เมื่อปี พ.ศ. 2544 บริเวณเขตอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่เกิดเหตุการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ทำให้มีความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรณ์เป็นจำนวนมาก ภาครัฐจึงจัดตั้งโครงการป่าชุมชนขึ้นเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในเขตอุทยานเแห่งชาติเวียงโกศัย จังหวัดแพร่
ป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง มีเนื้อที่ 389 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 2 ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ได้ดำเนินการป่าชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างดี ในปี พ.ศ. 2562 ทางอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย กรมป่าไม้ จึงได้ส่งโครงการป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง เข้าประกวดในโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2562 ของบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลชนะเลิศดีเด่นด้าน “ป่าชุมชน : สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง
ส่วน นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน บริษัทฯ ริเริ่มและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่า บริษัทฯ เชื่อว่า “ป่าชุมชน” เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่าจนสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศได้… สำหรับป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง ได้รับรางวัลชนะเลิศดีเด่นด้านสืบสาน รักษา และต่อยอด สร้างสุขปวงประชา จากโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2562 ป่าแห่งนี้ได้น้อมนำและสืบสานศาสตร์พระราชาในการพัฒนา รักษา และฟื้นฟูป่าบ้านแม่ขมิงจนอุดมสมบูรณ์กลายเป็นแหล่งผลิตน้ำและอาหารหล่อเลี้ยงคนในชุมชนและทั้งจังหวัดแพร่มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีความเข้มแข็งในการป้องกันการบุกรุกทำลายป่าของคนและไฟป่าได้อย่างยอดเยี่ยม บริษัทฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่า ตลอดจนระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความยั่งยืน โครงการนี้จะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อส่งเสริมชุมชนและขยายผลให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าของป่าไม้ ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน และภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ด้าน นายทรงยศ เจ้าหน้าที่ป่าชุมชนห้วยแม่ขมิง อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย กล่าวว่า “เมื่อปี 2562 ทางกรมป่าไม้ได้มองเห็นศักยภาพของหมู่บ้าน และภาวะผู้นำของหมู่บ้านจึงส่งเข้าประกวดในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ ก็ได้รับรางวัลจากบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นรางวัลป่าชุมชนชนะเลิศดีเด่นด้าน “ป่าชุมชน : สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา”
นายอัจฉริยะพงษ์ ปันฟอง ประธานป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง และผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า ป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง มีเนื้อที่ 389 ไร่ เป็นแหล่งต้นน้ำของห้วยแม่ปะ กับห้วยแม่ขมิง ในบริเวณป่าชุมชนนี้เป็นที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่สำคัญของชุมชนในบริเวณนี้ เพราะเป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคด้วย โดยมีครัวเรือนที่ใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ ถึง 226 ครัวเรือน
“ชุมชนบ้านแม่ขมิงเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีความสามัคคี และทีมงานที่เข้มแข็งเป็นกุญแจสำคัญ ชาวบ้านและเยาวชนต่างมีส่วนร่วมในการดูแลป่าชุมชน มีการสร้างแนวกันไฟ สร้างฝาย ปลูกป่าเสริมเป็นประจำ นอกจากนั้น ชุมชนได้ตกลงร่วมกันว่าทุกครัวเรือนต้องส่งตัวแทนมาร่วมกิจกรรมของชุมชนทุกครั้ง เพื่อให้ชาวบ้านรวมทั้งเยาวชนตระหนักรู้ว่าการดูแลป่าเป็นหน้าที่ของทุกคน”
นอกจากนั้น ชุมชนแห่งนี้ยังได้นำกระบวนการ D (Demand), S (Supply), L (Logistic) และM (Mamagement) มาใช้เพื่อเชื่อมโยงเรื่องการจัดการดิน-น้ำ-ป่า มีการนำหลักการนำน้ำจากอ่างเล็กมาเติมอ่างใหญ่ เพื่อให้กากกักเก็บน้ำได้ผลคุ้มค่าที่สุด และเพื่อให้ป่าชุมชนขยายเพิ่มขึ้นจึงมัการตกลงร่วมกันว่าหากใครเข้าไปเก็บของป่าชุมชนจะต้องปลูกต้นไม้ในบริเวณป่าชุมชนครั้งละ 1 ต้น ทำให้ในป่ามีต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“เรามีคณะกรรมการป่าชุมชน จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อป้องกันและตรวจสอบไฟป่า รวมทั้งจัดทำแผนการฟื้นฟูป่าประจำปี เราดึงคนในชุมชนร่วมกันทำแนวกันไฟความกว้างประมาณ 1-2 เมตรตามแนวสันเขาครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชนระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร อีกทั้งยังจัดทำธนาคารใบไม้ เพื่อลดการเผาในชุมชนและลดจำนวนเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย โดยให้ชาวบ้านนำใบไม้ กิ่งไม้ มาหมักกับมูลวัวที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่นผสมกับเชื้อจุลินทรีย์ จากนั้นก็จะได้ปุ๋ยให้ชุมชนนำไปใช้ได้… เราหวังที่จะเป็นต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจรในอนาคต ทั้งเรื่องการจัดการป่า ปศุสัตว์ พลังงานทดแทน การบริหารจัดการน้ำ และการเกษตร” นายอัจฉริยะพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ คณะกรรมการป่าชุมชนยังมีกุศโลบายในการสร้างป่า ด้วยการสร้างเครือข่ายขยายแนวร่วมในชุมชนใกล้เคียง โดยส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนที่เห็นผลเชิงประจักษ์ คือ การปลูกกาแฟ จนเกิดการก่อตั้ง เดอะ ปางงุ้น วัลเล่ย์ เป็นวิสาหกิจชุมชนใกล้เคียงที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง ที่ทั้งปลูกกาแฟ รับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรจังหวัดแพร่ และยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกกาแฟด้วย ในที่สุดไร่เลื่อนลอยได้พลิกฟื้นมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ชุ่มชื้นและให้ร่มเงาฟูมฟักต้นกาแฟ
ป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง ถือเป็นอีกตัวอย่างเชิงประจักษ์ที่ชุมชนร่วมมือกันอย่างแข็งขันปกป้องและดูแลผืนป่าชุมชน การสร้างพลังชุมชนของบ้านแม่ขมิงเริ่มจากการน้อมนำศาสตร์พระราชา “ปลูกป่าในใจคน” หล่อหลอมคนในชุมชนมองเห็นคุณค่าของป่า ส่งผลให้การบุกรุกแผ้วถางป่าค่อยๆ ลดลงจนหมดไปจากพื้นที่ ขณะที่การดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าของชุมชนเพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้นๆ จนปัจจุบันกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นต้นแบบในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน และเป็นแกนนำที่ร่วมกับภาครัฐในการปลูกป่าในใจคนด้วย