มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ GC เพื่อสนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBSTM ผลิตเป็นแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และหลอดไบโอพลาสติก ตามนโยบาย Be Smart Be Green ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง Circular Economy ของ GC เพื่อโลกที่ยั่งยืน
อาจารย์ปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่ามหาวิทยาลัยศิลปากร ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จับมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในการสนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBSTM ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ โดยพัฒนาเป็นแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และหลอดไบโอพลาสติก ภายใต้นโยบาย Be Smart Be Green ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของประชาคมทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัย ดังม็อตโต All We Can Doโดยหลอดไบโอพลาสติกเป็นผลงานการวิจัยของคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
นายปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ GC ให้ความสำคัญและตระหนักในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม GC ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมและการดำเนินธุรกิจของ GC มาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม การร่วมลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการผลิตและการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBSTM ในโครงการ Be Smart Be Green การใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย GC ให้การสนับสนุนเม็ดพลาสติก BioPBSTM ในการผลิตแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และหลอดไบโอพลาสติก ให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลพลาสติกแบบย่อยสลายได้ และความร่วมมือส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงการใช้และการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อสร้างจิตสำนึกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน”
ที่ผ่านมา GC ได้ร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม Zero-Waste Cup ซึ่งผลิตจากกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ BioPBSTM ที่สามารถย่อยสลายในสภาวะปุ๋ยหมักภายใน 180 วัน และร่วมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวจุฬาฯ และชุมชนรอบข้างเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะพลาสติก โดยเริ่มจากการคัดแยก การจัดเก็บ การรีไซเคิล และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนโดย GC มีเป้าหมายที่จะร่วมมือและสนับสนุนมหาวิทยาลัยและองค์กรการศึกษาต่างๆ ในการใช้พลาสติกให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ เพื่อนิสิตนักศึกษาได้เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ในการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันอย่างถูกต้องและรักษ์โลกเพื่อคงไว้ซึ่งการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตและสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBSTMและเพื่อยกระดับบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายในประเทศให้ทัดเทียมผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขยะในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานรวมถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนต่อไป