ฟอร์ด มอเตอร์ ค่ายรถยนต์สัญชาติอเมริกัน กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุโรป เพื่อขยายธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า โดยล่าสุดฟอร์ดประกาศแผนการลงทุน ทุ่มเงิน 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงโรงงานในเยอรมนีให้ทันสมัย โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเปลี่ยนการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในยุโรปให้เป็นไฟฟ้า 100% ภายในปี 2573
โรงงานในเมืองโคโลญประเทศเยอรมนีจะได้รับการยกเครื่องใหม่ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าทั้งหมดในยุโรป ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแห่งแรกของฟอร์ดในยุโรป โดยจะเริ่มต้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2566
ฟอร์ดกล่าวว่าภายในกลางปี 2569 รถยนต์นั่งทั้งหมดที่จำหน่ายในยุโรปจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด หรือรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด จะมีความสามารถในการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และบริษัทตั้งเป้าให้รถยนต์นั่งในยุโรปเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2573
ข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการรายงานของฟอร์ดในไตรมาสที่สี่ของปี 2020 การกลับมาทำกำไรในยุโรปและประกาศว่าจะลงทุนอย่างน้อย 22,000 ล้านดอลลาร์ทั่วโลกในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจนถึงปี 2568 ซึ่งเป็นจำนวนเงินเกือบสองเท่าของแผนการลงทุน EV ก่อนหน้าของบริษัท
“เราปรับโครงสร้างฟอร์ดในยุโรปได้สำเร็จและกลับมาสู่ความสามารถในการทำกำไรในไตรมาสที่สี่ของปี 2020 ขณะนี้เรากำลังมุ่งหน้าสู่อนาคตที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในยุโรปด้วยยานยนต์ใหม่ที่แสดงออกและประสบการณ์การเชื่อมต่อของลูกค้าระดับโลก” สจวร์ต โรว์ลีย์ ประธานฟอร์ดแห่งยุโรปกล่าว “เราคาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ในยุโรปและยังคงดำเนินต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายของเราที่จะมีอัตรากำไรจาก EBIT 6 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของฟอร์ดในการพลิกโฉมการดำเนินงานยานยนต์ทั่วโลก”
ปัจจัยที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในยุโรป เกิดจากการกำหนดเป้าหมายเชิงรุกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากยานพาหนะ และผู้ผลิตรถยนต์ต้องเผชิญกับค่าปรับจำนวนมหาศาลหากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการปล่อยไอเสีย นั่นทำให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในยุโรปต้องเบรคการขายรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งทำให้ทวีปยุโรปแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในด้านการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานบนท้องถนนอย่างจริงจัง และส่งผลผลักดันให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ต้องปรับแผนการผลิตรุกเข้าสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว
ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว คาดว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาที่ถูกกว่าการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินแบบเดิม เนื่องจากมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวน้อยลง และทำให้ต้องใช้แรงงานในการประกอบน้อยลงด้วย โดยฟอร์ดคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2560 ว่าจะใช้แรงงานในการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าน้อยกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันถึง 30%
Source: FORD MEDIA CENTER