GPSC เผยรายได้ไตรมาส 3 ปี’64 โต 8% หนุนกำไร 9 เดือนแรกยังแกร่ง


GPSC แจงผลประกอบการไตรมาส 3 ปีพ.ศ.2564 มีรายได้ 17,997 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิลดลง 27% จากผลกระทบต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิ 9 เดือนแรก ของบริษัทฯยังคงเติบโต 2% อยู่ที่ 6,150 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแนวโน้มไตรมาส 4 ดีมานด์ไฟฟ้าและไอน้ำของลูกค้าอุตสาหกรรมยังคงแข็งแกร่งจากทิศทางเศรษฐกิจที่ตอบรับการเปิดประเทศเพื่อรองรับเทศกาลส่งท้ายปี

วรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ผู้นำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีพ.ศ2564 ว่า บริษัทฯมีรายได้ทั้งสิ้น 17,997 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ทั้งสิ้น 16,601 ล้านบาท

ปัจจัยหลักมาจากปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แม้ว่าโรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน ระยะที่ 5 หยุดเดินเครื่องนอกแผนงาน ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่การหยุดเดินเครื่องดังกล่าวไม่กระทบต่อการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมของบริษัทฯ เนื่องจากสามารถส่งมอบไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายของกลุ่มบริษัท เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 2ปีพ.ศ.2564 มีรายได้ลดลงเล็กน้อย 1% ขณะที่กำไรสุทธิของบริษัทฯ ในไตรมาส 3 ปีพ.ศ.2564 มีทั้งสิ้น 1,875 ล้านบาท ลดลง 699 ล้านบาท หรือลดลง 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 427 ล้านบาท หรือลดลง 19% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีพ.ศ.2564 สาเหตุมาจากกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามกลไกราคาตลาดโลก

นอกจากนี้ บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ในส่วนกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากโรงไฟฟ้าเก็คโค่วันได้มีการหยุดเดินเครื่องนอกแผนงาน จำนวน 28 วัน โดยปัจจุบันสามารถกลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติแล้ว

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีการรับรู้มูลค่า Synergy ร่วมกับ GLOW จากการควบรวมกิจการสุทธิหลังภาษี จำนวน 432 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการผลิตและใช้โครงการข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน รวมถึงการบริหารเชิงพาณิชย์ด้านต้นทุน การผลิตและการขยายฐานลูกค้า นอกจากนี้ ยังมีส่วนการบริหารด้านการจัดซื้อและงานซ่อมบำรุงรักษาร่วมกัน นับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับ GPSC อย่างต่อเนื่อง

“แม้ว่าปีพ.ศ.2564 ประเทศไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังรักษาและพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำของกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ด้วยมาตรการเข้มข้นสูงสุดในการป้องกันและการบริหารจัดการ ผ่านศูนย์เฝ้าระวังและติดตามการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส (GPSC G-COVID Center) และกำหนดพื้นที่ควบคุมพิเศษ พร้อมตั้งทีมปฏิบัติการเฉพาะกิจของแต่ละโรงไฟฟ้า ห้ามบุคคลภายนอกเข้าพื้นที่สำนักงาน และพื้นที่ปฏิบัติการอย่างเข้มงวด ส่งผลให้การดำเนินการผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูโภคของบริษัทเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพและความมั่นคง ซึ่งสามารถรองรับกับความต้องการใช้พลังงานของประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น” วรวัฒน์ กล่าว

สำหรับการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวของไทยและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับภาคการผลิตจะเร่งส่งมอบสินค้าเพื่อรองรับช่วงเทศกาลในปลายปี มีแนวโน้มที่ความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำจะสูงขึ้นในไตรมาส 4 อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามต้นทุนด้านพลังงานที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นประกอบด้วย

ในระยะยาว บริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่สอดรับกับแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดในการลดภาวะโลกร้อน โดย GPSC มีเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมพลังงานเพื่อความยั่งยืน 1 ใน 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีสัดส่วนของพลังงานสะอาดมากกว่า 50% ผ่าน 4 กลยุทธ์หลักหรือ 4S ประกอบด้วย S1: Strengthen and Expand the Core S2: Scale–up Green Energy S3: S-Curve & Batteries และ S4: Shift to Customer–centric Solutions

ล่าสุดบริษัทฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) บริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100% ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) (TGO) และบริษัท นีโอคลีน เอ็นเนอยี่ จำกัด (NEO) เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ Solar Orchestra ที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน Solar Rooftop และขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือโครงการ T-VER และการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ โดยตั้งเป้าหมายการติดตั้ง Solar Rooftop กว่า 100 เมกกะวัตต์ ในรูปแบบของสัญญาผู้รับเหมาออกแบบและก่อสร้าง (EPC) ให้แก่ลูกค้า ภายในสิ้นปีพ.ศ.2565


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save