GIZ – สผ. เผยผลสำเร็จจากโครงการสนับสนุนการจัดทำแผนปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ตลอด 6 ปี


กรุงเทพฯ – เมื่อเร็วๆ นี้ : โครงการสนับสนุนการจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติการจัดการความเสี่ยง (Risk-based National Adaptation Plan หรือ Risk-NAP) จัดการประชุมปิดโครงการฯ เพื่อฉลองความสำเร็จและขอบคุณหน่วยงานที่ร่วมมือในการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

โครงการ Risk-NAP ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการวางแผนและกำหนดนโยบายด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดต้นแบบการวางแผนนโยบายที่สำคัญ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาการประเมินความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติและแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยงานหลัก โดยโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล หรือ International Climate Initiative (IKI) กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU)

การดำเนินงานเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการทำงานเพื่อตอบรับกับแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายๆ เป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าที่ 13 การดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ

ในการประชุมในครั้งนี้มีหน่วยงานจากภาครัฐเข้าร่วมประมาณ 60 หน่วยงาน นอกเหนือจากการเน้นย้ำถึงความสำเร็จจากการทำงานร่วมกันแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้หารือถึงความท้าทายที่สำคัญที่พบในระหว่างการดำเนินงาน อีกทั้งตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ยังได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา ปรับปรุงแผน นโยบาย และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลา 6 ปี
สำหรับความสำเร็จที่สำคัญจากการดำเนินโครงการในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย

  • การบูรณาการในระดับประเทศ โครงการฯ ได้สนับสนุนการวิเคราะห์และบูรณาการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่แผนและนโยบายใน 3 สาขาที่สำคัญ ได้แก่ สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ โครงการฯ ยังได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ผ่านการประชุมระดับสูงและการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
  •  กลไกการเงินและการติดตามการดำเนินงานด้านการปรับตัวฯ โครงการฯ ได้ผนวกเกณฑ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การพิจารณาในระบบงบประมาณของประเทศและกองทุนสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนการวิเคราะห์เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการเงินสำหรับการดำเนินงานด้านการปรับตัวฯ ที่เสนอภายใต้ (ร่าง) กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการฯ ยังได้จัดทำกรอบแนวคิดการติดตามและประเมินผลด้านการปรับตัวฯ พร้อมกับดัชนีชี้วัดภูมิคุ้มกันในรายสาขาขึ้น เพื่อใช้ประเมินสถานการณ์มีภูมิคุ้มกันต่อภาวะกดดันจากสภาพภูมิอากาศของประเทศไท
  •  การบูรณาการในระดับพื้นที่ โครงการฯ ได้เริ่มกระบวนการวางแผนด้านการปรับตัวฯ ในพื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่ ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศตามภาพฉายอนาคตในสถานการณ์ต่างๆ การระบุพื้นที่เสี่ยงที่สำคัญ และการกำหนดทางเลือกในการปรับตัวฯ ซึ่งดำเนินการผ่านการมีส่วนร่วมจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสาขาการท่องเที่ยว การเกษตร การตั้งถิ่นฐาน สาธารณสุข ทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ ด้วยการสนับสนุนโครงการฯ ยังมีการเสริมสร้างการมีภูมิคุ้มกันและการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการพัฒนาร่วมกันของการวางแผนและวางกลยุทธ์แบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. และเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย

ดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น ก่อให้เกิดความเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยจึงจำเป็นจะต้องมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะหยุดยั้งความรุนแรงจากผลกระทบการจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ถูกบูรณาการเข้าไปในยุทธศาสตร์และนโยบายต่างๆ ทั้งในระดับชาติและแผนในรายสาขา

โครงการ Risk-NAP เข้ามาช่วยในการดำเนินงานโดยการปรับวิธีให้เข้าถึงปัญหาและบริบทของหน่วยงานร่วมดำเนินการในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่จนประสบความสำเร็จ และเชื่อว่าผลงานชิ้นนี้จะสามารถต่อยอดเป็นแนวทางสำคัญและต้นแบบในการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยต่อไปในอนาคตได้

เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดสามารถดำเนินงาน
ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมดได้ด้วยตนเอง สำหรับประเทศเยอรมนี ได้ก่อตั้งแผนงานปกป้องการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากลขึ้นในปี พ.ศ. 2551 เพื่อสนับสนุนเงินทุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาคาร์บอนต่ำและการมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงในปีพ.ศ. 2563 มีการอนุมัติโครงการด้านการปรับตัวฯ กว่า 135 โครงการ และอีก 62 โครงการที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการวางแผน
ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศภาคี สำหรับโครงการ Risk-NAP ในประเทศไทย เป็นหนึ่งในโครงการแรกๆ ที่เข้ามาดำเนินงานในด้านนี้

“ผมถือโอกาสนี้ ขอบคุณหน่วยงานของประเทศไทยที่ได้ร่วมมือกันดำเนินงานและให้ความไว้วางใจมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากการสนับสนุนสำหรับการวางแผนการปรับตัวฯ ที่ผ่านมาแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การหาทางแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริงและกลไกด้านการเงินสำหรับการปรับตัวฯ และเพื่อปิดช่องโหว่ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการวางแผนจนไปสู่การดำเนินการ” เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าว

มร.ไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าว่า โครงการ Risk-NAP เป็นตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นในการดำเนินงานโดยมีแนวทางและความร่วมมือที่หลากหลาย โดยโครงการฯ ได้สร้างความตระหนักให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถึงความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศไทยอาจต้องเผชิญ ซึ่งเป็นรากฐานที่จะทำให้รัฐบาลไทยมีการวางแผนที่ดีในทุกระดับ และสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อจัดการกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการดำเนินงานที่เหมาะสมในอนาคต การดำเนินงานของโครงการฯอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศนั้นจำเป็นต้องดำเนินงานอย่างเร่งด่วน จึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะส่งผลอย่างยั่งยืนและจะทำให้ชีวิตของคนไทยทั่วประเทศดีขึ้นต่อๆ ไป

มร.ไฮน์ริช กูเดนุส ผู้อำนวยการโครงการ Risk-NAP กล่าวว่า เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต เราจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในทุกระดับ และภาคประชาสังคมและเอกชน การพัฒนาฐานข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศก็มีความสำคัญเช่นกัน รวมทั้งจัดการกับความท้าทายด้านการเงินเพื่อการปรับตัวฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแก่นสำคัญของการสนับสนุนของโครงการ Risk-NAP ด้วยความเป็นผู้นำในการดำเนินงานของ สผ. และการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค ก็เป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญในเรื่องนี้”

ดร.อังคณา เฉลิมพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการด้านนโยบาย ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Policy) กล่าวว่า ในส่วนของโครงการ TGCP-Policy ซึ่งสนับสนุน สผ. ในการพัฒนานโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว รวมถึงการเสริมสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย (Enabling Conditions) ต่างๆ เราตระหนักดีถึงความตั้งใจของหน่วยงานภาคีของ สผ. ที่จะสานต่องานด้านการปรับตัวไปอย่างต่อเนื่อง และยินดีที่ทางโครงการฯ จะเป็นส่วนหนึ่งที่มาช่วยต่อยอดการดำเนินงานด้านการปรับตัวนี้ต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save