นับเป็นความร่วมมือกันทางด้านบริหารจัดการเมืองแบบอัจฉริยะ หรือ Smart City ของประเทศไทย โดยเป็นการจับมือกันระหว่าง 2 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ลงนามความร่วมมือใน “โครงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมืองและบริการประชาชน” เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของเนคเทคภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาขึ้นมาใช้ในการพัฒนาเมือง เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยี Big Data ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของเมืองและชุมชนมาส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปใช้ประโยชน์
โดยความร่วมมือดังกล่าวนำร่องด้วยแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue ให้ประชาชนใช้แจ้งปัญหาและข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองและชุมชน และระบบ Traffy Waste เครื่องมือบริหารจัดการการเก็บขยะ ช่วยให้บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองและชุมชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นระบบมากขึ้น
ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue และระบบ Traffy Waste เป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในกลุ่ม Traffy City Platform หรือแพลตฟอร์มการบริหารจัดการเมืองด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยเนคเทค สวทช. นำโดย ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ซึ่งจุดเด่นของเทคโนโลยีอยู่ที่การเพิ่มความเป็นอัจฉริยะหรือความสมาร์ทให้กับเมืองโดยเชื่อมสิ่งที่ประชาชนพบเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรปรับปรุงนำส่งไปให้ถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถเข้าใจความต้องการและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเป็นการพัฒนาเมืองด้วยความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายที่เข้าถึงง่ายไม่ซับซ้อน ตอบสนองจุดที่เป็นปัญหาและสร้างความยุ่งยาก (Pain Point) ของประชาชนผู้อยู่อาศัย พนักงานผู้ดูแล และผู้บริหารได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ Traffy Fondue แพลตฟอร์มแจ้งซ่อมและบริหารจัดการปัญหาเมือง เป็นแอพพลิเคชั่นรับเรื่องแจ้งซ่อมและบริหารจัดการปัญหา ที่ช่วยลดระยะเวลา ขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหา ทำให้ผู้บริหารเมืองเข้าถึงใจของประชาชน โดยเพิ่มช่องทางแจ้งปัญหาเมืองจากประชาชนถึงเจ้าหน้าที่โดยตรง โดยหลังแจ้งปัญหาแล้วประชาชนยังสามารถติดตามสถานะการดำเนินการแก้ไขได้ผ่าน LINE@ และแอพพลิเคชั่น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะได้ข้อมูลที่เพียงพอสำหรับบริหารจัดการปัญหาของประชาชน เช่น ภาพถ่ายตำแหน่งบนแผนที่ มีผลให้เจ้าหน้าที่สามารถแก้ปัญหาได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เนื่องจากผู้บริหารมีภาพรวมและข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับนำไปใช้ในอาคาร สำนักงาน คอนโดฯ หมู่บ้าน โรงงาน โรงเรียน และโรงพยาบาลโดยแพลตฟอร์มการสื่อสารดังกล่าว สามารถใช้งานได้โดยการแจ้งปัญหาผ่านแอพพลิเคชั่นหรือผ่าน Line Chat ถ่ายรูปปัญหา ตำแหน่งที่เกิดปัญหา พร้อมการแจ้งเตือน รวมถึงรับทราบความก้าวหน้าของการแก้ไข ซึ่งข้อมูลที่ได้จากระบบสามารถนำมาเป็นบทวิเคราะห์ทางสถิติที่ช่วยรวบรวบข้อมูลปัญหาและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาได้
ส่วน Traffy Waste ระบบจัดการการเก็บขยะอัจฉริยะ เป็นแพลตฟอร์มบริหารงานและวางแผนจัดเก็บขยะ ด้วยเทคโนโลยี AI วิเคราะห์ข้อมูลจากการติดตามตำแหน่งรถเก็บขยะด้วย Multi-GNSS บันทึกเส้นทางและประวัติการเก็บขยะ วิเคราะห์พฤติกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บขยะ ประชาชนและเจ้าหน้าที่สามารถรับการแจ้งเตือนจุดเก็บขยะที่สนใจได้ สามารถทำงานร่วมกับระบบ Traffy Fondue โดยแจ้งปัญหาขยะล้นถังและขยะเกลื่อนกลาด ผ่าน LINE@ และแอพพลิเคชั่นได้ ทำให้ประชาชนค้นหาจุดทิ้งขยะใกล้บ้านพร้อมเวลาจัดเก็บประจำ ตรวจสอบประวัติและสถิติการเก็บขยะ รับแจ้งเตือนการเก็บขยะผ่าน LINE และช่วยรายงานขยะล้นถัง ขยะเกลื่อนกลาด ผ่าน Traffy Fondue ได้ โดยทางเทศบาล อบต. และนิคมอุตสาหกรรม จะมีข้อมูลภาพรวมการจัดเก็บขยะและประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้ทราบพฤติกรรมทำงานของรถเก็บขยะ รวมถึงรับรู้จุดแจ้งเตือนเก็บขยะสำคัญที่ไม่ถูกจัดเก็บ พร้อมยังสามารถบันทึกประวัติการจัดเก็บและสถิติเก็บขยะ พร้อมแนะนำเส้นทางที่ประหยัดเชื้อเพลิงได้ด้วย ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ให้บริการจัดเก็บขยะทั้งที่เป็นส่วนภาครัฐ (การปกครองส่วนท้องถิ่น นิคมอุตสาหกรรม) และภาคเอกชน (ผู้ให้บริการจัดเก็บขยะ ผู้ให้เช่ารถขยะสำหรับใช้บริหารและติดตามการใช้งานทรัพยากร เช่น คน และรถขยะ) สามารถนำผลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนค่าน้ำมันได้
บุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “เป็นโอกาสอันดีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. จะได้ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางด้าน Big Data มาช่วยในการบริหารจัดการเมืองและชุมชน ที่สำคัญคือประชาชนจะได้รับความสะดวกในการร้องเรียนปัญหาขยะ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาด้านสาธารณูปโภคและการแจ้งซ่อมต่างๆ โดยกระทรวงมหาดไทยจะส่งเสริมให้มีการนำแอพพลิเคชั่นระบบ Traffy Fondue และ Traffy Waste ไปใช้อย่างแพร่หลายต่อไป”
ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดย สวทช. จะสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการบุคลากรในการอบรมและสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับระบบแจ้งปัญหาและข้อร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue และระบบบริหารจัดการการจัดเก็บขยะอัจฉริยะผ่านแอพพลิเคชั่น Traffy Waste ซึ่งจะช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเครื่องมือที่ทันสมัยสะดวกสบายให้กับประชาชนในพื้นที่บริการของเมืองและชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองจะมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพในวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ในการวางแผน การแก้ไขปัญหา การบริหารจัดการเมืองและชุมชน”
ทั้งนี้ Smart City ถือเป็นโครงการที่หลายๆ เมืองทั่วโลกพยายามพัฒนาให้เข้ากับยุค 4.0 โดยการเอาเทคโนโลยีมาผสานกับการใช้ชีวิตของประชาชนแต่ละเมือง ไม่ว่าจะทั้งด้านการขนส่ง การใช้พลังงาน หรือโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้เมืองมีความสะดวกสบาย ที่สำคัญยังทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ดีมีสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ถึงแม้ประเทศไทยจะยังไม่มี Smart City ที่สมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่างมากนัก แต่สิ่งที่ภาครัฐกำลังขับเคลื่อนและผลักดันให้หลายๆ จังหวัด หรือมหาวิทยาลัยดำเนินการในขั้นตอนการพัฒนาอยู่ ซึ่งหัวใจสำคัญในการพัฒนา Smart City ของเมือง คือการสร้างData Hub หรือศูนย์รวมข้อมูลที่ทันสมัยที่รวมข้อมูลทั้งพลังงาน การบริโภคน้ำ การขนส่งมวลชน สังคม เศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรเมือง และประชาชนให้เข้าถึงเชื่อมโยงในหลายๆ ด้านได้ด้วย
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 95 กันยายน-ตุลาคม 2562 คอลัมน์ SMART City โดย กองบรรณาธิการ