กรุงโซล – เกาหลีใต้ : รายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก [1] [2] ระบุว่า ภายในปีพ.ศ. 2573 การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมแนวชายฝั่งในสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชียอาจนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 724,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
คิม มีกยอง ผู้จัดการโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าวว่า
ภายในทศวรรษนี้ เมืองที่อยู่ติดชายฝั่งในเอเชียจะมีความเสี่ยงสูงจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุที่เข้มข้นรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อบ้านเรือน ความปลอดภัย และวิถีชีวิตของผู้คน นอกจากเหลือเวลาไม่มากในการยุติโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องดาเนินการระบบบริหารจัดการน้ำท่วมและการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพิ่มมากขึ้น ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงเป้าหมายภายใต้แผนที่นำทางก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally determined contribution targets) นั้นไม่เพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากน้ำท่วมชายฝั่งในสภาวะสุดขีด
รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่าภายในปีพ.ศ. 2573 ประชาชนกว่า 15 ล้านคนใน 7 เมือง อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม การวิเคราะห์ครั้งนี้เป็นหนึ่งในการวิเคราะห์ครั้งแรกที่ใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความละเอียดสูงในการระบุถึงพื้นที่ของเมืองที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และขอบเขตของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลสำคัญหลักๆ จากรายงานระบุว่า
- ภายในปีพ.ศ. 2573 มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วมหากเกิดอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี [3] รวมถึงพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูงใจกลางเมือง
- กรุงจาการ์ตาเผชิญกับภัยคุกคามสองประการ ทั้งจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและแผ่นดินทรุด ราว 17% ของพื้นที่ทั้งหมดของจาการ์ตาซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ในปีพ.ศ. 2573 อาจถูกน้ำท่วมภายใต้สถานการณ์อุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ซึ่งจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 6.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
- พื้นที่ลุ่มต่ำทางตะวันออกรวมถึงแขวงโคโตซึ่งเป็น 1 ใน 23 แขวงพิเศษของกรุงโตเกียว (ประกอบด้วยเขตสุมิดะ โคโตะ อาดาจิ คัตสึชิกะและเอโดงาวะ) มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจจะเกิดขี้นจากน้ำท่วมชายฝั่งภายในปีพ.ศ. 2573 หรือคิดเป็น 10% ของ GDP รวมของกรุงโตเกียว
- ในกรุงไทเป สถานีกลางไทเปซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญที่สุดทางตอนเหนือของไต้หวัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเช่นเดียวกับเขตต้าถุงอันเก่าแก่ คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 24% ของ GDP รวมของกรุงไทเป
- เกือบ 87% ของพื้นที่กรุงมะนิลาเป็นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมซึ่งหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปีพ.ศ.2573 ผู้คนมากกว่า 1.54 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ารวม 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
“รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องยกเลิกแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในทันทีและเร่งการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เรากำลังเผชิญกับสภาวะฉุกเฉินของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น เราต้องเสริมสร้างการวางแผนจัดการภัยพิบัติและการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เมืองของเราหลายแห่งในเอเชียเสี่ยงต่อน้ำท่วม ซึ่งเราไม่อาจรอได้” คิม มีกยอง กล่าว
หมายเหตุ:
[1] ชุดข้อมูลระดับโลกเชิงพื้นที่ของ GDP (คิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อคิดตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing power parity หรือ PPP) จัดทำโดย Dr. Matti Kummu มหาวิทยาลัยอัลโต ฟินแลนด์
[2] นักวิจัยเลือกเมือง 7 แห่งในเอเชียที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและตั้งอยู่บนชายฝั่งหรือใกล้ชายฝั่งเพื่อวิเคราะห์ถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากน้ำท่วมชายฝั่ง (Coastal flooding) ในปี พ.ศ.2573 ตามภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นไปตามปกติ (Business as usual) หรือภาพฉายอนาคต RCP8.5 (RCP8.5 เป็น 1ใน 4 ของภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบใหม่ (Representative Concentration Pathway) หมายถึง สถานการณ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกช่วงปลายศตวรรษที่ 21 จะอยู่ระหว่าง 2.6-4.8 องศาเซลเซียส) ส่วนการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมาจาก Climate Central ถูกนามาวิเคราะห์ร่วมกับจานวนประชากรและข้อมูล GDP เพื่อคำนวณความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่ง
[3] ในรายงานนี้ คำว่า “อุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี (Ten-year flood) คือเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมชายฝั่งที่เกิดจากคลื่นพายุซัดฝั่งและระดับน้ำขึ้นสูงสุด โดยมีโอกาส 10% ต่อปีที่จะเกิดน้ำท่วมสูงเกินระดับน้ำทะเล
[4] รายงาน “ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแบบสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชียภายในปี พ.ศ.2573” https://www.greenpeace.org/static/planet4-eastasia-stateless/2021/06/966e1865-gpea-asian-cites-sea-level-rise-report-200621-f-3.pdf