โรคข้อหัวไหล่ติด ปัจจุบันเป็นโรคฮิตและรู้จักดีกับผู้สูงอายุ อายุที่เกิน 45 ปีขึ้นไป มักพบว่ามีอาการผิดปกติของข้อหัวไหล่และก่อให้เกิดปัญหาเคลื่อนไหวข้อหรือเคลี่อนไหวแขนลำบาก มักมีอาการปวดตึง เคลื่อนไหวข้อไหล่ไม่คล่องตัวเหมือนเดิม
ก่อนที่จะลงรายละเอียดของโรคนี้ คงต้องกล่าวถึงโครงสร้างภายในข้อไหล่ให้เกิดความเข้าใจเป็นพื้นฐาน ข้อหัวไหล่ ประกอบจากกระดูก 3 ชิ้นมาประกบกันบริเวณไหล่ทั้งซ้ายและขวา เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของแขนทั้ง 2 ข้างอย่างมาก
โครงสร้างแรกคือ กระดูกไหปลาร้า ต่อมาคือ กระดูกสะบักที่อยู่ทางด้านหลังและกระดูกต้น แขนโครงสร้างกระดูก 3 ชิ้น ประกบกันเป็นข้อหัวไหล่
กระดูกต้นแขนจะเคลื่อนไหวอยู่ภายในเบ้าของกระดูกสะบักและกระดูกไหปลาร้า หัวกระดูกต้นแขนจะเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวและทิศทางการเคลื่อนไหวไปได้ทั่ว หลายทิศทาง เช่น กางแขน ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ แกว่งแขนไปข้างหน้าและข้างหลัง บิดแขนเข้าและบิดแขนออก หรือมือบิดไปด้านหลังในท่าแตะบั้นเอว และบิดไปด้านนอกในท่าแตะท้ายทอย และสุดท้ายมีท่าแกว่งแขนในลักษณะตามเข็มนาฬิกา หรือทวนเข็มนาฬิกา เป็นต้น
นอกจากกระดูกมาประกอบเป็นข้อต่อหัวไหล่ บริเวณรอยต่อมีเยื่อหุ้มและน้ำไขข้อกระดูกหล่อเลี้ยงให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้คล่องตัว ไม่ติดขัด มีกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่อยู่รอบ ๆ ข้อเพื่อความแข็งแรง มีเส้นเอ็นและพังผืดหุ้มให้กระชับ ดังนั้นข้อหัวไหล่มีความกระชับและแข็งแรงของร่างกาย ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างดังกล่าว ล้วนมีผลต่อการเคลื่อนไหวของข้อหัวไหล่และความแข็งแรงทั้งสิ้น มีตั้งแต่อาการเบาไปสู่อาการหนัก เช่น กล้ามเนื้อเมื่อยล้า ช้ำ ระบม บวม ห้อเลือด เป็นที่กล้ามเนื้อ มีเยื่อหุ้มข้ออักเสบหรือฉีกขาดจากอุบัติเหตุ หรือถูกทำร้ายร่างกาย เอ็นอักเสบ เอ็นฉีกขาด รวมไปถึงข้อหัวไหล่เคลื่อน ข้อหัวไหล่หลุด และรุนแรงที่สุดคือ กระดูกโครงสร้าง 3 ชิ้น กระดูกไหปลร้า กระดูกสะบัก และกระดูกต้นแขน ร้าวหรือหัก ทำให้ต้องใส่ที่คล้องแขน หรือใส่เฝือกแขน แล้วแต่กรณีความบาดเจ็บที่เกิดขึ้น
เมื่อมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยไม่ขยับแขน เมื่อปล่อยไว้นาน ๆ ตั้งแต่ 2 สัปดาห์เป็นต้นไป จะเกิดภาวะหัวไหล่ติด มีการหดตัวของกล้ามเนื้อ เอ็น เยื่อหุ้มข้อ บวม ช้ำ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้คล่อง ผู้ป่วยจะไม่ขยับแขนเลย พอเลย 2 สัปดาห์เป็นต้นไป จะมีพังผืดมาเกาะรอบ ๆ ข้อ ช่องว่างภายในข้อจะแคบลง การเคลื่อนไหวลำบากมากขึ้น และเลย 4 สัปดาห์ไปแล้วจะเริ่มมีแคลเซียมหรือหินปูนมาเกาะรอบ ๆ ข้อ หัวไหล่จะเคลื่อนไหวยากขึ้น จนเกิดการติดของข้อหัวไหล่โดยสมบูรณ์ จึงเรียกว่า โรคข้อหัวไหล่ติด
การรักษา หากรุนแรงและเป็นมาก อาจต้องทำการผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างรอบ ๆ ข้อไหล่ หากยังพอจะรักษาด้วยยาได้ ต้องรับประทานยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันมิให้เอ็นติดมากขึ้น และแก้ไขฟื้นฟูให้ข้อไหล่กลับสู่สภาพปกติ หรือ ใกล้เคียงปกติ เพื่อมิให้ข้อหัวไหล่สูญเสียการเคลื่อนไหวปกติไป ทำให้เกิดภาวะข้อหัวไหนติด กล้ามเนื้อแขนลีบเล็กลง เกิดความพิการข้อแขนได้
การป้องกัน หมั่นออกกำลังกายและเคลื่อนไหวแขนตามปกติให้ครบทุกท่าการเคลื่อนไหว หากมีการผิดปกติยังต้องพยายามขยับแขนและเคลื่อนไหวข้อหัวไหล่เท่าที่จะทำได้ เพื่อการฟื้นตัวข้อหัวไหล่ จะได้ไม่ติดขัด กล้ามเนื้อไม่ลีบ ระมัดระวังการบาดเจ็บจาการออกกำลังกายหรืออุบัติเหตุที่กระทบกับหัวไหล่ ท่านจะห่างไกลจากข้อหัวไหล่ติดได้