นักวิจัย มจธ.พบนกยูงในป่าอนุรักษ์ จ.พะเยา 4,000-5,000 ตัว เร่งหน่วยงานอนุรักษ์ และวางเป้าหมายจัดทำแผนที่นกยูงทั่วประเทศ


นกยูงไทย หรือนกยูงเขียว (green peafowl) จัดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของไทย และจัดอยู่ในบัญชี IUCN Red List สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species)

นกยูงพบเห็นได้ทั่วๆ ไปในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ของประเทศไทยทั้งภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือที่พบเป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดทำการสำรวจและวิจัยจำนวนประชากรนกยูงอย่างละเอียดว่าแต่ละพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีจำนวนประชากรนกยูงจำนวนเท่าไหร่

ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ทำการวิจัยและสำรวจประชากรนกยูงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จังหวัดพะเยา ผลวิจัยพบว่ามีจำนวนประชากรนกยูง มากถึง 4,000-5,000 ตัว นับได้ว่ามีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากข้อมูลก่อนหน้านี้มีการวิจัยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบจำนวนนกยูง 400-500 ตัวเท่านั้น

ธนานันท์ โชติประเสริฐคุณ

คุณธนานันท์ โชติประเสริฐคุณ นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้ทุนพัฒนางานวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี ประจำปี 2562 ได้ทำการวิจัยเรื่อง ‘สถานภาพและการแพร่กระจายของนกยูงในภาคเหนือประเทศไทย : เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการจัดการระดับชุมชน’ โดยเป็นการศึกษาสถานภาพการกระจายและประชากรของนกยูงทางภาคเหนือของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดพะเยา ซึ่งการศึกษานี้จะช่วยให้ทราบขนาดจำนวนประชากรที่แน่นอนของนกยูง เพื่อนำไปสู่การจัดการดูแลสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จำนวนประชากรนกยูง และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างเกษตรกรในพื้นที่

โดยเป็นการวิจัยใน 3 พื้นที่เขตอนุรักษ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ อ.จุน จ.พะเยา และ อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง จ.พะเยา พื้นที่วิจัยทั้งหมดประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นหย่อมป่า มีชุมชนคั่นกลางระหว่างป่า จะมีเพียงพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอเท่านั้นที่มีสภาพยังเป็นผืนป่า

พื้นที่เขตอนุรักษ์

ธนานันท์ กล่าวว่า การวิจัยนับจำนวนประชากรนกยูงเป็นงานวิจัยครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดพะเยา เพื่อสำรวจประชากรนกยูง ซึ่งผลจากการสำรวจเราพบจำนวนประชากรนกยูง มากถึง 4,000-5,000 ตัว โดยหนาแน่นมากที่สุดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ

“นกยูงเป็นดัชนีชี้วัดว่า บริเวณผืนป่าที่มีนกยูงอาศัยอยู่เป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีระบบนิเวศที่เหมาะสำหรับสัตว์ป่าและพืช” ธนานันท์ กล่าว

ทั้งนี้ นกยูงจะชอบอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าเต็งรัง ป่าสน จำพวกป่าเบญจพรรณ และเป็นสัตว์ที่เหมือนกลุ่มไก่ จะออกหากินช่วงเช้าและบ่ายตามชายป่า และตามชายหาดริมลำธาร กลางคืนจับคอนนอนตามกิ่งไม้ที่ค่อนข้างสูง อาหารที่กิน ได้แก่ เมล็ดพืช ธัญพืช ผลไม้สุกที่หล่นตามพื้น ยอดอ่อนของหญ้า นอกจากนี้ยังชอบกินแมลง ตัวหนอน ไส้เดือน งูและสัตว์ขนาดเล็ก นกยูงมักพบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ ตัวผู้หนึ่งตัวต่อตัวเมีย 3-5 ตัวในฤดูผสมพันธุ์ หลังจากนั้นตัวผู้จะอยู่ตัวเดียว ตัวเมียจะอยู่ดูแลลูกๆตามลำพัง เวลาผสมพันธุ์ตัวผู้ ก็จะหาลาน ที่กว้างๆ เปิดโล่ง เพื่อที่จะรำแพนหางหาคู่ เพื่อจับคู่ผสมพันธุ์

นกยูง

การสำรวจทำในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ของนกยูง ตัวผู้ที่จะลงมาหาลานกว้าง เพื่อรำแพนหาง ส่งเสียงร้อง เรียกตัวเมียให้มาผสมพันธุ์ ซึ่งช่วงผสมพันธุ์นกยูงจะส่งเสียงร้องนานกว่าช่วงเวลาปกติ เพราะต้องการที่จะดึงดูดตัวเมีย ทำให้ง่ายต่อการเก็บข้อมูล ทีมวิจัยใช้วิธีการสำรวจและประเมินประชากรที่เรียกว่า Distance Sampling เป็นการใช้ระยะทางและโอกาสในการพบเห็นประชากรนกยูง และบันทึกชนิดของสัตว์ เสียงร้องของนกยูง บันทึกมุม บันทึกองศา จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ความหนาแน่นของประชากรด้วยโปรแกรมเฉพาะทาง

โดยวางเส้นสำรวจจำนวน 48 เส้น ใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติดอยภูงาม จำนวน 18 เส้นทาง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ จำนวน 18 เส้นทาง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ จำนวน 12 เส้นทาง ซึ่งเลือกให้กระจายครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ โดยเส้นสำรวจแต่ละเส้นมีความยาว 2-3 กิโลเมตร ทำการเดินสำรวจ 2 ช่วงเวลา ในช่วงเช้าเวลา 06.30-08.30 น. และช่วงเย็นเวลา 16.30-18.30 น.

นกยูง

ธนานันท์ กล่าวเสริมว่า ในงานวิจัยประชากรนกยูงเบื้องต้น ยังคงพบความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างนกยูงและชุมชน ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งมานานหลายปี เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน และการขยายพื้นที่เกษตรกรรม รุกเข้าไปในพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกยูง ทำให้นกยูงออกมาใช้พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน มากินผลผลิตของชาวบ้าน เช่น เมล็ดข้าว ข้าวโพด ลำไย เป็นต้น ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ และน่าจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้จากข้อมูลของชาวบ้านระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและนกยูง มีระยะเวลานานหลายปี และมีการจัดการไล่นกยูงไม่ให้มากินพืชผลในหลายรูปแบบ ทั้งการจุดประทัดไล่ การยิงปืนไล่ เป็น ก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อนักอนุรักษ์ว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อจำนวนประชากรนกยูง และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตหรือไม่

นกยูง

แนวความคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่างนกยูงกับชุมชนโดยการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ริเริ่มขึ้นโดยคนในชุมชน “ชุมชนต้นแบบรักษ์นกยูงไทย” ในพื้นที่ข่วงนกยูง 69 ตำบลห้วยข้าวก่ำ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ในพื้นที่แปลงเกษตรของชาวบ้านหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 9 จัดให้มีการดูนกยูง และทำซุ้มดูนกยูงในปี 2560 และได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยพะเยา เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุสัตว์เวียงลอ และทางอำเภอจุน

หลังจากนั้น เทศกาลนับนกยูงก็มีขึ้นทุกปี โดยจัดในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงมีนาคมของทุกปี สำหรับพื้นที่ดูนกยูงมี 4 จุด ใน 5 ชุมชนของอำเภอจุน คือ ข่วง 69, ข่วงกิ่วแก้ว, ข่วงบ้านเซียะ, ข่วงนกยูงศรีเมืองชุม โดยนกยูงที่ลงมา 2 ช่วง คือมาหาอาหารในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ข้าวออกรวง และลงมาหาพื้นที่ในการผสมพันธุ์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ในฤดูกาลแห่งความรักของนกยูงที่เรียกว่า ‘รำแพน’

ผลที่ตามมาจากการจัดท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ก็ทำให้เกิดรายได้กับชุมชน มีโฮมสเตย์ การขายพืชผลการเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวกับนกยูงได้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีชุมชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงจะได้มีการทำความเข้าใจและขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศก็ต้องตั้งอยู่บนความรับผิดชอบ คือไม่ไปรบกวนสัตว์และพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์

นกยูง

ธนานันท์ กล่าวต่อว่า หลังจากงานวิจัยออกเผยแพร่ตนหวังว่าจะก่อให้เกิดความตระหนัก และเกิดการอนุรักษ์ แม้นกยูงจะทำให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลก็จริง แต่ชุมชนก็สามารถที่จะอยู่ร่วมกันกับนกยูงได้ โดยการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ ก็สามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ในเรื่องของการอนุรักษ์และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อนกยูงได้ เช่น ถ้าทราบว่าพื้นที่ตรงนี้มีจำนวนประชากรนกยูงจำนวนมาก ควรจะมีนโยบายที่เข้มงวดต่อพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นต้น

ในปี 2564 สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มีโครงการสำรวจประชากรนกยูงที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอนาคตจะเพิ่มพื้นที่สำรวจที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชาวบ้านว่า พบนกยูงตามแนวตะเข็บชายแดน บริเวณพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีษะเกษ และหากมีการสำรวจจำนวนประชากรนกยูงครบทั้งประเทศ น่าจะมีหน่วยงานจัดทำแผนที่นกยูงในประเทศไทยเพื่อการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save