ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม (โชควัลลภา) ชูระบบการจัดการพลังงานแบบยั่งยืน พร้อมส่งเสริมปาล์มไทยรักษ์โลก


          โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นหนึ่งในผู้นำในการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) และน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ (PKO) รายใหญ่ในประเทศไทย เป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil : RSPO เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตเป็น B100 แล้วนำไปผสมในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็นไบโอดีเซล ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้มี B100 ผสมในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 7% (เรียกว่า B7) เป็นการช่วยเหลือเกษตรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากพืช ช่วยทำให้ระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สะอาด ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กระบวนการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          พิพิธ คล้ายสมบัติ ผู้จัดการบริหารฝ่ายวิศวกรรม บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กระบวนการผลิตของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในขั้นตอนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ จะมีการนำเอาทะลายปาล์มสดมาอบ-นึ่งเพื่อยับยั้งเอนไซม์ตามธรรมชาติ ทำให้ขั้วผลปาล์มนิ่มหลุดร่วงจากทะลายได้ง่าย อีกทั้งทำให้เนื้อของผลปาล์มยุ่ยง่ายในการสกัดน้ำมัน จากนั้นจึงนำผลปาล์มเข้าเครื่องนวด เพื่อแยกผลปาล์มออกจากทะลายและถูกส่งต่อไปยังขั้นตอนย่อยผลปาล์ม และทะลายปาล์มเปล่าจะถูกนำเข้าเครื่องบีบทะลายปาล์มเพื่อลดความชื้น ซึ่งทะลายปาล์มเปล่าเหล่านี้ก็จะถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับการผลิต
ไอน้ำและกระแสไฟฟ้า อีกทั้งบริษัทฯ ยังนำทะลายปาล์มเปล่าไปใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุปรับปรุงดินอีกด้วย ในส่วนของเมล็ดปาล์มที่ได้ก็จะนำเข้าหม้อกวนปาล์ม เพื่อแยกส่วนที่เป็นเมล็ดในของปาล์มออก จากนั้นจึงนำเข้าขั้นตอนสกัดน้ำมันจากผลปาล์ม กรองและแยกน้ำมัน ทำให้กลายเป็นน้ำมันบริสุทธิ์ต่อไป

          และขั้นตอนสุดท้ายคือการขัดและแยกเมล็ด เพื่อนำเมล็ดในไปสกัดน้ำมันได้อีก หลังจากปั่นแห้งกากใยที่ได้จากการบีบน้ำมัน ใยปาล์มจะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนเมล็ดก็จะเข้าเครื่องขัดและแยกขนาดเล็ก-ใหญ่ จากนั้นก็จะเข้าเครื่องกระเทาะเมล็ดในปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะประกอบไปด้วยกะลาปาล์มและเมล็ดใน โดยจะแยกเมล็ดออกจากกะลาปาล์มด้วยการเข้าเครื่องกระเทาะกะลาให้แตก และแยกเศษกะลาออกจากเมล็ดในด้วยเครื่องแยก เศษกะลาที่ได้ จะถูกนำไปจำหน่าย เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ส่วนเมล็ดที่มีน้ำมันอยู่ก็เข้าสู่กระบวนการอบเมล็ดเพื่อเอาความชื้นออก และส่งต่อไปยังโรงงานสกัดน้ำมันจากเมล็ดในต่อไป

บำบัดน้ำเสียโรงงานด้วยการผลิตไบโอแก๊ส
          นอกจากจะมีกระบวนการผลิตที่ใช้ทุกวัสดุอย่างคุ้มค่าแล้ว ทางบริษัทฯ ยังมีโครงการไบโอแก๊สจากน้ำเสียในโรงงาน เพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้และจำหน่าย โดยร่วมกับ บริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งจะบำบัดน้ำเสียจากโรงงานแปรรูปผลิตผลด้านการเกษตร เพื่อใช้ผลิตก๊าซชีวภาพและนำกลับเข้าโรงงาน เพื่อใช้แทนที่พลังงานจากถ่านหิน น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา โดยใช้เทคโนโลยี Cover Lagoon ซึ่งก็คือ ระบบบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพชนิดหนึ่ง ที่อาศัยจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจนจากอากาศ หรือที่เรียกว่า Anaerobic Bacteria ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ภายใต้สภาวะไร้อากาศจากโครงสร้างบ่อที่เป็นระบบปิด ซึ่งคลุม
ด้วยแผ่นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นและกันน้ำ เพื่อทำหน้าที่สร้างภาวะไร้อากาศ และช่วยกักเก็บก๊าซจากกระบวนการย่อยสลายของแบคทีเรีย ซึ่งระบบนี้สามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านกายภาพ ชีวภาพ และเคมี กล่าวคือ ช่วยลดความขุ่น, กลิ่น, สี, ลดค่า BOD และ COD นอกจากนี้ยังได้ก๊าซชีวภาพเป็นผลพลอยได้ ซึ่งประกอบด้วย ก๊าซมีเทน (CH4), ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S), ก๊าซแอมโมเนีย (NH4) และไอน้ำ (H2O) ฯลฯ ซึ่งก๊าซชีวภาพนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านพลังงานได้ เมื่อทำการกรองก๊าซที่ไม่ต้องการออกไปก่อน การผลิตก๊าซชีวภาพดังกล่าว สามารถลดมลพิษทางน้ำและอากาศในชุมชน ผลิตพลังงานทดแทนและไฟฟ้า และบรรเทาสภาวะโลกร้อนโดยการกักเก็บมีเทน นอกจากนี้ยังมั่นใจได้ว่า โครงการสามารถป้องกันการปนเปื้อนของน้ำเสียจากโรงงานตามแหล่งน้ำธรรมชาติของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          “เมื่อก่อนโรงงานปาล์มส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีผลิตไบโอแก๊สจากแท็งก์ หรือเรียกว่า CSTR แต่เนื่องจากว่าปริมาตรของแท็งก์นั้นจำกัด น้ำเสียจากสวนปาล์มไม่สามารถเข้าไปอยู่ในแท็งก์ได้ทั้งหมด เราจึงดีไซน์ในส่วนของ Cover Lagoon ซึ่งเราได้ไปดูเทคโนโลยีของโรงงานแป้ง และฟาร์มหมู ที่เขาทำไบโอแก๊สมา ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบ่อดิน เราก็มาลองใช้กับการบำบัดน้ำเสียของเราด้วย หลังจากนั้นโรงงานปาล์มทั้งประเทศก็จะใช้เทคโนโลยีนี้ทั้งหมด ซึ่งเป็นบ่อดินแบบปิดเมื่อเราได้ไบโอแก๊สแล้ว ก็นำไปผลิตไฟฟ้า เรามีเครื่องยนต์ที่เป็น Gas engine โดยเอาแก๊สมาเป็นเชื้อเพลงในการปั่นไฟ ถ้านับเฉพาะที่โรงงานนี้ก็ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 2.8 เมกะวัตต์ ถ้ารวมสาขาอื่นด้วยก็ผลิตได้ประมาณ 5.8 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส เราจำหน่ายให้การไฟฟ้าเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง เพราะในเราผลิตไฟฟ้าจากกากใยของทะลายปาล์มใช้เองในโรงงานอยู่แล้ว” พิพิธ กล่าว

ส่งเสริมปาล์มไทยรักษ์โลก
          ประเด็นที่การปลูกปาล์มบางพื้นที่ที่ทำให้เกิดการถางป่าและบุกรุกผืนป่า ทำให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพาะปลูกเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด จนรัฐบาลเยอรมนีได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการรับรองแหล่งที่มีของการผลิตน้ำมันปาล์มที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มมาตรการกีดกันผู้ส่งออกที่ละเลยการผลิตที่ยั่งยืน โดยมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นสองประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎดังกล่าว ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นอย่างมาก รวมทั้งประเทศไทย
ทางบริษัทฯ จึงมีการส่งเสริมและริเริ่มการปลูกปาล์มด้วยกระบวนการปลูกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้ประโยชน์จากทะลายปาล์มในการนำไปปรับหน้าดิน เพราะทะลายเปล่าปาล์มจะช่วยรักษาความชื้นของดิน อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีในการผลิตปุ๋ยด้วยทะลายปาล์ม เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการเพาะเลี้ยงต้นกล้า ทั้งประหยัดค่าใช้จ่าย และไร้สารเคมี
          ในเรื่องของศัตรูพืช สวนปาล์มก็จะประสบปัญหาจากหนูและกระรอก ที่กินเมล็ดปาล์ม ทางบริษัทฯ จึงเลือกใช้กลวิธีทางธรรมชาติในการกำจัดศัตรูของปาล์มน้ำมัน คือการเลี้ยงนกแสกเพื่อไล่หนู ซึ่งนกแสก 1 ตัวจะกินหนูได้ประมาณ 3 ตัวต่อคืน ซึ่งหลังจากได้ลองใช้วิธีนี้แล้ว ปรากฏว่าลดการใช้สารเคมีในการกำจัดหนูได้ค่อนข้างมาก และบริษัทฯ ยังได้เพาะเลี้ยงนกแสก เพื่อส่งต่อให้เกษตรกรนำไปกำจัดหนูในสวนปาล์มของตนเองด้วย
          “ความจริงแล้ว การปลูกปาล์มในไทยไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างที่คิด อย่างบริษัทเราเอง นอกจากจะทำทุกอย่างไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังพยายามนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นของเสีย หรือขยะ และน้ำเสียที่มาจากกระบวนการผลิต เรานำมาต่อยอดได้หมด รวมไปถึงการปลูกปาล์ม เรามีขั้นตอนทุกอย่างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้มากเท่าที่ควร ปาล์มไทยจึงถูกเหมารวมเอาว่าอาจจะเป็นเหมือนประเทศอื่นๆ ที่ถูกกีดกัน ดังนั้น เราควรช่วยกันสนับสนุนปาล์มไทย และช่วยกันบอกกล่าวประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้” พิพิธ กล่าวทิ้งท้าย

          โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งต้นแบบโรงงานที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของการจัดการระบบพลังงานทั้งของในโรงงาน และแปรรูปเป็นรายได้เสริม อีกทั้งยังใส่ใจในระบบการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การดูแล จนถึงการนำมาสกัดน้ำมัน ทุกขั้นตอนล้วนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และยืนยันว่ากระบวนการปลูกปาล์มน้ำมันไทย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน…


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save