ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องให้ความใส่ใจเพราะเป็นขยะประเภทที่ย่อยสลายได้ยากสร้างปัญหาให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง จะเห็นได้จากการตื่นตัวกระแสรักษ์โลก แม้แต่ประเทศไทยต่างให้ความสำคัญและอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นทั้งในประเทศไทยและในโลก
การบริหารจัดการขยะพลาสติกที่จำเป็นต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อโลกอนาคตนั้น หน่วยงานภาครัฐจะต้องกำหนดนโยบายมาตรการให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้เร่งเดินหน้าเฟ้นหานวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการขยะพลาสติก 5 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมการจัดเก็บขยะพลาสติก นวัตกรรมการคัดแยกขยะพลาสติก นวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติก นวัตกรรมการกำจัดขยะพลาสติก และการสร้างความมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะพลาสติก จึงนำมาซึ่งการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการออกแบบโครงการด้านการบริหารจัดการขยะพลาสติก ร่วมกับ Phoenixict Co., Ltd. – Sinwattana Crowdfunding เพื่อดึงดูดผู้ที่มีแนวคิดและไอเดียการออกแบบนวัตกรรมที่มุ่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้มีโอกาสนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้เพื่อรับสนับสนุนเงินทุน และนำโครงการไปต่อยอดเพื่อสังคมได้ในอนาคต และในปีนี้เตรียมเดินหน้าโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน City & Community Innovation Challenges
สำหรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะพลาสติกที่จำเป็นต้องนำมาใช้แก้ปัญหา ได้แก่ นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรีไซเคิล และเป็นวิธีการแก้ปัญหาพลาสติกเหลือทิ้งที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยเป็นการนำขยะมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เป็นสิ่งใหม่ โดยไม่สร้างขยะกลับคืนสู่วงจรขยะพลาสติกอีกครั้ง เช่น การนำมาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์สำนักงาน สินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นต้น พลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติหรือไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์และแบคทีเรียตามธรรมชาติโดยผลิตจากวัตถุดิบที่สามารถผลิตทดแทนขึ้นใหม่ได้ในธรรมชาติ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ มีคุณสมบัติในการใช้งานใกล้เคียงพลาสติกจากปิโตรเคมีแบบดั้งเดิม และจะกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ 100% นวัตกรรมเพื่อการจัดการไมโครพลาสติก โดยไมโครพลาสติกถือเป็นพลาสติกขนาดเล็กและมองไม่เห็น ซึ่งมักจะปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ทะเล และกลายเป็นอาหารสัตว์ตามที่ปรากฏในข่าวสาร
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยที่ผู้ประกอบการและต้นทางในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องควรให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง ด้วยการหาวัสดุทดแทนหรือมีกระบวนการจัดการที่รัดกุมเพื่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ดีขึ้นทั้งระบบ และ การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นพลังงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมโดยสามารถนำขยะพลาสติกที่มีอยู่จำนวนมหาศาลมาแปรรูปให้เป็นพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ และการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบนี้ยังจะช่วยลดต้นทุนในกิจกรรมดังกล่าว พร้อมสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย
คุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ผลจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มีนวัตกรรมด้านการจัดการขยะพลาสติกที่เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เช่น นวัตกรรมการบริหารจัดการขยะชุมชน มาใช้ในการผลิตวัสดุก่อสร้างที่มีมวลรวมน้ำหนักเบา นวัตกรรมเครื่องอัดขยะในครัวเรือน แอพพลิเคชั่น Recycle Day เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลในการคัดแยกขยะ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกลุ่มผู้รับซื้อของเก่ากับกลุ่มผู้ที่ต้องการขายของเหลือใช้ที่จะช่วยให้สะดวกสบายมากขึ้น ตลอดจนนวัตกรรมเครื่องผลิตเชื้อเพลิงสำหรับเผาศพจากขยะพลาสติกชุมชน และในปี 2563 นี้ จะเดินหน้าโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งเฟ้นหานวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติก”
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาโดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างได้เสนอความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างหลากหลาย จึงเป็นอีกหนึ่งเวทีในการสร้างความมีส่วนร่วมบริหารจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 97 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 คอลัมน์ GREEN Scoop โดย กองบรรณาธิการ