“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษ “Roadmap ไทยขับเคลื่อน EV” เดินหน้าดำเนินนโยบายเร่งให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศตรงตามเป้าหมาย ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ในปี 2030
27 สิงหาคม 2563 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ งานสัมมนา “New Generation of Automotive” ในหัวข้อ “Road Map ไทย ขับเคลื่อน EV” โดย รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายและมาตรการ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก โดยในปี 2019 มีการผลิตอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก ให้สามารถปรับตัวและต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตเดิม เพื่อคงไว้ซึ่งขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยที่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เป็นอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการผลักดันเพื่อให้เกิดการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและการผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญภายในประเทศ โดยมีมาตรการสนับสนุนการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการ ตามมาตรการสนับสนุนการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีมาตรการครอบคลุมทุกด้าน ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน (Supply) มาตรการกระตุ้นตลาดในประเทศ (Demand) การเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน การจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว และมาตรการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยจากการประชุมคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติครั้งที่ 1 ได้เห็นชอบโรดแมพ ตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2030 ไว้ที่ 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น (ปี 2020-2022) ผลิตรถสำหรับรถราชการ รถสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 60,000-110,000 คัน ระยะกลาง (ปี 2021-2025) จะผลักดัน ECO EV จำนวน 100,000-250,000 คัน และผลักดันสมาร์ท ซิตี้ บัส จำนวน 1,000-3,000 คัน และระยะยาว (ปี 2026-2030) จะขยายจำนวน Eco EV เพื่อรองรับ Zero Emission และ Sharing Mobility และมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% ของปริมาณการผลิต 2.5 ล้านคัน
ส่วนในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมความร่วมมือทั้งทางภาครัฐและเอกชนในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมีการกำหนดค่าไฟฟ้าคงที่ไว้ที่ 2.63 บาทต่อหน่วย และติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมในรัศมี 50-70 กิโลเมตร เพื่อให้ครอบคลุมการเดินทางในระยะไกล
ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า EV ภายในประเทศให้มากขึ้น ได้วางแผนตั้งเป้านำร่องยานยนต์ไฟฟ้าในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจก่อน นอกจากนี้ที่ผ่านมาได้อยู่ระหว่างการหารือกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้มาตรการยานยนต์เก่าแลกยานยนต์ไฟฟ้า นำรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี มาแลกรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและจัดการซากยานยนต์ โดยจะมีการศึกษาเรื่องการจัดการซากยานยนต์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการจัดการอย่างเป็นระบบ รองรับการลงทุนการรีไซเคิลซากรถยนต์และแบตเตอรี่ เพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน