ตั้งแต่เริ่ม ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา เรื่องของสิ่งเล็กๆ อย่างฝุ่นกลับไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป เมื่อ “ฝุ่น” สะสมอยู่ในอากาศรอบตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร หรือที่เรารู้จักกันในนาม “PM 2.5” ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
PM 2.5 หรือ Particulate Matter 2.5 μm เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก โดยมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ประมาณ 20-30 เท่า และเนื่องจากขนาดของฝุ่นที่เล็กจึงทำให้ฝุ่นประเภทนี้สามารถแทรกซึมเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ง่าย โดยทั่วไปแล้วฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือ PM 10 จะไม่สามารถเข้า ถึงปอดของมนุษย์ได้ แต่สำหรับฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กกว่านั้นจะสามารถสะสมในปอด หรือบางส่วนที่เล็กไปจนถึง PM 0.1 จะสามารถแทรกซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด ดังนั้นฝุ่นเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด และมะเร็งหลากหลายชนิด โดยจากสถิติที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2553 ประเทศจีนมีผู้เสียชีวิตจากโรคเหล่านี้สูงถึง 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรในประเทศจีนทั้งหมด ทั้งนี้แหล่งกำเนิดของ PM 2.5 อยู่ในกระบวนการต่างๆ รอบๆ ตัวเรา เช่น การผลิตไฟฟ้า โรงงานกระบวนการผลิตต่างๆ รวมไปถึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา
ในปัจจุบัน ยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถจัดการกับสภาวะฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมตัวเมืองอย่างชะงัด การฉีดนํ้าหรือฝนก็ไม่สามารถบำบัดสภาวะอากาศเสียเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้เท่าใดนัก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นจากฝุ่น PM 2.5 การสวม “หน้ากากอนามัย” เพื่อป้องกันฝุ่น เข้า สู่ร่างกายจึงเป็น การป้องกันส่วนบุคคลเบื้องต้นที่ง่ายที่สุด
หน้ากากอนามัยในท้องตลาดมีหลากหลายประเภท ทั้งแบบหน้ากากอนามัยทั่วไป หน้ากากแบบป้องกัน PM 2.5 หรือหน้ากาก N95 เป็นต้น ความแตกต่างของหน้ากากเหล่านี้มี 2 ประเด็นหลักคือ ความสามารถในการกรองและปริมาณอากาศที่ไหลเข้าโดยไม่ผ่านการกรอง ตัวอย่างเช่น หน้ากาก N95 คือ หน้ากากที่สามารถกรองฝุ่นในอากาศได้มากกว่า 95% ตามมาตรฐานของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานของอเมริกา ซึ่งเทียบเท่ากับมาตรฐาน FFP2 ของยุโรปที่กำหนดใหส้ ามารถกรองฝุน่ ในอากาศได้มากกว่า 94% และต้องมีปริมาณอากาศที่ไหลเข้าโดยไม่ผ่านการกรองน้อยกว่า 8% เมื่อใส่อย่างถูกวิธี ซึ่งแตกต่างกับหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปที่ไม่ได้มีข้อกำหนดเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน
ผลงานวิจัยหนึ่งในประเทศอังกฤษที่ทำการทดลองประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM 2.5 ของหน้า กากประเภทต่างๆ จากฝุ่น ภูเขาไฟ ซึ่งมีขนาดครอบคลุมอยูในช่วง PM 2.5 พบว่าหน้ากากแบบ N95 มีเส้นใยที่สามารถกรองฝุ่น ขนาด PM 2.5 ได้ดีมากมีประสิทธิภาพสูงถึง 99.4% ในขณะที่หน้ากากอนามัยชนิดป้องกัน PM 2.5 ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น และหน้ากากอนามัยทั่วไปมีประสิทธิภาพรองลงมาที่ 98.4 และ 87.3% ตามลำดับโดยผ้าเช็ดหน้าและผ้าโพกหัวมีประสิทธิภาพในการกรองน้อยกว่าหน้ากากอนามัยแบบต่างๆ เป็นอย่างมากโดยสามารถกรองได้ไม่เกิน 25%
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการชี้วัดประสิทธิภาพให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ควรต้องคำนึงถึงปริมาณอากาศที่ไหลเข้าโดยไม่ผ่านการกรองของหน้ากากแต่ละชนิดด้วย เนื่องจากหน้ากากอนามัยแต่ละแบบมีความสามารถป้องกันการไหลเข้าของอากาศที่ไม่ผ่านการกรอง ซึ่งเกิดจากช่องว่างระหว่างหน้ากากและหน้าของผู้สวมใส่แตกต่างกัน โดยหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปมีอากาศที่ไม่ผ่านการกรองเข้าสูงถึง 35% ในขณะที่หน้ากากแบบ PM 2.5 และหน้ากาก N95 มีอากาศที่ไม่ผ่านการกรองเข้ามาน้อยกว่าที่ 22% และ 9% ตามลำดับ ดังนั้นจากข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นการชี้ชัดว่า หน้ากากแบบ N95 เป็นหน้ากากที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นมากที่สุด เนื่องจากประสิทธิภาพในการกรองสูงและปริมาณอากาศที่ไม่ผ่านการกรองไหลเข้าตํ่า แต่จากการที่อากาศสามารถไหลเข้าได้น้อยมากและเส้นใยที่หนา ทำให้ผู้สวมใส่อาจมีความลำบากในการหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องใช้เป็นเวลานาน เมื่อเทียบกันแล้วหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปหรือแบบป้องกัน PM 2.5 มีความสามารถในการกรองรองลงมา และปริมาณอากาศที่ไหลเข้าโดยไม่ผ่านการกรองสูงกว่า ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นโดยรวมตํ่ากว่า แต่อย่างไรก็ตามการใส่หน้ากากอนามัยเหล่านี้ไว้ย่อมดีกว่าการหายใจฝุ่นเข้าไปในระบบหายใจของเราโดยตรงอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังทดลองการนำผ้ามาซ้อนกันหลายๆ ชั้นและการทำให้ผ้าเปียก โดยพบว่า การนำผ้ามาซ้อนกันสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกรองได้ในขณะที่การทำให้ผ้าเปียกไม่ได้มีส่วนทำให้ประสิทธิภาพการกรองดีขึ้น และอาจทำให้ประสิทธิภาพการกรองแย่ลงสำหรับผ้าบางชนิด ทั้งนี้ การใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าชนิดใดๆ ในการป้องกันจะมีอากาศภายนอกที่ไหลเข้ามาโดยไม่ผ่านการกรองไหลเข้ามาได้ง่าย ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นลดลงจากเดิมเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อสุขอนามัยที่ดีแล้ว อย่างน้อยที่สุดควรสวมใส่หน้ากากอนามัยที่เหมาะสมมาใช้ในการป้องกันตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่คุณภาพอากาศยํ่าแย่
โดยทั่วไปปัญหาฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปีของทุกๆ ปี ซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวจะต้องเกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่ายเพื่อลดการเกิดฝุ่น ในหลายๆ ประเทศได้ใช้นโยบายควบคุมคุณภาพรถยนต์เพื่อให้ลดการปล่อยฝุ่น รวมไปถึงวางนโยบายการควบคุมฝุ่นจากกิจกรรมอื่นๆ เช่น การก่อสร้าง การผลิตไฟฟ้าและโรงงานต่างๆ อันจะทำให้ปริมาณฝุ่นลดลง ซึ่งนโยบายเหล่านี้ทำสำเร็จแล้วในหลายๆ ประเทศและส่งผลให้ปริมาณฝุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในประเทศไทยก็อาจสามารถเริ่มต้นการลดฝุ่นได้ด้วยวิธีการที่คล้ายๆ กัน ซึ่งเมื่อได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคนก็จะทำให้ปัญหาเรื่อง “ฝุ่น” เล็กๆ กลับกลายเป็นเรื่องเล็กๆ ได้อย่างแน่นอน
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 91 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 คอลัมน์ GREEN Article
โดย รศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล, กริชชาติ ว่องไวลิขิต