กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานเผยผลสำเร็จ 7 โครงการหนุนการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมประหยัดพลังงานได้กว่า 193 ล้านบาท/ปี เสริมความรู้ด้านพลังงานวิศวกรเพิ่มความเชี่ยวชาญตรวจสอบระบบไอน้ำให้ได้มาตรฐาน พร้อมขยายผลเพิ่มประสิทธิภาพยกระดับโรงงาน SMEs สู่ Factory 4.0 ตั้งเป้าลดการใช้พลังงาน 1,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี
ดร.สมชายหาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าความร่วมมือระหว่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐ ที่มีบทบาทหน้าที่สอดรับกันที่จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มพลังในการขับเคลื่อนงานของภาครัฐ กระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อว่าการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมในแนวทาง Factory 4.0 และ Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงาน จะสามารถนำพาให้อุตสาหกรรมไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและก่อให้เกิดการเติบโตอย่างสมดุล
โดยการขับเคลื่อนตามกรอบแนวทาง 4 แนวทาง ประกอบด้วย
- การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานด้านความร้อนโดยมุ่งเน้นไปยังหม้อน้ำหรือ Boiler ที่เป็นเครื่องจักรหลักและเป็นต้นกำลังของกระบวนการผลิตในโรงงาน ซึ่งปัจจุบันในภาคอุตสาหกรรมมีหม้อน้ำกว่า 15,000 เครื่อง และมีการใช้พลังงานมากถึงร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีผลกระทบโดยตรงทั้งในแง่ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และพลังงาน
- การขับเคลื่อน Factory 4.0 และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมโดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนโรงงานติดตั้งใช้งานระบบตรวจติดตามอัตโนมัติ (smart monitoring) ระบบควบคุมอัตโนมัติ (smart control) ระบบการวิเคราะห์และการพยากรณ์ข้อมูล (data analytic and prediction) เพื่อทำให้อุปกรณ์เครื่องจักร และกระบวนการผลิตมีความแม่นยำ มีเสถียรภาพทำให้เกิดความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานมากขึ้น
- สร้างระบบมาตรฐานการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy optimization)มุ่งเน้นการสร้างมาตรฐาน หลักเกณฑ์
การตรวจวัด การประเมินระบบและอุปกรณ์เครื่องจักรหลักที่มีผลกระทบด้านความปลอดภัยและพลังงานสูงเพื่อเป็นเครื่องมือของโรงงาน
และวิศวกร รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการกำกับดูแล
- การลดผลกระทบจากการส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดยมุ่งเน้นการจัดการอย่างเป็นระบบ และการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) จัดการกับอุปกรณ์ วัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากการประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทนที่อาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น solar cell และ lithium battery เป็นต้น
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยผลสำเร็จของการดำเนินโครงการเพื่อผลักดัน Factory 4.0 และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานให้กับโรงงาน โดยในปีงบประมาณ 2561 ได้ดำเนินงานทั้งสิ้น 7 โครงการ ภายใต้การสนับสนุนจากเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และบูรณาการทำงานร่วมกับ พพ. โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 97,527,290บาท (เก้าสิบเจ็ดล้านห้าแสนสองหมื่นเจ็ดพันสองร้อยเก้าสิบบาทถ้วน) โดยแบ่งเป็นแนวทางโครงการเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน ดังนี้
- แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานด้านความร้อน
- การขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำโดยวิศวกรด้านหม้อน้ำหรือวิศวกรพลังงาน
ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการวิศวกรหม้อน้ำและวิศวกรพลังงานมีความรู้ความเข้าใจในเกณฑ์มาตรฐานและขั้นตอนในการตรวจทดสอบหม้อน้ำด้านประสิทธิภาพพลังงานและด้านความปลอดภัย138 คน จำนวนหม้อน้ำได้มีการตรวจวัดเชิงลึก 62 เครื่อง จาก 50 โรงงาน และนำสู่การขยายผลการใช้เกณฑ์มาตรฐานและขั้นตอนการตรวจประเมินประสิทธิภาพระบบไอน้ำไปสู่วงกว้าง เกิดผลประหยัดพลังงาน12,117 toe/ปี ลดการปล่อยก๊าซ CO2รวม 83,188 ton CO2/ปี และคิดเป็นเงิน71,854,246บาท/ปี
- การเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล
ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการบุคลากรประจำโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมากมีความรู้ความเข้าใจในเกณฑ์มาตรฐานและขั้นตอนในการตรวจทดสอบหม้อน้ำด้านประสิทธิภาพพลังงานและด้านความปลอดภัย133 คน จาก 10 โรงงาน และมีการจัดทำคู่มือการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก เกิดผลประหยัดพลังงาน 16,059 toe/ปี ลดการปล่อยก๊าซ CO2รวม 123,978 ton CO2/ปี และคิดเป็นเงิน63,635,847 บาท/ปี
- การยกระดับประสิทธิภาพพลังงานหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนในภาคอุตสาหกรรม
ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการ บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้รับการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและความปลอดภัย จำนวน 105 คน จาก 40 โรงงาน และมีการจัดทำคู่มือสำหรับการขยายผลเพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานโดยการปรับแต่งการเผาไหม้ เกิดผลประหยัดพลังงาน 2,641 toe/ปี ลดการปล่อยก๊าซ CO2รวม 10,750 ton CO2/ปี และคิดเป็นเงิน 19,536,423 บาท/ปี
- การพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้ผู้อบรมสามารถเลือกใช้งาน ปรับแต่ง บำรุงรักษาควบคุมและดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในระบบการใช้พลังงานหลักด้านระบบหม้อน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 300 คน จาก 54 โรงงาน
เกิดผลประหยัดพลังงาน4,334 toe/ปี ลดการปล่อยก๊าซ CO2รวม 37,706 ton CO2/ปี และคิดเป็นเงิน20,864,527บาท/ปี
- แนวทางการขับเคลื่อน Factory 4.0 และเทคโนโลยีดิจิทัล
- การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมตามแนวทาง Factory 4.0ผ่านการใช้ระบบ Smart Boiler Monitoring System พร้อมสาธิตการติดตั้ง Economizer และ Air preheater โดยนำร่องในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มต้นแบบ จำนวน1 แห่ง บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มได้รับรู้และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี371 คน
เกิดผลประหยัดพลังงาน1,699 toe/ปี ลดการปล่อยก๊าซ CO2รวม 11,122 ton CO2/ปี และคิดเป็นเงิน4,747,404 บาท/ปี
- แนวทางการสร้างระบบมาตรฐานการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน
- การใช้กลไกการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)
ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการมีตัวแทนโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมในการแสดงข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว จำนวนกว่า 1,135 คน โดยแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมมีผลลัพธ์ที่ได้ คือ 1) การใช้ระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการขอรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว 2) การกำหนดหลักปฏิบัติของการขอรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวที่เหมาะสม 3) การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่จูงใจ และ 4) ผลของการเข้าให้คำปรึกษาในการดำเนินมาตรการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จำนวน 21 แห่ง
เกิดผลประหยัดพลังงาน316 toe/ปี ลดการปล่อยก๊าซ CO2รวม 1,852 ton CO2/ปี และคิดเป็นเงิน12,665,170บาท/ปี
- มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม (Factory Energy Code)
ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการได้ (ร่าง) มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม (Factory Energy Code, FEC) ของเครื่องจักร
8 กลุ่ม ประกอบด้วย หม้อน้ำและหม้อต้มน้ำร้อน ระบบปรับอากาศ มอเตอร์ เครื่องอัดอากาศ ระบบส่งจ่ายอากาศอัด ฉนวนหุ้มระบบส่งจ่ายไอน้ำ ระบบส่งจ่ายไอน้ำ และ ระบบส่งจ่ายน้ำสรุปศักยภาพผลประหยัดพลังงาน จากการตรวจวัดในอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าเกณฑ์กำหนดอยู่ 22.16% และผลการดำเนินการแนะนำมาตรการประหยัดพลังงานจำนวนมาตรการที่เกิดขึ้น 39 มาตรการแบ่งเป็นมาตรการด้านไฟฟ้าจำนวน 33 มาตรการ และมาตรด้านความร้อนจำนวน 6 มาตรการ ศักยภาพในการอนุรักษ์พลังงานรวมทั้งสิ้น 1,486.09 toe/ปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 26,821,85.89 บาท/ปี
“ตามเป้าหมายของความร่วมมือฯ ในการดำเนินงาน 5 ปี ที่ตั้งเป้าเกิดผลประหยัดไม่น้อยกว่า 100 ktoeหรือประหยัดเงินได้ 1,000 ล้านบาท และจากผลการดำเนินการในปี 2561 เป็นที่น่าเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่าง กรอ. และ พพ. จะผลักดันในเกิดความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”นายทองชัยฯ กล่าว
การสัมมนาเผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการความร่วมมือระหว่าง กรอ. กับ พพ. ในการขับเคลื่อน และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคอุตสาหกรรมภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2561 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ณ ห้องมิราเคิลแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯได้รับเกียรติจาก ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ โดยมีนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน นายยงยุทธจันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมการบรรยายพิเศษ
หมายเหตุ: ผลการดำเนินงานทั้ง 7 โครงการ เกิดผลการประหยัดพลังงานรวมทุกโครงการ ดังนี้
- ประหยัดพลังงาน (ไฟฟ้าและเชื้อเพลิง) 37,166 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/ปี
- ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวม 268,596 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า/ปี
- คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้รวม 193,303,617 บาท/ปี
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 91 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 คอลัมน์ ENERGY Saving โดย Mr.Save