บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR หนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ที่ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 22,000 ตันอ้อยต่อวัน เปิดหีบอ้อยประมาณ 120 วันต่อหนึ่งฤดูหีบอ้อย หรือคิดเป็นปริมาณอ้อยประมาณ 2.3 ล้านตัน มีกากอ้อยเหลือจากกระบวนการผลิตปีละมากกว่า 750,000 ตัน จึงใช้เงินลงทุนรวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท จัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชีวมวลขึ้น 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าบริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และ โรงไฟฟ้าบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) โรงไฟฟ้าภายในบริเวณเดียวกับโรงงานน้ำตาลเพื่อนำกากอ้อยมาผลิตไอน้ำและไฟฟ้า กำลังการผลิตไอน้ำรวม 185 ตัน/ชั่วโมง ส่งไอน้ำแรงดันสูงไปผลิตไฟฟ้า กำลังการผลิตรวมทั้ง 2 โรง 19.8 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ 16 เมกะวัตต์ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้สัญญา VSPP แบบ Non-Firm และส่งไฟฟ้าและไอน้ำบางส่วนกลับไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาลเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต
สำหรับโรงไฟฟ้า BEC นั้น มีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงหลัก และยังสามารถใช้ไม้สับ ใบอ้อย และแกลบ เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย BEC จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ กฟภ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ และใช้ภายในโรงงาน 1.9 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า BEC ตั้งอยู่บนพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ เพื่อความสะดวกในการนำกากอ้อยที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาใช้เป็นเชื้อเพลิง และสะดวกในการจ่ายไฟฟ้า
ส่วน BPC นั้นเป็นโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ของกลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ มีกำลังการผลิตติดตั้งจำนวน 9.9 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 100 ตัน/ชั่วโมง ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงหลัก ใช้ไม้สับและใบอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าเช่นเดียวกับ BEC อีกทั้งโรงไฟฟ้า BPC ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า BEC และโรงงานน้ำตาล BSF เพื่อความสะดวกในการขนส่งกากอ้อยที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายให้แก่ กฟภ. ซึ่ง BPC ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟภ.ในระบบ Feed-in-Tariff (FiT) ที่ปริมาณพลังงานไฟฟ้าสูงสุด 8 เมกะวัตต์ ที่ระบบแรงดัน 22,000 โวลต์ โครงการดังกล่าวมีขนาดเนื้อที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 46.96 ไร่ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ พื้นที่โรงไฟฟ้า พื้นที่บ่อกักเก็บน้ำดิบ พื้นที่สีเขียว พื้นที่ก่อสร้างสำนักงาน และอาคารเก็บเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ออกแบบและบริหารจัดการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ ดำเนินการผลิตสอดคล้องกับรอบการผลิตและการใช้พลังงานของโรงงานน้ำตาล โดยใช้กากอ้อย 1,200-1,400 ตัน/วัน ในฤดูหีบอ้อย และใช้กากอ้อยที่เก็บรวบรวมไว้ 900-1,050 ตัน/วัน นอกฤดูหีบอ้อย เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อไอน้ำ ผลิตไอน้ำแรงดันสูง 40 Bar อุณหภูมิ 150-500 oC ไฟฟ้าส่วนที่เหลือนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, ใช้เองภายในโรงงานไฟฟ้า และส่งส่วนหนึ่งไปใช้งานภายในโรงน้ำตาล ซึ่งไอน้ำที่ใช้ผลิตไฟฟ้าแล้วจะมีความดันต่ำลงแต่ยังคงมีความร้อน จึงสามารถนำกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงานน้ำตาลได้ ถือเป็นการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ส่วนเงินลงทุนรวมสำหรับโรงไฟฟ้าทั้งสองโรง ประมาณ 1,089 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าปีละ 100,000 MWh และไอน้ำมากกว่า 1.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารายได้จากการจำหน่ายพลังงานมากกว่า 70 ล้านบาท/ปี ทำให้มีผลตอบแทน (IRR) ประมาณ 22% และมีระยะเวลาคืนทุนประมาณไม่เกิน 5 ปี โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชีวมวล ของ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน (BEC) จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์ จำกัด (BPC) ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) จากการประกวด Thailand Energy Awards ประจำปี ค.ศ. 2017 และ ค.ศ. 2018 และทั้ง 2 โรงยังได้รับคัดเลือกส่งเข้าร่วมการประกวด ASEAN Renewable Energy Project Competition ประเภท Cogeneration ด้วย โดย BEC เข้าร่วมการประกวดปี ค.ศ. 2017 และได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วน BPC ได้รับคัดเลือกส่งเข้าร่วมการประกวดปี ค.ศ. 2018 อีกด้วย