IoT ปลดล็อกการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ


Internet of Things หรือ IoT คือ เทคโนโลยีชนิดหนึ่งที่ใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ บนเครือข่ายออนไลน์ เช่น ไวไฟ บลูทูธ หรือเครือข่ายอื่นๆ โดยที่อุปกรณ์เชื่อมต่อจะเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งหากทุกสิ่งถูกเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ต จะส่งผลดีต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากเทคโนโลยีทุกชิ้นสามารถติดต่อสื่อสารกันเอง เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วให้แก่ผู้ใช้งาน

ในด้านของการใช้พลังงาน เทคโนโลยี IoT มีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงานของอาคาร ผ่านการควบคุมและจัดการระบบการทำงานของอุปกรณ์ที่ได้ทำการเชื่อมต่อกับระบบ IoT ไว้ เช่น การสั่งเปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในอาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ ในกรณีที่เราออกจากตัวอาคารแล้ว แต่ลืมปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ คาดการณ์ว่าจะช่วยลดการใช้พลังงานให้กับประเทศได้ถึง 20% ส่งผลให้สถานะด้านพลังงานของประเทศมั่นคงยิ่งขึ้น

นวัตกรรมทางด้านพลังงาน ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันในขณะนี้ นั่นคือ IoT ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนสมองให้กับอุปกรณ์ โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ชนิดต่างๆ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมต่อไปยังผู้ใช้

ทั้งนี้ เว็บไซต์ IoT Analytics ได้ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูล จากแหล่งที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตยอดนิยม เพื่อจัดอันดับ IoT ที่มียอดการค้นหาบนอินเทอร์เน็ตมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) หมายถึง การนำเทคโนโลยีมาควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในหรือภายนอกบ้าน เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายและความปลอดภัย เช่น ประตูอัตโนมัติ เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว การเปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ เป็นต้น

อันดับที่ 2 อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่สามารถติดตั้งและใช้งานตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย (Wearables) เพื่อความสะดวกในการใช้งานเนื่องจากสามารถนำติดตัวไปได้ทุกที่ ปัจจุบันมีการพัฒนาออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น นาฬิกา สายรัดข้อมือ และ แว่นตา เป็นต้น

อันดับที่ 3 เมืองอัจฉริยะ (Smart City) หมายถึง เมืองที่มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น เช่น การจัดการพลังงานไฟฟ้า ระบบจัดการน้ำ และระบบจัดการขยะ เป็นต้น

อันดับที่ 4 โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาบริหารจัดการควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า

อันดับที่ 5 การใช้ IoT สำหรับอุตสาหกรรมและโรงงานการผลิต (Industrial Internet)

อันดับที่ 6 รถยนต์อัจฉริยะ (Connected Car) ที่มีการติดตั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย

อันดับที่ 7 เครือข่ายเชื่อมโยงชุมชนเข้ากับระบบสุขภาพแบบครบวงจร (Connected Health)

อันดับที่ 8 ระบบจัดการธุรกิจห้างร้าน (Smart Retail) คือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจห้างร้าน

อันดับที่ 9 ระบบจัดการระหว่างผู้ผลิตและผู้ขาย (Smart Supply Chain) คือ การจัดการในส่วนของกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ผลิตกับผู้ขาย

อันดับที่ 10 ฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farming) คือ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานเข้ากับงานด้านเกษตร

จาก การจัดอันดับเทคโนโลยี IoT ทั้ง 10 อันดับ พบว่าอุปกรณ์ที่นิยมนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ในการควบคุมระบบการทำงานและประมวลผล ล้วนเป็นอุปกรณ์หรือสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย ในการใช้ชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง

โครงการส่งเสริมการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ IoT ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน

โครงการส่งเสริมการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ IoT ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่มีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้โรงงานควบคุม/อาคารควบคุมในการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ IoT ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ที่สามารถตรวจวัดปริมาณการประหยัดพลังงานเพิ่มและสามารถจัดเก็บข้อมูล ตรวจวัดผลประหยัดที่เกิดขึ้นได้จริง

คุณสมบัติของผู้ขอเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นอาคารควบคุมหรือโรงงานควบคุมภาคเอกชน ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 โดยอาคารหรือโรงงานภาคเอกชน ที่อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนเป็นอาคารควบคุมหรือโรงงานควบคุมตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) ขอรับการสนับสนุนแทนอาคารหรือโรงงาน

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ นั่นก็คือ สนับสนุนเงินลงทุนสูงสุดร้อยละ 20 ของเงินลงทุน รวมทั้งสนับสนุนค่าจ้างที่ปรึกษาสูงสุด ร้อยละ 2 ของเงินลงทุน และสนับสนุนการลงทุนในส่วนประกอบของระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ IoT ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน

โรงพยาบาลรัฐ ใช้ IoT ช่วยประหยัดพลังงานในอาคาร

ปัจจุบันโรงพยาบาลภาครัฐ มีผู้รับบริการเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการใช้ไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบปรับอากาศ และเครื่องทำความร้อนตลอดเวลา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานค่อนข้างสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย จึงได้นำระบบ IoT เข้ามาควบคุมและบริหารจัดการระบบการทำงานเครื่องปรับอากาศแบบรวมศูนย์ (หรือเครื่องทำน้ำเย็น) ระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบเครื่องสูบน้ำและมอเตอร์ และการบริหารจัดการผู้ป่วยนอก เพื่อตอบสนองนโยบาย ภาครัฐ Thailand 4.0 และพลังงานฐานนวัตกรรม ENERGY 4.0

ภายใต้ความร่วมมือการศึกษา พัฒนาและสาธิตการนำระบบ IoT เพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงานในอาคารโรงพยาบาลภาครัฐ กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งในปัจจุบันได้ทำการติดตั้งในโรงพยาบาลภาครัฐ ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลสมุทรสาคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถในการช่วยประหยัดทั้งเวลาของผู้ป่วย แพทย์ และพยาบาล ให้สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานของอาคาร และลดค่าใช้จ่ายในด้านสาธารณูปโภคได้อีกด้วย ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายลดใช้พลังงานใช้ไฟฟ้าให้ได้ 5.8 ล้านหน่วยต่อปี

ประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว จะดำเนินการภายใต้ 5 มาตรการอนุรักษ์พลังงานด้วยการใช้เทคโนโลยี IoT ที่เกี่ยวข้องกับระบบอาคาร ไม่ว่าจะเป็น 1.มาตรการสำหรับระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์ (หรือเครื่องทำน้ำเย็น) 2. มาตรการสำหรับระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน 3. มาตรการสำหรับระบบไฟฟ้าแสงสว่าง 4. มาตรการสำหรับระบบเครื่องสูบน้ำและมอเตอร์ และ 5. มาตรการบริหารจัดการผู้ป่วยนอก และภายในสิ้นปีนี้จะสามารถช่วยโรงพยาบาลทั้ง 6 แห่ง ประหยัดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ด้วยงบประมาณ 40 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเชื่อมข้อมูลการใช้พลังงานส่งมาที่ พพ.เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลอื่นๆ ด้วย

ด้าน รศ. นพ.ประยุทธ ศิริวงษ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า เทคโนโลยี IoT สามารถช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการผู้ป่วยที่มาขอรับบริการ 3,000 คนต่อวัน ประหยัดทั้งเวลาของผู้ป่วย แพทย์ และพยาบาล ให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และลดการใช้พลังงานของอาคาร จากเดิม โรงพยาบาลชำระค่าไฟฟ้าเดือนละ 7 ล้านบาท ปัจจุบันลดเหลือเพียง 5 ล้านบาทต่อเดือน เชื่อว่าถ้ามีการต่อยอดในเรื่องการใช้ IoT ค่าไฟก็จะลดลงไปอีก ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคก็จะลดลงเช่นกัน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save