วันอนุรักษ์น้ำโลก (World Water Day 2019) Theme : Leaving No One Behind
น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจของมนุษย์ ถึงแม้ว่าน้ำจะเป็นทรัพยากรหมุนเวียน แต่ร้อยละ 97 ของปริมาณน้ำทั้งหมดเป็นน้ำทะเลที่นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ได้ไม่มากนัก จึงเหลือเพียงร้อยละ 3 ที่เป็นน้ำจืดและมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 เท่านั้นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม จากสัดส่วนน้ำที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ยังมีการปนเปื้อนของมลพิษที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ อาทิ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และน้ำเสียจากครัวเรือน ส่งผลให้สัดส่วนของน้ำที่สามารถ นำมาใช้ประโยชน์ได้มีปริมาณลดลงไปอีก โดยปัจจุบันประชากร 1 ใน 9 ของโลก ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคได้
ทั้งนี้ ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้ โดยการประหยัดน้ำและการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับสังคมไทยซึ่งมีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับน้ำมาอย่างยาวนาน และมักมีความเข้าใจกันว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ เพียงพอต่อการใช้ ประโยชน์ได้ตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยมีช่วงฤดูฝนเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น และมีแหล่งรวบรวมและกักเก็บน้ำได้ไม่ถึงร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมให้เพียงพอต่อความต้องการในอีก 9 เดือนที่ไม่มีฝนตก ตลอดจนตอบสนอง ความต้องการการใช้น้ำในภาพรวมของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและปริมาณฝนที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย
น้ำ คือ ชีวิต โครงการพระราชดำริในรัชกาลที่ 9
น้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ผ่านแนวทางที่เหมาะสม ได้แก่ การมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องและทันสมัย การสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มาพร้อมด้วยประสบการณ์ การสร้างพฤติกรรม พึงประสงค์ด้านน้ำ การมีส่วนร่วมและการสื่อสาร และการลงมือปฏิบัติจริง เป็นแนวทางสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุล และนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังปรากฏในองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที”
ปัจจัยสำคัญเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
การสร้างการมีส่วนร่วมและพฤติกรรมอันพึงประสงค์ในด้านการใช้น้ำ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญควบคู่ไปกับ การพัฒนาเทคโนโลยีและให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ วิธีการจัดการทรัพยากรน้ำ การสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์และแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการทรัพยากรน้ำจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประหยัดน้ำและการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ใกล้ตัวและทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ การจัดกิจกรรมที่สร้างเสริมความตระหนักถึงสถานการณ์ทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน และส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์แนวคิดในการประหยัดน้ำที่มีการผลักดันต่อยอดให้เกิดการปฏิบัติจริง จนสามารถต่อยอดขยายผลออกสู่วงกว้าง จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เกิดความยั่งยืน
นอกจากนี้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ของสังคมในวงกว้าง
โครงการ Envi Mission ความร่วมมือเพื่อไม่ทิ้งใครให้ “ขาดน้ำ” ไว้เบื้องหลัง
เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีความตระหนักในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และเป็นกำลังสำคัญในการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย บริษัท ส.นภา (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ในเครือ SN Group จึงร่วมกันจัด โครงการ “Envi Mission : Leave No One Behind” ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างรูปแบบกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการสร้าง ความตระหนัก เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยในโครงการ ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่
- การจัดกิจกรรม Boot Camp วัฒนธรรมรักษ์น้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้น ในการสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนและคนในชุมชนในรูปแบบของค่ายอบรมให้ความรู้ เพื่อสร้างพฤติกรรมพึงประสงค์ด้านการใช้น้ำ และต่อยอดแนวคิดของนักเรียนในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในท้องถิ่นจนไปสู่การทดลองในพื้นที่โรงเรียนและ/หรือชุมชนโดยรอบ เพื่อสร้างความตระหนักและการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง
- การพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา (Educational Board Game) เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ ความสัมพันธ์ระหว่าง ทรัพยากรน้ำในธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ ตลอดจนการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ การจัดการคุณภาพน้ำด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่สามารถสร้างความสนใจและและทำให้เกิดการจดจำเนื้อหาได้ง่าย
โดยกิจกรรมทั้ง 2 ส่วนจะดำเนินการควบคู่กันเพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมและผู้พัฒนาสื่อการเรียนรู้ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจและความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
กิจกรรม Boot Camp วัฒนธรรมรักษ์น้ำ มีอะไรในตอนนี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดของกิจกรรมส่วนที่ 1 : ค่าย Boot Camp วัฒนธรรมรักษ์น้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้น้องๆ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเป็นทีมละ 3 คน รวมกับอีก 2 คน (ที่อาจเป็นครู อาจารย์ หรือคนในชุมชน) ทั้งหมด 5 คนต่อทีม โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์ม การรับสมัครและตอบคำถามเพื่อทดสอบความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในประเทศ และแนวคิดโครงการที่จะส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความตระหนักและร่วมมือ กันประหยัดน้ำ โดยแนวคิดที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ในการต่อยอดจากผู้สมัคร ทั่วประเทศ 40 ทีม จะถูกคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม Boot Camp เพื่อพัฒนาแนวคิดของโครงการ ทั้งจากการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญ กิจกรรม Workshop : Design Thinking และการเรียนรู้ผ่านสื่อและวิธีการที่หลากหลาย อาทิ บอร์ดเกม เพื่อการศึกษา การแข่งขันตอบคำถามทางวิชาการ รวมไปถึงการให้คำแนะนำในการต่อยอดโครงการจากแนวคิดไปสู่การปฏิบัติจริง และการเสริมทักษะการนำเสนอผลงานอย่างมีประสิทธิภาพ
กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมนำความรู้และประสบการณ์ ที่ได้จากการอบรมไปขยายผลสู่การลงมือปฏิบัติจริง ณ โรงเรียนและชุมชนของตน ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างเครือข่ายการจัดการน้ำภายในชุมชนที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
ช่องทางในการติดตามข่าวสาร และสมัครเข้าร่วมโครงการนักเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ เว็บไซต์ของสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยำลัย CU Radio FM 101.5 MHz ในรายการ “พูดจาประสาช่าง” (http://www.curadio.chula.ac.th/Program.php?gc=eg) และเว็บไซต์ของคณะวิศวกรรมศำสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (https://www.eng.chula.ac.th/th/news) สำหรับผู้ที่สนใจสนับสนุนโครงการสามารถติดต่อได้ที่ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย FM 101.5 MHz (Chulalongkorn University Broadcasting Station) ที่อยู่ : อาคารวิทยพัฒนา ชั้น 7 จุฬาฯ ซอย 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 0-2218-3970 โทรสาร 0-2218-3321 และ 0-2219-2007 |
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 92 มีนาคม-เมษายน 2562 คอลัมน์ GREEN Article
โดย รศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล, ดร.พัชรียา รุ่งกิจวัฒนานุกูล, ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา