ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ เผยว่า ได้เตรียมการจะทดลองฉีดพ่นสารเคมีในชั้นบรรยากาศโลกในปี ค.ศ. 2019 เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้สารบางชนิดสะท้อนแสงอาทิตย์ให้กลับคืนสู่อวกาศซึ่งคาดว่าจะทำให้โลกเย็นลงและบรรเทาความรุนแรงของภาวะโลกร้อน
มีการเปิดเผยถึงโครงการวิจัยดังกล่าวในวารสาร Environmental Research Letters เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์ของฮาร์วาร์ดเสนอให้ฉีดพ่นสารจำพวกละอองลอยซัลเฟต (Sulfate Aerosol) ปริมาณหลายล้านตันในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) เพื่อให้ลดความร้อนแรงของแสงอาทิตย์ลงได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับความจำเป็นของมนุษย์ที่ต้องเร่งแก้ไขภาวะโลกร้อนในขั้นวิกฤตให้ได้อย่างเร่งด่วน
การทดลองนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ SCoPEx ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งมุ่งหาหนทางยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตามหลักการ “วิศวกรรมโลก” (Geoengineering) โดยมนุษย์ใช้เทคโนโลยีเข้าแทรกแซงและควบคุมระบบภูมิอากาศของโลกในวงกว้าง เพื่อหยุดยั้งภัยพิบัติที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในทุกปี
ทีมผู้วิจัยอ้างว่า การใช้ฝูงบินของเครื่องบินที่ออกแบบมาเป็นพิเศษออกปฏิบัติการฉีดพ่นสารเคมีสะท้อนแสงอาทิตย์เป็นระยะนับหลายพันครั้งต่อปีนั้น มีความเป็นไปได้สูงในทางปฏิบัติ และมีต้นทุนตํ่าพอที่ชาติต่างๆ จะร่วมกันแบกรับภาระทางการเงินนี้ได้ โดยประมานการว่ามีค่าใช้จ่ายตกปีละ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ทั่วโลกใช้พัฒนาพลังงานสีเขียวอยู่แล้วถึงปีละ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการทดลองขั้นต้นนี้ จะใช้บอลลูนนำสารแคลเซียมคาร์บอเนตหรือหินปูนที่อยู่ในรูปของควันละอองลอย ขึ้นไปฉีดพ่นที่ระดับความสูงราว 20 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก โดยจะยังใช้สารดังกล่าวในปริมาณไม่มากนัก จากนั้นบอลลูนจะบินตรวจตราภายในกลุ่มควันละอองลอยดังกล่าวเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของอนุภาคละอองลอยและความเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
นักวิทยาศาสตร์บางส่วนมองว่า แม้ในอนาคตจะพบว่าวิธีการนี้ใช้ได้ผลและไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ก็เป็นเพียงทางเลือกเสริมในการลดโลกร้อนเท่านั้น เพราะมนุษย์ยังคงต้องจัดการกับต้นเหตุของปัญหาที่ยังไม่ถูกขจัดไป นั่นก็คือการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศที่ไม่มีวี่แววว่าจะลดลง นอกจากนี้ การฉีดพ่นสารเคมีลดโลกร้อนยังไม่ช่วยแก้ไขผลพวงจากการปล่อยคาร์บอน เช่นการที่นํ้าทะเลมีสภาพเป็นกรดได้
ที่มา: www.bbc.com
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 91 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 คอลัมน์ GREEN World โดย กองบรรณาธิการ