SCG Floating Solar Farm โมเดลต้นแบบระบบโซลูชั่นครบวงจรรายแรกของไทย


อย่างที่ทราบกันแล้วว่าโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานสะอาด และปัจจุบันราคาของแผงโซลาร์เซลล์ ลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากพลังงานมีการใช้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และด้วยเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้ต้นทุนราคาต่ำลง

ที่ผ่านมาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์นั้น หลายคนมักจะคุ้นเคยในสองรูปแบบ คือ โซลาร์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) ซึ่งเป็นการติดตั้งในรูปแบบโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) เป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน อาคาร และโรงงาน ซึ่งหลายคนมองว่าการติดตั้งโซลาร์โดยเฉพาะโซลาร์ฟาร์มจำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมหาศาล จะเป็นการรุกพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร

แต่ทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันโซลาร์ฟาร์มสามารถติดตั้งได้บนผืนน้ำ บริเวณอ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อน ที่ผ่านมาในต่างประเทศได้มีการพัฒนาและติดตั้ง Floating Solar Farm หรือ โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ขึ้นมาใช้งานมากมายหลายแหล่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นขนาดเล็ก กำลังการผลิตต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์ โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่ว่านี้เหมาะกว่าการติดตั้ง บนพื้นดิน ช่วยให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม เนื่องจากต้องติดตั้งอยู่บนผิวน้ำ จึงช่วยแก้ปัญหาการรุกพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย การพัฒนาเรื่องของ Floating Solar Farm ไปถึงขั้นไหนแล้ว ล่าสุด เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้มีการพัฒนาที่เป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีด้วยการนำเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษมาออกแบบและพัฒนาเป็นทุ่นลอยสำหรับใช้กับแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งติดตั้งง่าย รวดเร็ว และประหยัดพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ ทุ่นลอยน้ำยังออกแบบให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 25 ปี ใกล้เคียงกับอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์

ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ หรือ Floating Solar Farm ในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจรเป็นรายแรกของประเทศไทย โดยเล็งเห็นว่าพื้นที่ผิวน้ำในประเทศไทยมีประมาณ 14,600 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 3 ของพื้นที่ประเทศ หากนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลูกค้าก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งโซลาร์ฟาร์มแบบลอยน้ำให้ประสิทธิภาพสูงกว่าการติดตั้งบนพื้นดิน และบนหลังคา เนื่องจากอาศัยธรรมชาติของน้ำในการระบายความร้อน (Cooling Effect)

“เราพัฒนาตัวทุ่นให้ตอบโจทย์สภาพการใช้งาน บนผิวน้ำที่หลากหลาย และต่อยอดไปสู่ธุรกิจโซลูชั่นแบบครบวงจรเป็นรายแรกในประเทศไทยโดยสามารถ ให้บริการตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิตทุ่น การติดตั้งและระบบยึดโยงตัวทุ่น ไปจนถึงการดูแลรักษา ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ สูงสุดแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรน้ำจากการระเหย และช่วยเพิ่มพื้นที่ผลิตพลังงานทดแทน
ให้กับประเทศอีกด้วย”

Floating Solar Farm ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ ใช้เวลาในการติดตั้งประมาณ 5 เดือน ได้ดำเนินการทดลองและจ่ายไฟมาแล้ว โดยได้ติดตั้งที่โรงงานเอสซีจี เคมิคอลส์ จังหวัดระยอง ในพื้นที่บ่อน้ำขนาด 20 ไร่ ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ จำนวน 7 ไร่ ที่ระดับความลึกของ บ่อน้ำ 8 เมตร ประกอบไปด้วยแผงวงจรโซลาร์เซลล์ จำนวน 3,375 แผง โดยแบ่งออกเป็น 3 เกาะ ในแต่ละเกาะจะแยกเป็น 4 Combiner Box รวมทั้งหมด 12 Combiner Box ขนาดกำลังการผลิต 978.75 กิโลวัตต์ โดยกระแสไฟฟ้า DC ประมาณ 800-900 โวลต์ จะเข้าไปสู่ Invertor เพื่อแปลงกระแสไฟฟ้าเป็น AC 3 เฟส 405 โวลต์ เพื่อเข้าหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าและจำหน่ายเข้าสู่ตัวอาคาร

โครงการนำร่องดังกล่าวนี้ จะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ในอาคารของเอสซีจี โดยไม่ได้จำหน่ายไฟให้กับทางการไฟฟ้าฯ และมีการลงทุนไปแล้วกว่า
40 ล้านบาท สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้โรงงานได้ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 8 ปี

จุดเด่นของโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำของเอสซีจี อยู่ที่ทุ่นลอยน้ำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของเอสซีจี ที่ได้มีการออกแบบเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษพร้อมกับการพัฒนาและต่อยอดเป็นทุ่นลอยสำหรับใช้เป็นฐาน โดยให้แผงโซลาร์เซลล์ตั้งฉากประมาณ 15 องศา พร้อมกับมีระบบยึดโยงตัวทุ่น การติดตั้งจะเป็นลักษณะการต่อทุ่นแบบเลโก้ ที่ติดตั้งง่ายและรวดเร็ว และวัสดุที่ใช้ยังเป็นวัสดุใหม่ เมื่อใช้งานแล้วในอนาคตสามารถนำมารีไซเคิลได้

นอกจากนั้น เอสซีจียังมองถึงเรื่องการบำรุงรักษา โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ฉะนั้นจึงไม่ได้ติดตั้งเพียงแค่โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ยังพัฒนาทั้งระบบโซลูชั่น และหนึ่งในนั้นก็คือการซ่อมบำรุง หากโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ มีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ จนแรงงานคนไม่สามารถทำได้ในทุกพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับความปลอดภัยในการทำงานโดยประดิษฐ์คิดค้น “โดรน” (Drone) เพื่อใช้บินสำรวจและตรวจสอบค่าความร้อนโดยสามารถบันทึกภาพเพื่อนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ได้ ในขณะเดียวกันเพื่อรองรับการสำรวจสภาพใต้น้ำ จึงมีการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ดำน้ำ (Underwater Visualizer Robot) เพื่อตรวจสอบทุ่นและโครงสร้างที่อยู่ใต้น้ำได้อย่างชัดเจน ใช้เก็บข้อมูลและส่งผลสำรวจรายงานมาที่ส่วนควบคุมและทำการประมวลผล ทั้งหมดนี้จึงถือเป็นธุรกิจโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต ติดตั้ง บำรุงรักษา และแก้ไขปัญหา

โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ เหมาะสมกับผิวน้ำนิ่ง ที่ไม่มีการสัญจร อาจเป็นแหล่งน้ำประเภท อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หรือบ่อน้ำของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งทุกโรงงานมีบ่อน้ำสำรองเพื่ออุตสาหกรรมของตนเอง ทั้งสิ้น และด้วยอากาศเย็นเหนือผิวน้ำที่ใช้ติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์จะช่วยให้โซลาร์เซลล์ไม่ร้อนจนเกินไป เพราะจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตลดลง ที่สำคัญจากงานวิจัย ยังได้ระบุว่า โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10% ของการผลิตในสภาพปกติ

อย่างไรก็ตาม โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการติดตั้งในโรงงาน ที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีบ่อน้ำ หากเปลี่ยนจากบ่อน้ำที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาสู่การสร้างพลังงานเพื่อใช้ภายในโรงงาน นอกจากจะเป็นการลดภาระค่าไฟของโรงงานแล้ว ยังช่วยลดพีคไฟฟ้าของประเทศ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save