษตรกรถัดจากรถไถ รถพิกอัป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรอินทรีย์ด้วยแล้ว ขาด Drone ไม่ได้ Drone เพื่อเกษตรกรรมถูกจำกัดทั้งความสูงและน้ำหนักบรรทุก รวมทั้งระยะเวลาการบิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรม
ขนาดที่นิยมใช้และราคาเพียงแสนต้นๆ ก็คือขนาดบรรทุกน้ำ/น้ำยาได้ 10 ลิตร 4 ใบพัด น้ำหนักขึ้นบิน 22 กิโลกรัม ความกว้างของการละออง 6-8 เมตร การขึ้นบินแต่ละครั้งได้พื้นที่ 5 ไร่ ใช้เวลาประมาณ 15 นาที เฉลี่ยประสิทธิภาพการทำงาน 100-150 ไร่/วัน การทำงานของ Drone สามารถพ่นปุ๋ย พืชสารเคมีได้ทั่วถึงกว่าการใช้คน และช่วยให้คนทำงานปลอดภัยจากสารพิษ อีกทั้งมีประสิทธิภาพการทำงานสูงกว่าการใช้คนทำงานกว่า 10 เท่าตัว หากท่านยังไม่มี Drone ปัจจุบันมีบริษัทที่รับจ้างฉีดพ่นในราคาเพียงไร่ละ 60 บาท ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว มีคำถามในใจมากมาย ลองติดต่อสอบถามไปที่ FACEBOOK : โดรนเพื่อการเกษตร sb1 หรือ LINE ID : sb1drone
Drone เพื่อความมั่นคง เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว ฯลฯ
ถ้ากล่าวถึงความมั่นคงแล้ว Drone คือยุทธภัณฑ์จำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเกือบทุกประเทศจะมี Drone ประจำการในกองทัพ ซึ่งมีประสิทธิภาพการทำงานสูง ทั้งด้านการสื่อสาร สอดแนม และทำลาย สำหรับ Drone เพื่อการเกษตร ในอนาคตราคาจะต่ำลงและใช้ง่ายขึ้น และกลายเป็นเสมือนรถจักรยานยนต์ที่เกษตรกรใช้กันอย่างแพร่หลาย สำหรับการท่องเที่ยว หลังยุค COVID-19 คาดว่าจะมีการใช้ Drone กันมากขึ้น นอกจากช่วยถ่ายภาพมุมสูงแล้ว นักเที่ยวยังสามารถดูภาพ Bird Eye View ตามที่โฆษณา หรือดูมุมต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าไปถึง ในอนาคตอาจจะมี 1 Drone ต่อ 1 แหล่งท่องเที่ยวก็ได้
Drone อากาศยานไร้คนขับตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ยุคไอที ด้วยราคาที่จับต้องได้ แอปพลิเคชันที่แสนสะดวก Drone ไม่ใช่แค่ผู้ช่วยที่แสนดี แต่ Drone จะสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างกลุ่ม Startup มาต่อยอดการใช้งานให้กว้างขึ้น สำหรับภารกิจเกษตรแปลงใหญ่ของ Drone รวมถึงการปลูกพืชพลังงานอย่างเนเปียร์ ซึ่งเป็นแปลงเล็กๆ มารวมกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่นั้น จะเป็นเพียงบททดสอบประสิทธิภาพของ Drone เบื้องต้น อนาคตของ Drone จะแทรกเข้าไปสู่วิถีชีวิตและความเป็นอยู่วิถีใหม่ของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 100 กรกฎาคม-สิงหาคม 2563 คอลัมน์ Energy โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข