ดราม่า เรื่อง PM2.5 ตอน 4 : รู้ให้ไว ไหวให้ทัน


ขอย้ำอีกครั้งว่า แม้จะเขียนจั่วหัวเรื่องไว้ในตอนที่ 1 ว่าเป็นเรื่องดราม่า อันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครที่เลวมากในช่วงปลายมกราคมต่อต้นกุมภาพันธ์เมื่อต้นปี 2561 โดยดูหรือวัดเอาจากค่าสารมลพิษอากาศหรือ PM2.5 แต่เมื่อเวลาผ่านไปสภาพลมฟ้าดีขึ้น ลมร้อนเริ่มมาและพัดแรงขึ้น มลพิษทั้งหลายซึ่งจริงๆไม่ได้มีแค่เพียง PM2.5 ก็ถูกพัดพาให้กระจายออกไป ปัญหามลพิษอากาศจึงน้อยลง และดราม่าเรื่องนี้ก็คล้ายๆกับเรื่องอื่นๆ คือจางหายไปกับสายลม แต่ในกรณีนี้มันหายไปกับสายลมจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่การเปรียบเปรย แต่เราจะต้องมาทำตัวแบบ“รู้ให้ไว ไหวให้ทัน” เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที โดยต้องเรียนรู้ในรายละเอียดที่จะกล่าวถึงต่อไป ดังนี้

เรื่องแรก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก ซีเรียสจนต้องรู้ให้ไว ไหวให้ทัน คือองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ที่ปัจจุบันกำหนดให้ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของคุณภาพอากาศในรูปฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มาตรฐานของไทยเราอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมถึงค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปี PM2.5 ของ WHO ก็อยู่ที่เพียง 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีของไทยเป็น 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งก็ได้มีเสียงเรียกร้องและสอบถามว่าเหตุใดไทยเราจึงไม่ลดค่ากำหนดนี้ให้ลงมาเท่ากับของ WHO

กับเพียงแค่มาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงปัจจุบันที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เราก็ยังทำไม่ได้ในทุกๆปี ถ้าลดไปเป็น 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามองค์กรWHO ก็คงไม่ได้มาตรฐานกันเกือบทุกวันในช่วงเดือนเสี่ยง(ฤดูลมสงบ) และกรุงเทพมหานครรวมทั้งอีกหลายเมืองในประเทศไทยถ้าดูเฉพาะจากตัวเลขก็จะกลายเป็นเมืองที่มีอากาศหายใจไม่ได้เอาทีเดียว และดราม่าก็จะมาอย่างรุนแรงกว่าเมื่อต้นปี 2561 นี้อีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย ก็อย่างที่บอกแหละว่าต้องรู้ให้ไว ไหวให้ทัน และจัดเตรียมนโยบายและแผนงาน รวมทั้งมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เอาไว้สำหรับรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

เรื่องที่ 2 มาตรการเด็ดขาด ค่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ปกติไม่ได้สูงตลอดปี ค่านี้จะลดลงเมื่อภูมิอากาศมีสภาพลมแรง และสารมลพิษถูกพัดพาให้กระจายตัวไปได้มากและเร็ว ค่า PM2.5 จะสูงเป็นบางวันในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม และเมื่อมีค่าสูงในบางวันนั้นภาคราชการก็จะออกประกาศเตือนให้ประชาชนอยู่ในบ้าน(ไม่น่าเวิร์ก เพราะคนมันต้องออกจากบ้านไปทำธุรกิจและภารกิจ รวมทั้งคุณภาพอากาศในหลายบ้านแย่กว่าอากาศภายนอกเสียอีกด้วยซ้ำ), ให้ประชาชนใช้หน้ากากป้องกันมลพิษแบบ N95 ที่ละเอียดมาก(ไม่เวิร์ก เพราะหายใจไม่สะดวกเรียกว่าไม่ได้เลยก็คงไม่ผิดนัก), งดการออกกำลังกายนอกบ้าน(ข้อนี้อาจพอได้ แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาจริง) ฯลฯ

รวมทั้งภาครัฐก็จะขอความร่วมมือไปยังผู้ก่อมลพิษอากาศทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การขับรถยนต์ การเผาเชื้อเพลิงในโรงงาน การเผาในที่โล่ง ซึ่งปรากฎว่าที่ผ่านมาหลายปีนั้นไม่มีผู้ใดให้ความร่วมมือเลย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่รุนแรงนี้จะมามัวขอแต่ความร่วมมือจากคนอื่นไม่ได้ รัฐนั้นแหละที่ต้องใช้มาตรการเด็ดขาดมาบังคับสถานเดียว จึงจะเวิร์ก

เรื่องที่ 3 มาตรการระยะสั้น จากการที่ได้พูดคุยและรับฟังเจ้าหน้าที่รัฐ พอจะสรุปได้ว่ามาตรการระยะสั้นที่ภาครัฐวางแผนไว้สำหรับต่อกรเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน คือค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน มีดังนี้

(1) ในสายวิชาการเราค่อนข้างเชื่อกันแล้วว่าสาเหตุหลักของ PM2.5 มาจากไอเสียของรถยนต์ดีเซล และควันพิษจากรถยนต์ไม่ว่าจะประเภทอะไรจะสูงขึ้นถ้าสปีดหรือความเร็วของรถยนต์ต่ำลง (ดูรูปที่ 1) ดังนั้นถ้าต้องการจะลดปัญหามลพิษอากาศ เราต้องทำให้การจราจรคล่องตัวและรถวิ่งได้เร็วขึ้น
(2) ห้ามจอดในที่ห้ามจอด, ตรวจจับรถควันดำอย่างเข้มงวด, ห้ามรถควันดำวิ่งบนท้องถนน, รถบรรทุกต้องมีผ้าใบคลุมมิดชิด ฯลฯ
(3) ประกาศให้รถเลขทะเบียนเลขคู่วิ่งได้เฉพาะวันคู่ และรถทะเบียนเลขคี่วิ่งได้เฉพาะวันคี่
(4) หากคุณภาพอากาศเลวลงไปอีก ให้ประกาศสั่งห้ามรถดีเซลวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นรถราชการหรือรถเอกชน

วามสัมพันธ์ระหว่างค่าตัวคูณการปลดปล่อยฝุ่นละอองจากยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลกับความเร็วของรถ
รูปที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างค่าตัวคูณการปลดปล่อยฝุ่นละอองจากยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลกับความเร็วของรถ

สี่เรื่องนี้กองบังคับการตำรวจจราจรต้องเป็นหน่วยงานที่รับเรื่องไป แต่สองเรื่องแรกเป็นเรื่องที่มีระเบียบมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว คงไม่ต้องรอให้มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน PM2.5 เกินมาตรฐาน ผู้คนหายใจไม่ออก และดราม่าล้นโซเชียลกระมังจึงจะมาลงมือทำ มันเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว ฉะนั้นสิ่งนี้ภาครัฐต้องนำไปปฏิบัติทันที ถ้าไม่ทำก็ขอให้มีคนใจกล้าฟ้องศาลด้วยมาตรา 157 ว่าด้วยการละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่กันสักทีเถิด ปอดของเราจะได้สะอาดกันเสียที

(5) ควบคุมและกำกับดูแลการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นอาคารหรือทางรถไฟไฟฟ้า ฯลฯ ในพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร มิให้มีการปล่อยฝุ่นออกมาเกินมาตรฐานที่กำหนด เช่นต้องใช้รั้วทึบ ต้องมีผ้าใบคลุม รถขนวัสดุ ต้องทำความสะอาดบริเวณก่อสร้าง ต้องล้างล้อรถขนวัสดุเข้าออก และห้ามก่อสร้างยามวิกาล ฯลฯ
(6) ทำความสะอาดถนน (อันนี้ไม่เวิร์กสำหรับ PM2.5 ได้อธิบายไว้ในเรื่องที่ 3 ตอน ๕
(7) เพิ่มพื้นที่สีเขียว (ข้อนี้มันต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีปัญหา PM2.5 หรือไม่มี)
(8) รณรงค์ให้ผู้ขายอาหารปิ้งย่างใช้เตาลดมลพิษ (ข้อนี้คงหน่อมแน้มไปเล็กน้อย แต่ก็ดี คือพยายามดูไปทุกมาตรการที่พอจะช่วยกันได้)

ข้อ (5)-(8) นี้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับหน้าเสื่อ แต่ก็อีกนั่นแหละทุกข้อนี้มันต้องทำอยู่แล้วโดยไม่เกี่ยวกับมีหรือไม่มีปัญหา PM2.5 ส่วนที่น่าจะเสริมเพิ่มจากมาตรการ 4 ข้อหลังนี้ คือมาตรการข้อ (9) ที่เราจะขอนำสนอเพื่อพิจารณา

(9) หากใช้มาตรการอื่นๆแล้วปัญหายังมิได้ลดลง ก็ต้องใช้มาตรการสั่งหยุดก่อสร้างทันที อาจจะเป็นการก่อสร้างในโครงการของรัฐก่อนเป็นอันดับแรก แล้วตามด้วยโครงการของเอกชนในลำดับต่อไป
(10) ควบคุมกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งโรงไฟฟ้าที่มีการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และระบบควบคุม มลพิษมิให้ปล่อยสารมลพิษเกินมาตรฐาน
(11) สั่งลดหรือหยุดการผลิต เมื่อเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นๆ

สองข้อล่าสุดนี้เป็นส่วนที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องเป็นผู้รับผิดชอบและบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายที่มีซึ่งต้องทำอยู่แล้วเป็นปกติวิสัย ไม่จำเป็นต้องรอจนเกิดเหตุฉุกเฉิน

(12) ประกาศห้ามประชาชนเผาขยะ สิ่งเหลือใช้หรือของเสียจากการเกษตร ฯลฯ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ข้อนี้กรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เกี่ยวข้อง คือ เทศบาลปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ต้องทำอยู่แล้วโดยไม่เกี่ยวกับมีหรือไม่มีปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5

ในมาตรการต่างๆเหล่านี้ มีข้อสังเกตคือ ส่วนใหญ๋มีกฎหมายรองรับอยู่แล้วและต้องปฏิบัติอยู่แล้ว แต่บางข้ออาจมีปัญหาที่เจ้าหน้าที่รัฐอาจมิกล้าสั่งการทันที เช่น ข้อ (3) ให้รถวิ่งวันคู่วันคี่, ข้อ (4) ห้ามรถดีเซลวิ่ง, ข้อ (9) สั่งหยุดการก่อสร้าง, ข้อ (11) สั่งโรงงานลดหรือหยุดการผลิต และข้อ (12) ห้ามประชาชนเผาขยะ เพราะติดที่ตัวบทกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของทางราชการ ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาให้ได้ทันท่วงทีก็จำเป็นต้องมีกฎระเบียบใหม่มารองรับ ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีหลังพิง และกฎระเบียบรวมทั้งขั้นตอนสั่งการที่เด่นชัดเหล่านี้ต้องเตรียมไว้ตั้งแต่บัดนี้ หากต้องอาศัยอำนาจบริหารของรัฐบาล เช่นจัดเป็นมติครม. ฯลฯ ก็ต้องทำ เพราะมิฉะนั้นเมื่อถึงเวลานั้น เราก็จะมาพูดถึงมาตรการสิบกว่าข้อนี้กันอีกครั้งและอีกครั้ง ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอย่างไรและปอดคนกรุงเทพก็ต้องพังกันต่อไป

โปรดสังเกตว่าผู้เขียนไม่ได้เอ่ยถึงกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เลยในเรื่องมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา เพราะสธ.ก็เหมือนภาคประชาชน คือเป็นผู้ถูกกระทำ ไม่ใช่เป็นผู้กระทำ ดังนั้นหากเราแก้ปัญหาโดยให้ผู้กระทำนั้นรับผิดชอบในการแก้ปัญหาจนสำเร็จได้ ผู้ถูกกระทำก็ไม่มีอะไรจะต้องทำอีกต่อไป และเราเชื่อในมาตรการป้องกันปัญหาแต่ต้นเหตุมากกว่ามาตรการการป้องกันปัญหา(ส่วนบุคคล)ที่ปลายเหตุ

เรื่องที่ 4 มาตรการระยะยาว มาตรการพวกนี้เป็นมาตรการระดับนโยบาย จึงจะขอเอ่ยถึงไว้เพียงสั้นๆ ในที่นี้ว่ามีอะไรบ้างดังนี้

(1) ต้องเปลี่ยนให้น้ำมันรถยนต์มีคุณภาพดีขึ้น โดยเปลี่ยนจากมาตรฐานยูโร 4 เป็นยูโร 5 และยูโร 6 ในที่สุด ยิ่งถ้าจะเป็นทางลัดโดยปรับจากยูโร 4 ไปเป็นยูโร 6 เลยก็น่าจะดีต่อประเทศเราเร็วขึ้นเท่านั้น
(2) ถ้าเปลี่ยนเป็นมาตรฐานยูโร 6 นั่นหมายถึงผู้ผลิตรถยนต์จะต้องปรับข้อกำหนดของเครื่องยนต์ตามมาตรฐาน* เช่นเครื่องยนต์ของรถยนต์ดีเซลต้องเป็นเครื่องยนต์ดีเซลสะอาด (clean diesel engine) สามารถปล่อย PM: Particulate Matter (ฝุ่นละอองทุกขนาดรวมกัน) ได้เพียง 5 มิลลิกรัมต่อกิโลเมตร จากข้อกำหนดยูโร 4 กำหนดให้ปล่อยได้ที่ 25 มิลลิกรัมต่อกิโลเมตร(2) และสำหรับเครื่องยนต์ของรถยนต์เบนซินจำกัดการปล่อย PM ที่ 4.5 มิลลิกรัมต่อกิโลเมตร (บังคับใช้เฉพาะเครื่องยนต์ direct injection) จากข้อกำหนดยูโร 4 เดิมที่ไม่มีการกำหนดค่าของ PM (3) นอกจากนี้ในมาตรฐานยูโร 6 ยังเพิ่มข้อกำหนดของจำนวนอนุภาคฝุ่นละออง (PN: Particulate Number) เป็น 6 x 1011 #/km (อนุภาคต่อกิโลเมตร) สำหรับเครื่องยนต์ทั้งประเภทดีเซลและเบนซิน
(3) รับรถขนส่งมวลชนทุกคัน ทั้งของรัฐและของเอกชน เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งไม่ปล่อยฝุ่นละอองและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง
(4) จัดให้มีระบบ NMT หรือ Non-Motorized Transportation ที่เป็นจริง ใช้งานได้ และสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้งาน จนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม ลดหรือเลิกการใช้รถยนต์ส่วนตัวที่ใช้เครื่องยนต์มาใช้รถทีไม่ใช้เครื่องยนต์ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน
(5) จัดทำผังเมืองที่บูรณาการ เอาประเด็นลดมลพิษอากาศเข้าไปในกระบวนการคิดและกระบวนการการทำงานรวมทั้งจัดวางผัง
(6) จัดเก็บภาษีมลพิษจากผู้ก่อให้เกิดมลพิษ

ซึ่งถ้าเราทำได้จริงทั้งหมด ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาวที่กล่าวมานี้อย่างเด็ดขาดและทันท่วงที เราก็คงจะมีอากาศที่มีคุณภาพที่เราสามารถหายใจกันได้เต็มปอด เหมือนที่เคยทำกันมาได้ในอดีต และเราภาวนาขอให้เป็นเช่นนั้นได้จริงในเร็ววัน

* มาตรฐานไอเสียรถยนต์นั่งและรถบรรทุกขนาดเล็ก Light Commercial Vehicles ≤1305 kg

ได้ที่ https://github.com/LILCMU/cmu-cleanair1

บทความที่เกี่ยวข้อง


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 95 กันยายน-ตุลาคมคม 2562 คอลัมน์ GREEN Article
โดย รศ. ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล, ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อมูลอ้างอิง:

รูปที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างค่าตัวคูณการปลดปล่อยฝุ่นละอองจากยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลกับความเร็วของรถ
ที่มา: สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา. “ฝุ่น PM2.5 แก้อย่างไรให้ตรงจุด.” ทางออกร่วมกันในการลดฝุ่นละออง PM2.5 ใน กทม., กรมควบคุมมลพิษ, 23 มีนาคม 2561.

เอกสารอ้างอิง:

(1) สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา. “ฝุ่น PM2.5 แก้อย่างไรให้ตรงจุด.” ทางออกร่วมกันในการลดฝุ่นละออง PM2.5 ใน กทม., กรมควบคุมมลพิษ, 23 มีนาคม 2561.
(2) สำนักงานคุณภาพเชื้อเพลิง. “น้ำมันยูโร 4 คืออะไร.” กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน. http://www.doeb.go.th/knowledge/data/uro_4.pdf (สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561).
(3) Williams, M. and R. Minjares. “A technical summary of Euro 6/VI vehicle emission standards.” The International Council on Clean Transportation. https://www.theicct.org/sites/default/files/publications/ICCT_Euro6-VI_briefing_jun2016.pdf (accessed April 10, 2018).


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save