วันนี้ ผมใคร่ขอนำเสนอเกี่ยวกับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่กำลังเป็นที่สนใจและเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมในหลายประเด็น เช่น จะต้องใช้เวลาอีกนานเพียงไรยานยนต์ไฟฟ้าจึงมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย และจะมีผลกระทบกับประเทศและประชาชนทั่วไปอย่างไร และเราควรมีการเตรียมการอย่างไรเพื่อรับมือกับแนวโน้มดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบและก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศมากที่สุดในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจและพิจารณาประเด็นต่างๆ ข้างต้นได้ดีขึ้น ผมขอนำข้อมูลสถานการณ์การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในโลก และตัวอย่างที่เกิดในบางประเทศ มานำเสนอเพื่อประกอบความเข้าใจและสรุปผลกระทบและความเห็นต่อการเตรียมการในอนาคต
ข้อมูลจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ รายงานว่า สิ้นปี ค.ศ. 2018 ทั่วโลกมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภท 2 ล้อแล้ว 260 ล้านคัน และรถบัส 460,000 คัน ในขณะที่รถบรรทุกขนาดเล็กและขนาดกลางยังมีการใช้ไม่มาก ที่น่าสนใจมากกว่าคือ รถยนต์ที่เราใช้ในการเดินทางไปทำงานและประกอบธุรกิจต่างๆ ทั่วไป เริ่มมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแทนที่บ้างแล้วทั้งที่ใช้ มอเตอร์ในการขับเคลื่อนอย่างเดียว ที่เรียกว่า BEV (Battery Electric Vehicle) และที่ใช้ระบบขับเคลื่อนผสม ทั้งจากเครื่องยนต์สันดาปภายในและมอเตอร์รวมกัน ที่เรียกว่า PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงที่เรียกว่า FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) ซึ่งถึงแม้จะมีการใช้น้อยมาก แต่ก็นับรวมอยู่ด้วย
โดยสิ้นปี ค.ศ. 2018 ทั่วโลกมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 5.1 ล้านคัน ถึงแม้จะยังไม่มากและมีผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการใช้รถยนต์รวมทั่วโลกระดับพันล้านคัน แต่เมื่อพิจารณาอัตราการเจริญเติบโตจะเห็นได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว โดยปี ค.ศ. 2018 ปริมาณรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 63 จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 57 และร้อยละ 60 ในปี ค.ศ. 2017 และ 2016 ตามลำดับ เฉพาะปี ค.ศ. 2018 ปีเดียว มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายถึง 2 ล้านคัน จีนเป็นประเทศที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด ร้อยละ 45 ของปริมาณการใช้ทั่วโลก หรือ 2.3 ล้านคัน รองลงมาเป็นประเทศกลุ่มประชาคมยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 24 หรือ 1.2 ล้านคัน และร้อยละ 22 หรือ 1.1 ล้านคัน ตามลำดับ ดังแสดงตามภาพประกอบ
สำหรับประเทศที่มีร้อยละของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเทียบกับปริมาณการใช้รถยนต์รวมในแต่ละประเทศ ประเทศนอร์เวย์เป็นผู้นำ
โดยมีปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้รถยนต์ทั้งประเทศ รองลงมาเป็นประเทศไอซ์แลนด์ (ร้อยละ 3.3) และประเทศเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 1.9)
ปัญหาอุปสรรคที่มีผลกระทบกับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้า คือ ต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ราคาขายของรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อไม่รวมมาตรการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐจะสูงกว่ารถยนต์สันดาปภายในในประเภทและขนาดเดียวกัน ประมาณร้อยละ 40 ทั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจากราคาแบตเตอรี่ยังสูงอยู่ (ต้นทุนการผลิต US$ 215/KWh ในสหรัฐฯ และราคาขาย US$ 260/KWh) แต่หากรวมค่าใช้จ่ายในการใช้รถด้วย ผลตอบแทนในการลงทุนของรถยนต์ไฟฟ้าจะดีขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงจะลดลง แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับราคาเชื้อเพลิง (น้ำมัน) และราคาไฟฟ้าในประเทศนั้นๆ รวมทั้งสภาพการใช้งานรถด้วย สำหรับค่าแบตเตอรี่คิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของต้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นการขยายตัวของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ 2 ประการ คือ การสนับสนุนจากภาครัฐ และราคาแบตเตอรี่ที่ลดลง
สำหรับประเทศไทย มีการกำหนดเป้าหมายว่าจะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ในปี ค.ศ. 2036 แต่ไม่ชัดเจนว่า เป้าหมายดังกล่าวนับรวมยานยนต์ไฟฟ้าประเภทใดบ้าง และจะไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร ด้วยมาตรการสนับสนุนอะไรจากรัฐ ส่วนภาคเอกชนก็มีความตื่นตัวพอสมควร โดยมีการลงทุนผลิตลิเธียมแบตเตอรี่ในประเทศไทย การนำเข้า BEV จากประเทศจีนมาทดลองจำหน่าย การทดลองตลาดของ Nissan การนำ PHEV มาจำหน่ายของแบรนด์ใหญ่ๆ เช่น BMW และ Benz และการตั้งเป้าหมายการสร้างสถานีประจุแบตเตอรี่จากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการสาธิตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ในภาคการศึกษาหลายแห่ง
ค่อนข้างชัดเจนว่า การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าช่วยประหยัดการใช้พลังงาน ลดมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งปริมาณฝุ่น ก๊าซไฮโดรคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มขึ้นของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งหากไม่มีการเตรียมการที่ดีพอในการสร้างความต้องการ การพัฒนาเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมียุทธศาสตร์และขั้นตอนที่เหมาะสม ก็อาจส่งผลกระทบที่จากการสูญเสียตลาดของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีฐานรากจากเครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีมูลค่ามหาศาล
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 94 กรกฎาคม-สิงหาคม 2562 คอลัมน์ GREEN Article
โดย ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม