ทส. เฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล-คราบน้ำมันพื้นที่ชายฝั่ง ทะเลระยอง เร่งทำแผนฟื้นฟู ประเมินความเสียหายสิ่งแวดล้อม เร่งรัดฟ้องเรียกค่าเสียหายบริษัทน้ำมัน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมสั่งตั้ง 2 คณะอนุกรรมการ ประเมินผลกระทบ-ฟื้นฟูทรัพยากรทะเล
2 กุมภาพันธ์ 2565 – นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากกรณีน้ำมันของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) รั่วไหลในทะเล เขตการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง หน่วยงานสังกัดกระทรวง ทส. ยังคงติดตามสถานการณ์และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขสถานการณ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เข้าสู่ภาวะปกติ โดย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ดำเนินการลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลบริเวณที่มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดคราบน้ำมันขึ้นชายฝั่ง และติดตามตรวจสอบการเคลื่อนกระจายตัวของคราบน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่ง รวมทั้งประเมินสถานการณ์และลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการเฝ้าระวังและป้องกันเหตุคราบน้ำมันรั่วไหล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ติดตามสำรวจ ตรวจสอบความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) สนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ และตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดจากคราบน้ำมันต่อทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด
นายวราวุธ กล่าวว่า คพ. จะมีการเฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางด้านคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ ดินทราย ตะกอนดิน ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ โดย 1) วิเคราะห์องค์ประกอบสารอินทรีย์ และองค์ประกอบสารอนินทรีย์ ของน้ำมันดิบจากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) และก้อนน้ำมัน 2) ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลเบื้องต้นและตรวจสอบคราบน้ำมัน พื้นที่ชายฝั่งทะเล จำนวน 8 จุด ตั้งแต่หาดพยูน ถึงอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด อย่างต่อเนื่อง 3) ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำทะเล ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก (ปรอท ทองแดง แคดเมียม ตะกั่ว เหล็ก) และปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนทั้งหมด (TPH) จำนวน 6 จุด ซึ่งดำเนินการแล้ว 3 ครั้ง และมีแผนในการดำเนินการเก็บตัวอย่าง โดยดำเนินการตรวจสอบน้ำทะเลอีก 3 ครั้ง ผลจากการตรวจสอบคุณภาพเบื้องต้น ผลจากการตรวจสอบคุณภาพค่าพื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนผลการวิเคราะห์ค่าโลหะหนักและ TPH อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ 4) ตรวจสอบการปนเปื้อนของดินบนชายหาด และ 5) ตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณที่พบคราบน้ำมัน
นอกจากนี้ ยังมีงานที่ต้องเร่งดำเนินการคือการจัดทำแผนการฟื้นฟู โดย คพ. ทช. และ อส. โดยจะร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจัดแผนฟื้นฟู ในเบื้องต้น คพ. ได้ประสานกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัทเอกชนที่ร่วมในการสนับสนุนการแก้ไขฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ทดลอง ในส่วนการเร่งรัดฟ้องเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คพ. ได้เข้ายื่นเอกสารแจ้งกล่าวโทษบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ไว้แล้ว ณ สถานีตำรวจมาบตาพุด และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. ได้สั่งการให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และด้านสิ่งแวดล้อม กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) จังหวัดระยอง และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสิ่งแวดล้อม กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) จังหวัดระยอง ภายใต้คณะกรรมการควบคุมมลพิษ ทั้งนี้ คพ. จะนำวาระเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อทราบในการประชุมครั้งต่อไป นายวราวุธ กล่าว
ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ