เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทในกลุ่มอมตะ ได้แก่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ภายใต้การดำเนินโครงการ “พัฒนาชุมชนด้านการจัดการน้ำและขยะอย่างยั่งยืน” ระยะที่ 2 ร่วมกับ 6 พันธมิตรภาครัฐ เอกชน ชุมชน และผู้ประกอบการภายในนิคมฯ ได้แก่ เทศบาลตำบลคลองตำหรุ องค์การบริหารส่วนตำบลคลองตำหรุ โครงการชลประทานชลบุรี สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี บริษัท อาควา นิชิฮาร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อขยายพื้นที่การพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำและขยะภายในนิคมอุตสาหกรรมรวมถึงชุมชนโดยรอบอย่างเป็นระบบ ณ อาคารอมตะเซอร์วิส เซ็นเตอร์ อมตะซิตี้ ชลบุรี
วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้เป็นโครงการต่อเนื่องระยะที่ 2 ที่บริษัทในกลุ่มอมตะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการในนิคมฯ ก่อตั้งและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาฟื้นฟูระบบการดูแลแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ขยะ คลองสาธารณะในชุมชนพื้นที่รอบนิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี อย่างจริงจังเพื่อใช้เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ก่อนถ่ายทอดสู่ชุมชนอื่นๆ รอบนิคมฯ ต่อไป โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะเพื่อขยายขอบเขตการพัฒนาได้อย่างเป็นระบบครอบคลุมครบทุกพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 – 2563 ในพื้นที่คลองรับน้ำ-คลองตำหรุ ของเทศบาลตำบลหนองไม้แดง เป็นพื้นที่กลางน้ำซึ่งเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำและขยะในพื้นที่ได้ดีขึ้นประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจ
ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างการดำเนินงานโดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2565 – 2566 โดยได้คัดเลือกพื้นที่คลองรับน้ำ-คลองหัวทองหลางซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลคลองตำหรุเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 เป็นพื้นที่ปลายน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล ปัจจุบันขาดการบำรุงรักษาส่งผลให้เกิดน้ำเน่าเสียสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง และระยะที่ 3 อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลเพื่อการศึกษาซึ่งคาดว่าจะดำเนินการในพื้นที่ต้นน้ำ ได้แก่ พื้นที่ตำบลพานทอง-หนองกะขะเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในแผนการสร้างชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการน้ำและขยะอย่างยั่งยืน
“ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นเพียงอีกก้าวหนึ่งในพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมของบริษัทในกลุ่มอมตะ ซึ่งมีเป้าหมายในการก้าวสู่ระดับเวิลด์คลาสหรือการเดินตามแผนการพัฒนาความยั่งยืนควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals : UN SDGs) โดยไม่ทิ้งภาระเรื่องของการดูแลแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับคนในชุมชน ซึ่งตรงตามหลักปรัชญาของอมตะคือ All Win ที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มจะต้องก้าวเดินไปข้างหน้าได้พร้อมกันและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข” วิบูลย์ กล่าว
ชูชาติ สายถิ่น กรรมการผู้จัดการบริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า โครงการพัฒนาชุมชนด้านการจัดการน้ำและขยะอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นทีความร่วมมือระหว่าง ภาคเอกชน ชุมชนท้องถิ่น และ หน่วยงานภาครัฐ โดยนำเอาเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ มาใช้เป็นแนวทางการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ที่อยู่ภายในและโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะเพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น โดยใช้องค์ความรู้ เครื่องมือ เทคโนโลยี และประสบการณ์ที่อมตะมีทั้งด้านการบริหารจัดการน้ำและขยะของนิคมฯมาร่วมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชน เริ่มจากศึกษาหาแหล่งกำเนิดน้ำเสียเพื่อกำจัดได้อย่างถูกวิธี พัฒนาคุณภาพน้ำในคลอง และ ให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการขยะในชุมชน รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบพื้นที่คลองตำหรุ เป็นต้น
อัครเรศร์ ชูช่วย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้บริษัทฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างยั่งยืนพร้อมสำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการขยะให้กับชุมชนอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต ภายใต้ขอบข่ายงานการจัดอบรมให้ความรู้สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการจัดการขยะชุมชนให้กับเจ้าหน้าที่ของเทศบาลฯ ประชาชนทั่วไป โดยคาดหวังให้เกิดการจัดการขยะตามหลัก 3Rs การลดการใช้ (Reduce), การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse), การนำมากลับมาใช้ใหม่ (Recycle) มีการจัดการที่ดีซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของความสำเร็จในการบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อิฏฐาทรัพย์ อายุเจริญ นายกเทศมนตรีตำบลคลองตำหรุ กล่าวว่า ในฐานะผู้นำท้องถิ่นซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลคลองตำหรุยินดีและพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนในชุมชนก่อให้เกิดการบรูณาการการแก้ไขปัญหาและพัฒนาไปด้วยระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและชุมชน รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำและขยะให้แก่หน่วยงานในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี คาดหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป