กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อผลักดันแผน Roadmap การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เร่งให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตรงตามเป้าหมาย ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ในปี 2030 โดยลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี เยี่ยมชมผู้ประกอบการศักยภาพที่พร้อม ตอบโจทย์การผลิตยานยนต์-ชิ้นส่วนรถ EV ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐ เพื่อการแก้ปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน
16 มีนาคม 2563 – นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1-1/2563 ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ประเทศไทยเกิดการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใน 5 ปี และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคม ร่วมกันพิจารณาดำเนินการให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย รถยนต์ จักรยานยนต์ และรถบัสสาธารณะ เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม
กระทรวงฯ จึงได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจเยี่ยม บริษัท โชคนำชัยแมชชีนนิ่ง จำกัด จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผู้ผลิตและประกอบยานพาหนะต่าง ๆ อาทิ รถยนต์ รถบัส และเรือ สัญชาติไทยรายใหญ่ของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในเชิงวิศวกรรม มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย รถมินิบัส จำนวน 2,880 คัน / ปี เรือตรวจการณ์ จำนวน 70 ลำ / ปี เรือขนาดใหญ่ 16-20 เมตร จำนวน 30 ลำ / ปี เรือท้องแบน จำนวน 1,500 ลำ / ปี และแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์ 320 ชิ้น / ปี ซึ่งนับว่าเป็นสถานประกอบการที่มีศักยภาพความพร้อม สามารถต่อยอดในการผลิตชิ้นส่วนและการประกอบยานยนต์ ไฟฟ้าได้
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้เตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของอุปสงค์ (ความต้องการใช้) และอุปทาน (ผู้ผลิต) เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว สอดรับกับเป้าหมายในปี 2030 มุ่งให้ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมด โดยแผนระยะสั้น (ปี 2020-2022) จะมีการขับเคลื่อนรถราชการ รถบัสสาธารณะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ และรถส่วนบุคคลอื่น ๆ ประมาณ 60,000 – 110,000 คัน แผนระยะกลาง (ปี 2021-2025) เร่งให้มีรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด ECO EV และ Smart City Bus ประมาณ 250,000 คัน และแผนระยะยาวในปี 2030 จะมียานยนต์ไฟฟ้า 750,000 คัน
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ได้เปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวทิ้งท้ายว่า การวางรากฐานให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จะเป็นทางออกของการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ รวมถึงการแก้ปัญหามลพิษที่มีศักยภาพ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จะสัมฤทธิ์ผลได้อย่างยั่งยืน
Source: ข่าวประชาสัมพันธ์กระทรวงอุตสาหกรรม