ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คำว่า “Upcycling” เป็นคำที่แวดวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวถึงกันเสมอ ๆ เป็นคำที่ใช้งานร่วมกับวาทกรรมแห่งความยั่งยืน โดยคำนี้ปรากฏครั้งแรกในหนังสือ Cradle to Cradle: Remaking the Way We Make Things เขียนโดย William McDonough ซึ่งในตอนแรกเริ่มนั้น ยังไม่ได้เป็นคำที่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันนี้ Upcycling ได้รับการกล่าวถึงในแทบทุกแวดวงไม่จำกัดเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ซึ่งคำว่า Upcycling หมายถึงกระบวนการในการแปลงสภาพของวัสดุ หรือสิ่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกแล้วเพื่อเปลี่ยนให้เป็นวัสดุใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม หรือกลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สูงมากขึ้นกว่าเดิมนั้นเอง
เราทุกคนรู้ว่าพื้นฐานของการรีไซเคิลคืออะไร
รีไซเคิล (Recycle) คือ การปฏิบัติเพื่อนำวัสดุที่ใช้แล้วเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ เป็นการส่งคืนวัสดุกลับสู่กระบวนการผลิตผ่านวงจรของการมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของสังคม แทนที่จะทิ้งวัสดุเหล่านั้นไปยังถังขยะ และมีจุดจบที่หลุมฝังกลบ
การรีไซเคิลเป็นการกู้คืนผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว และนำไปผ่านกระบวนการเพื่อทำให้เป็นผลิตภัณฑ์รุ่นเดียวกัน ตัวอย่างที่ง่ายและเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด คือ การรีไซเคิลกระดาษ กระดาษสามารถรีไซเคิลกลับมาเป็นกระดาษเพื่อใช้ในการพิมพ์ หรือเปลี่ยนไปเป็นกระดาษแข็งสำหรับใช้เพื่องานบรรจุภัณฑ์ การรีไซเคิลสามารถเกิดขึ้นได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยรูปแบบการนำกลับมารีไซเคิลนั้นขึ้นอยู่กับการสูญเสียของคุณภาพกระดาษ เพราะไม่ใช่ทั้ง 100% ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อีกครั้ง อาทิ กระดาษทั่วไปที่เราใช้แล้ว เส้นใยกระดาษสามารถนำกลับมารีไซเคิลเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกครั้งเพื่อผลิตเป็นกระดาษสำหรับการพิมพ์ได้ 8 ครั้ง แต่หลังจากนั้น คุณภาพของเส้นใยที่ต่ำลง ทำให้ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นกระดาษที่มีความบางอย่างกระดาษเพื่อการพิมพ์ได้อีก แต่ยังคงนำไปรีไซเคิลเพื่อทำเป็นกระดาษที่คุณภาพด้อยกว่า เช่นกระดาษแข็งได้
การ Recycle จึงเป็นการนำสิ่งที่เราไม่สามารถใช้ซ้ำได้แล้ว หรือวัสดุที่เสียหาย แตกหัก กลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีหลอมให้เป็นวัตถุดิบชนิดเดิม เช่น ขวดแก้ว ผ่านกระบวนการรีไซเคิล จากขวดใบเก่าเป็นขวดใบใหม่ ที่อาจมีรูปทรงแตกต่างออกไปจากเดิมก็ได้ แต่ยังคงเป็นขวดแก้วเช่นเดิม หรืออาจนำไป Recycle เพื่อผลิตเป็นสิ่งของชิ้นใหม่ ที่อาจมีคุณภาพหรือมูลค่าที่ด้อยกว่าของเดิมบ้าง ดังเช่นการรีไซเคิลกระดาษที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น นอกจากนี้ในกระบวนการแปรรูปเพื่อ Recycle นั้น ต้องใช้พลังงานหรือใช้สารเคมีเพื่อแปรสภาพและมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมด้วย
แล้ว Upcycle กับ Recycle มีความแตกต่างกันอย่างไร
การ Upcycle คือ การใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกใช้งานแล้ว เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ซึ่งแตกต่างจากการ Recycle เพราะเมื่อผ่านการ Upcycling หรือ Upcycled ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เดียวกันอีก ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถเปลี่ยนเสื้อยืดเก่าของคุณ โดยตัดแขนหรือคอเล็กน้อยและเย็บด้านล่าง เพื่อเปลี่ยนให้กลายเป็นถุงหรือกระเป๋าผ้าสำหรับใส่ของ เรียกว่าการ Upcycling ง่าย ๆ หรือเป็นการให้ชีวิตใหม่กับเสื้อยืดเก่า เป็นการขยายระยะเวลาการใช้เสื้อยืดในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งแตกต่างจากการ Recycle เพราะหากเป็นการรีไซเคิล เสื้อยืดเก่าจะถูกเปลี่ยนกลับไปเป็นผ้าสำหรับใช้ผลิตเสื้อยืดได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ การ Upcycle ยังเป็นการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่ทำให้คุณภาพและส่วนประกอบของวัสดุลดลงเพื่อการใช้งานครั้งต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ช้อนส้อมพลาสติก ขวดน้ำดื่มพลาสติกถูกนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นภาชนะที่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดก็ตามที่สามารถบริโภคได้ เนื่องจากความเสี่ยงของสิ่งที่ซึมเข้าไปในพลาสติก เป็นผลให้สิ่งเหล่านี้จะถูกนำไป Upcycled กลายเป็นสิ่งของ เช่น พรม ของเล่น ม้านั่ง โคมไฟ แจกัน ซึ่งในกรณีเดียวกันนี้ การ Recycle นั้น จะไม่สามารถใช้ได้ เพราะไม่สามารถนำของเสียที่ซึมในพลาสติกออกไปได้ทั้งหมด หากนำมารีไซเคิล ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้อาจจะมีคุณภาพและมูลค่าที่ด้อยกว่า เช่นผลิตเป็นสิ่งของชิ้นใหม่ ซึ่งจะไม่ใช่ช้อนส้อมพลาสติก หรือขวดน้ำพลาสติกเพื่อการบริโภคเช่นเดิม
หากมองกันผิวเผินแล้ว Upcycle อาจดูคล้ายคลึงกับ Recycle แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดจะพบว่าทั้งสองคำนี้มีวิธีการและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน โดยการ Upcycle นั้น ใช้การออกแบบเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการยืดอายุวัสดุให้เป็นขยะช้าลง ชะลอการเกิดขยะโดยเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือใช้ ให้สามารถใช้ต่อไปได้และเป็นได้มากกว่าขยะเหลือทิ้ง รวมถึงช่วยลดการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ในขณะที่การ Recycle นั้น เป็นการนำวัสดุจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถยืดอายุการใช้งานได้ อาจอยู่ในสภาพแตกหัก เสียหาย มาผลิตเป็นวัสดุเดิมซ้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลง แทนที่จะผลิตจากการใช้วัสดุใหม่ทั้งหมด อย่างเช่น รีไซเคิลกระดาษ เป็นการผลิตกระดาษโดยลดการตัดต้นไม้ หรือนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังใช้วัสดุเดิม แต่ได้คุณภาพและมูลค่าด้อยกว่าเดิม โดยที่ต้องอาศัยการแปรสภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้การหลอม ซึ่งต้องใช้พลังงานหรือใช้สารเคมีในกระบวนการแปรสภาพ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้นนั่นเอง
สินค้า Upcycled เทรนด์ล่า มาแรง
เนื่องจากกระบวนการ Upcycle ใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือสำคัญ จึงทำให้มีแบรนด์สินค้าต่าง ๆ สามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาสินค้า และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ในต่างประเทศมีการนำวัสดุที่ไม่มีค่ามาสร้างสินค้าด้วยการใช้ดีไซน์เข้าไปช่วย เช่น การนำเสื้อกันฝน เสื้อแจ็คเกต หรือผ้าหุ้มเบาะที่นั่งในรถไฟความเร็วสูงแบบใช้แล้วทิ้ง ไปผลิตเป็นกระเป๋าและสินค้าใหม่ แล้วนำกลับมาใช้ในบริษัทอีกครั้ง หรือนำออกจำหน่าย และนำรายได้ไปบริจาคเพื่อการกุศล ส่งเสริมวิธีการคิดเพื่อการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง
ส่วนในบ้านเรา ก็มีผลิตภัณฑ์ที่มีแนวคิดการออกแบบผ่านกระบวนการ Upcycle อยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น การนำถุงปูนทีไม่ใช้แล้วมาผลิตเป็นกระเป๋า ซึ่งเมื่อก่อนนี้ลักษณะนี้จะเข้าใจว่าเป็นการรีไซเคิล แต่ที่จริงแล้วมันเป็นการ Upcycling อีกตัวอย่างคือ ไอเดียสุดเจ๋งกับการสร้างผลงานศิลปะบนโต๊ะด้วยฝาจีบเบียร์และน้ำอัดลม ก็เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการ Upcycle เช่นกัน
แต่ทั้งนี้ การ Upcycling จะช่วยชุบชีวิต ยืดอายุของสิ่งของเหลือใช้ ไม่ให้กลายเป็นขยะ เพื่อให้ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไปนั้น เปรียบเสมือนช่วยต่อลมหายใจให้สิ่งแวดล้อม และช่วยลดการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมใหม่ที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิต ส่วนการ Recycle ก็เป็นการนำวัสดุที่ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไปแล้ว กลับมาสู่วงจรการผลิต เพื่อแปรสภาพและนำกลับมาสร้างผลิตภัณฑ์อีกครั้ง ช่วยลดการใช้วัสดุใหม่จากธรรมชาติในกระบวนการผลิตได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะหากยังมีวัสดุให้ Upcycle และ Recycle นั่นก็หมายความว่า ยังมีผลิตภัณฑ์ที่รอการเป็นขยะอยู่ในวงจรการบริโภคของเรา สิ่งที่ดีที่สุดคือ ลดการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อม โดยหันกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เมื่อกลายเป็นขยะแล้ว สามารถส่งคืนกลับสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่สร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อม