ลูซี่ ฮิวจ์ (Lucy Hughe) นักศึกษาจากอังกฤษ วัย 24 ปี ได้พัฒนาไบโอพลาสติกจากเกล็ดปลาและสาหร่ายทะเล โดยมีแนวคิดมาจากการที่ต้องการลดการพึ่งพาการใช้พลาสติกซึ่งกำลังสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมโลกอยู่ในขณะนี้ เธอตั้งชื่อพลาสติกนี้ว่า “MarinaTex” พลาสติกชีวภาพที่มีความทนทานสูงกว่าพลาสติกทั่วไปซึ่งผลิตจากปิโตรเลียม อีกทั้งยังสามารถย่อยสลายได้โดยใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น
สำหรับแนวคิดการพัฒนาพลาสติกจากเกล็ดปลาและสาหร่ายทะเลสีแดงนี้ เริ่มต้นมาจากโปรเจคมหาวิทยาลัยของ ลูซี่ ฮิวจ์ ซึ่งศึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่ที่มหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ ประเทศอังกฤษ แนวคิดการพัฒนาดังกล่าว เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะสร้างพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรซึ่งกำลังเป็นปัญหา และสร้างความสูญเสียต่อชีวิตของสัตว์ทะเลเป็นจำนวนมาก
โปรเจคดังกล่าว มาจากจุดเริ่มต้นที่ ลูซี่ ฮิวจ์ พบว่าในแต่ละปีมีขยะอินทรีย์จากอุตสาหกรรมอาหาร (organic waste) ถูกทิ้งเป็นปริมาณมหาศาล เธอจึงได้ติดต่อกับ MCB Seafoods โรงงานแปรรูปอาหารทะเลและผู้ค้าส่งใน Newhaven ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งหลังจากลงทัวร์โรงงาน จากข้อมูลที่ได้พบว่ามีขยะอินทรีย์จากโรงงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นขยะจากกุ้ง เปลือกหอย หนังปลา และเกร็ดปลา ซึ่งหลังจากศึกษาของเสียจากโรงงานที่แตกต่างกันเหล่านี้ เธอพบว่าหนังปลาและเกล็ดปลามีศักยภาพมากที่สุด เนื่องจากมีความยืดหยุ่นและความแข็งแรง
นอกจากนี้ยังพบว่าสาหร่ายทะเลสีแดงที่พบได้ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสารชีวภาพประเภทวุ้นที่มีความยืดหยุ่นสูง เหมาะสำหรับนำมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตพลาสติกชีวภาพที่มีความคงทนสูงเช่นกัน
ลูซี่จึงได้นำวัตถุดิบเหล่านี้มาทำการทดลองเพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพ และหลังจากที่ทดลองลองผิดลองถูกอยู่กว่า 100 ครั้ง เพื่อปรับแต่งองค์ประกอบและกระบวนการในการสร้าง ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จกับการสร้างไบโอพลาสติก “MarinaTex” ที่มีลักษณะโปร่งแสง มีความยืดหยุ่น และแข็งแรงกว่าพลาสติกชนิด LDPE ซึ่งเป็นพลาสติกที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งมีข้อดีคือ สามารถย่อยสลายได้ภายใน 1-2 เดือนเท่านั้น
MarinaTex เป็นวัสดุอเนกประสงค์ที่สามารถทดแทนพลาสติกในการใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จนถึงใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น พลาสติกใสในกล่องทิชชู่ ใช้รองอาหาร หรือบรรจุอาหารอย่าง แซนวิช ฯลฯ ได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสัตว์
ด้วยผลงานดังกล่าว ที่นอกจากช่วยลดการทิ้งวัสดุชีวภาพจากอุตสาหกรรมอาหารได้แล้ว ยังเป็นการสร้างวัสดุใหม่ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนพลาสติก ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ ทำให้พลาสติกชีวภาพ “MarinaTex” ได้รับรางวัล James Dyson Award ประจำปี 2019 พร้อมเงินรางวัลกว่า 30,000 ยูโร ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยจากทั่วโลก ที่คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับโลก
Source: ภาพ-ข่าว MARINATEX www.marinatex.co.uk