ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าเรื่องมลพิษอากาศโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เป็นเรื่องซับซ้อนที่ทำความเข้าใจได้ไม่ง่าย แต่ในความซับซ้อนนั้นเราก็อยากจะแสดงบทบาทนักวิชาการให้ข้อคิดและข้อเสนอแนะดังนี้
เรื่องแรก มาตรา 157 : เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับคนที่เป็นข้าราชการ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายและความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ คือเราได้เรียนรู้มาตลอดว่า คุณภาพอากาศของบ้านเรามีอยู่บ่อยครั้งที่มีค่าเกินมาตรฐาน บางกรณีถึงกับขึ้นป้ายแถบสีแดงที่บ่งว่าอันตรายต่อสุขภาพอย่างมากด้วยซ้ำ สำหรับปัญหานี้ประชาชนอาจถามว่าถ้าอากาศไม่สะอาด ไม่ควรหายใจ แล้วความผิดความบกพร่องนี้อยู่ที่ใคร หากมีคนลุกขึ้นมาฟ้องศาลปกครองด้วยมาตรา 157 อันว่าด้วยการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วเราจะทำอย่างไรกับมัน เพราะเห็นๆอยู่ว่าเหตุการณ์เช่นว่านี้เกิดขึ้นในทุกๆปีที่ผ่านมา ดังรูปที่ 1 และยังไม่มีมาตรการเด็ดขาดใดๆออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะถ้ามันแก้ได้จริงป่านนี้เขาคงแก้กันไปได้หมดแล้ว
ถ้าฟ้องแล้วศาลพิจารณาตัดสินว่าเจ้าหน้าที่รัฐผิดตามมาตรา 157 ที่ว่า ! แล้วไงต่อ? ใครได้ประโยชน์จากการพิจารณาตัดสินเช่นนี้? จะให้เจ้าหน้าที่รัฐชดเชยความเสียหายก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ในความเห็นเราเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องระมัดระวังตัวและเร่งหามาตรการเด็ดขาด ที่มีขั้นตอนการสั่งการชัดเจน มีกฎหมายรองรับ ให้ทุกหน่วยงานพร้อมนำไปปฏิบัติได้อย่างเคร่งครัดและรวดเร็ว (ดูรายละเอียดในตอนที่ 4 ของซีรีส์บทความนี้)
มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐก็จะต้องเป็นแพะรับบาปเสียเองอย่างมิควรให้เกิดขึ้น
เรื่องที่ 2 ข้อเสนอแนะ : นอกจากมาตรการป้องกันและหรือลดฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ตั้งแต่ต้นกำเนิด (ดูมาตรการระยะสั้นและยาวในตอนที่ 4) แล้ว เรายังมีข้อคิดที่อยากขอเสนอแนะให้ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษและกรุงเทพมหานคร นำไปใช้อยู่ 4 ข้อ คือ
1) รัฐควรมีหน่วยหรือทีมงานปฏิบัติการตอบสนองเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Emergency Response Team ขึ้นมาสำหรับปัญหามลพิษอากาศเป็นการเฉพาะ โดยเป็นทีมงานที่มีตัวแทนระดับตัดสินใจได้มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรง เช่น ค่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เกินมาตรฐานไป 2 เท่าจะต้องทำอย่างไร, 3 เท่าทำอย่างไร, และ 4 เท่าทำอย่างไร เป็นต้น ตามแผนปฏิบัติการที่ได้จัดเตรียมไว้อย่างชัดเจนก่อนล่วงหน้าแล้ว (ดูเรื่องที่ 3 ในตอนที่ 4)
2) รัฐควรมีระบบการสื่อสารที่รวดเร็ว ฉับไว แม่นยำ เที่ยงตรง เอาไว้อธิบายให้ประชาชนเข้าใจปัญหาที่แท้จริง อย่างแท้จริง แต่เท่าที่ผ่านมาเราเห็นได้ว่ารัฐสอบตกในประเด็นนี้อย่างสิ้นเชิง เราจึงอยากเสนอแนะว่ารัฐต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ (media specialists) และที่ปรึกษาด้านสื่อ (media consultants) ไว้ในทีมงานตามข้อ 1) ข้างต้นด้วย
3) ในการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ใครก็รู้ว่าต้องแก้ที่ต้นเหตุ และเราค่อนข้างมั่นใจกันในหมู่นักวิชาการแล้วว่าสาเหตุหลักของ PM2.5 ในกรุงเทพมหานครคือมาจากไอเสียรถยนต์ โดยเฉพาะดีเซล โชคดีที่รัฐได้มีโครงการขนส่งมวลชน โดยเฉพาะรถไฟไฟฟ้า (electric train) มาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อมีได้ครบตามโครงการ ก็หวังกันว่าจะมีคนหันมาใช้ระบบรถไฟไฟฟ้านี้กันมากขึ้น แต่ก็มีคนตั้งคำถามว่าความหวังนี้จะเป็นจริงหรือไม่ โดยคนตั้งคำถามนั้นได้ให้พวกเราถามตัวเองว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกขับรถยนต์ส่วนตัวแล้วหันมาใช้รถไฟไฟฟ้าจริงหรือไม่
อุปสรรคหนึ่งที่ทำให้คนไม่หันมาใช้รถไฟไฟฟ้า คือไม่รู้ว่าจะออกจากบ้านไปที่สถานีรถไฟไฟฟ้าได้อย่างไรจึงจะสะดวกและทำให้อยากเปลี่ยนพฤติกรรม หากเราหันไปมองดูญี่ปุ่นและยุโรปที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนทางรางอย่างมาก เราจะรู้ได้ว่าเขาใช้ระบบเดินและจักรยานมาเป็นตัวเสริม ซึ่งก็มีคำถามตามมาว่าแล้วจะเดิน จะขี่จักรยานไปสถานีได้อย่างไร ในเมื่อทางเดินมันเดินไม่ได้และทางจักรยานก็ไม่มี
คำตอบสำหรับคำถามนี้ คือต้องมองไปข้างหน้า อย่าจมปลักกับปัญหาที่มีในปัจจุบัน และหามาตรการทำให้มันเดินได้และขี่จักรยานได้ ซึ่งต้องทำให้ได้จริง เพราะวิธีนี้นอกจากจะลดปัญหามลพิษอากาศ และประหยัดพลังงานของประเทศแล้ว ยังเป็นการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารรถไฟไฟฟ้าให้มากขึ้นได้ ซึ่งทำให้โครงการไม่ขาดทุนและรัฐไม่ต้องจัดงบมาอุดหนุนเป็นสวัสดิการในส่วนนี้อีกด้วย
มีข้อสังเกตด้วยว่าความเร็วของการจราจรหรือการขับรถยนต์ส่วนตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานครเฉลี่ยแล้วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่ชาวบ้านธรรมดาใช้จักรยานบ้านๆธรรมดาๆขี่จักรยาน จะทำความเร็วได้ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้สบายๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือคนชรา ขออย่างเดียว ขอให้มีระบบที่ขี่จักรยานได้ปลอดภัยและต่อเนื่องเท่านั้น
4) คำถามที่ผู้เขียนได้รับบ่อยมาก คือ แล้วคุณภาพอากาศตามสวนสาธารณะเป็นอย่างไร ไปออกกำลังกายได้หรือไม่ เพราะเห็นกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศแนะนำไม่ให้ออกกำลังกายนอกบ้าน เราจึงคิดว่าหน่วยงานรัฐก็ควรพิจารณาจัดหาอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศไปติดตั้งที่สวนสาธารณะ และลานกว้างของสถานที่ราชการบางแห่งที่มีประชาชนไปออกกำลังกาย เพื่อจะได้มีข้อมูลมาให้ประชาชนตัดสินใจกับชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้น อย่าลืมว่านโยบายหลักสำคัญอันหนึ่งของรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข คือการสนับสนุนให้คนไทยหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องผลกระทบทางสังคม (social impact) ที่พึงพิจารณาไว้ด้วยก็ดี
เรื่องที่ 3 ฝนชะฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ได้ไหม : หลายคนซึ่งรวมถึงนักวิชาการอีกมากคนที่เชื่อว่า เมื่อฝนตกฝนจะชะเอาฝุ่นออกไปจากชั้นบรรยากาศ ทำให้เราหายใจสะดวกขึ้น ซึ่งก็จริง แต่จริงเฉพาะฝุ่นใหญ่ๆเท่านั้น จากการตรวจวัดของหน่วยงานทั้งทางเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทางการศึกษา ยืนยันตรงกันว่าฝนไม่ได้ช่วยลดความเข้มข้นของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ในบรรยากาศไปได้มากสักเท่าไร และเมื่อขนาดฝนตกยังช่วยลดความเข้มข้นของฝุ่นจิ๋วนี้ไม่ได้ การล้างถนนและการฉีดน้ำเป็นละอองฝอยตามถนนหรือที่ต่างๆ ก็ยิ่งไร้ประโยชน์ ฉะนั้นหากจะแก้ปัญหานี้ให้ได้จริง ต้องไม่พึ่งฟ้าฝน แต่ต้องพึ่งตัวเอง และหาทางลดมันที่ต้นกำเนิดให้ได้ ส่วนต้นกำเนิดมาจากไหนนั้นขอให้ย้อนกลับไปดูเรื่องที่ 2 ในตอน 3
เรื่องที่ 4 จะเชื่อตัวเลขของใครดี : ได้บอกไปแล้วว่ากรมควบคุมมลพิษ (คพ.) มีสถานีตรวจวัดมลพิษอากาศที่มีการตรวจวัด PM2.5 ด้วยอยู่เพียง 6 สถานี (ดังรูปที่ 2) มีมากสถานีกว่านี้ไม่ได้เพราะติดที่ราคาอุปกรณ์มันแพงมาก แต่ไม่ใช่เพียง คพ. เท่านั้นที่มีสถานีตรวจวัด ปัจจุบันกรุงเทพมหานครก้าวหน้าไปกว่าเดิมอย่างมาก ตอนนี้มีสถานีที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศกระจายทั่วกทม.ทั้งหมด 46 สถานีโดยมีสถานีที่ตรวจวัด PM2.5 ถึง 23 จุด แบ่งเป็นพื้นที่ริมถนน(roadside area) 18 สถานี พื้นที่ทั่วไป(ambient area) 5 สถานี (ดูรูปที่ 3)
นอกจากนี้ประเทศจีนเคยมีปัญหาค่า PM2.5 ในกรุงปักกิ่ง และไม่ได้แจ้งข้อมูลให้ชาวบ้าน จึงเกิดมีธุรกิจผลิตเครื่องมือวัด PM2.5 แบบง่ายๆ ออกมาขายในราคาเพียงไม่กี่พันบาท ชาวบ้านสามารถสั่งซื้อทางออนไลน์มาวัดเพื่อหาข้อมูลเอง ในเมืองไทยเข้าใจว่าก็มีกลุ่มคนเช่นตามโรงเรียนดังเริ่มเอามาใช้แล้ว นัยว่าเอาไว้ใช้ป้องกันตัวเอง
ปัญหามันคือ เครื่องพวกนี้ราคาถูกแพงต่างกันมาก ซึ่งแน่นอนที่ความแม่นยำในการวัดก็ต้องต่างกัน และเมื่อวัดได้ค่าต่างกัน เราจะเชื่อใคร สำหรับข้อมูลของชาวบ้านที่ใช้เครื่องราคาถูกอาจไม่แม่นยำและมีข้อโต้แย้งได้ แต่ถ้าเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง วัดได้ค่าต่างกันแล้วเราจะแจ้งประชาชนให้ทราบและเชื่อข้อมูลนั้นได้อย่างไร เราจึงอยากจะเสนอให้หน่วยงานรัฐรวมทั้งหน่วยงานทางการศึกษาคุยและสรุปกันให้รู้เรื่องเสียก่อนตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อ้างอิงถึงกันและกันได้
เรื่องที่ 5 ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว : เรื่องคุณภาพอากาศไม่ใช่เรื่องที่คนท้องถิ่นหรือคนกทม.เท่านั้นที่ต้องพิจารณา หากแต่คนต่างถิ่น โดยเฉพาะคนต่างประเทศ เขาก็พิจารณาหากต้องการจะมาเยือนหรือมาท่องเที่ยว ขอให้ข้อสังเกตว่าโอลิมปิกเมื่อปี ค.ศ. 2008 ที่กรุงปักกิ่งซึ่งเป็นเมืองที่อื้อฉาวเรื่องอากาศไม่สะอาดพอที่จะให้หายใจ อันทำให้นักกีฬาทุกชาติมีความกังวลและส่งเสียงบ่นปนเรียกร้อง จนผลสุดท้ายบีบให้รัฐบาลปักกิ่งต้องสั่งโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในและรอบกรุงปักกิ่งหยุดการผลิตในช่วงก่อนหน้าการเปิดการแข่งขันเป็นเดือน เพื่อปรับปรุงให้คุณภาพอากาศดีขึ้นไว้ต้อนรับนักกีฬาต่างชาติ
สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ ถ้ามีข่าวออกมาบ่อยๆ ว่า PM2.5 เกินมาตรฐาน ค่า AQI เกิน 100 หรือมากกว่ามาตรฐานทั่วโลก สิ่งนี้จะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวในปัจจุบันถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญเป็นอันดับสองของประเทศไทยแล้ว หากนักท่องเที่ยวไม่มา เศรษฐกิจไทยก็พังเอาง่ายๆ ซึ่งก็แน่นอนที่ไม่มีใครอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น มิใช่หรือ
เรื่องทั้งหมดที่เขียนมาหลายตอนนี้เป็นเรื่องซีเรียสและหนักจนน่าเบื่อที่จะอ่าน ผู้เขียนจึงใคร่ขอแก้ตัวโดยขอตบท้ายด้วยเรื่องที่ออกแนวชวนขันอยู่สองเรื่อง คือ เรื่อง “การเรียกชื่อ PM2.5” และเรื่อง “ดราม่าทุบรถ” เอาเรื่องแรกก่อน สังเกตไหมว่าเราเรียก PM2.5 ว่าพีเอ็มสองจุดห้า แต่เราเรียก PM10 ว่าพีเอ็มเท็น เหตุใดจึงไม่เรียก PM2.5 ว่าพีเอ็มทูพอยต์ไฟว์ หรือ PM10 ว่าพีเอ็มสิบ อันนี้เราไม่มีคำตอบ เพียงแค่อยากเล่าปรากฎการณ์ทางสังคมมาให้ฟังเล่น ส่วนอีกเรื่องคือเรื่องดราม่าทุบรถ ซึ่งเรื่อง PM2.5 นี่ก็เช่นกัน หากไม่มีดราม่าเมื่อต้นปี 2561 แบบดราม่าทุบรถ ผู้คนก็คงไม่สนใจ และผู้เขียนคงไม่ต้องมาตรากตรำนั่งอธิบายที่มาที่ไปของมัน เรื่อง ดราม่าทุบรถจบลงที่รัฐต้องลงมาแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในวงกว้างแบบเบ็ดเสร็จ เราก็หวังว่าเรื่องดราม่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 จะทำให้รัฐหันมาสนใจปัญหานี้อย่างจริงจังและหาทางแก้ไขป้องกันมันอย่างจริงๆต่อไปเช่นกัน
ขอขอบพระคุณไว้ล่วงหน้าเลยค่ะ(ครับ)
ได้ที่ https://github.com/LILCMU/cmu-cleanair1
บทความที่เกี่ยวข้อง |
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 96 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 คอลัมน์ GREEN Article โดย รศ. ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล, ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มารูป :
รูปที่ 1 สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา. “ฝุ่น PM2.5 แก้อย่างไรให้ตรงจุด.” ทางออกร่วมกันในการลดฝุ่นละออง PM2.5 ใน กทม., กรมควบคุมมลพิษ, 23 มีนาคม 2561.
รูปที่ 2 เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ. “สถานการณ์และการดำเนินการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ผ่านมา.” ทางออกร่วมกันในการลดฝุ่นละออง PM2.5 ใน กทม., กรมควบคุมมลพิษ, 23 มีนาคม 2561.