มาตรการภาษีกระตุ้นผู้ผลิตรถประหยัดนํ้ามัน เยอรมันหนุนไทยเพิ่มความเข้มข้น-ลดคาร์บอน


สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดพิธีปิดโครงการ “การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการขนส่งทางบกในภูมิภาคอาเซียน” พร้อมรายงานความสำเร็จและถอดบทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานด้านการลดการใช้นํ้ามันของยานพาหนะและลดการปล่อยมลพิษจากภาคการขนส่ง

สำหรับประเทศไทย พบว่าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยานพาหนะ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 โดยโครงการฯ ได้เข้ามาผลักดันให้เกิดการปรับปรุงมาตรการการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดังกล่าว พบว่ามาตรการนี้กระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์เกิดการปรับตัวที่จะผลิตรถใหม่ซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน ส่งผลให้เกิดการลดการใช้นํ้ามันเฉลี่ยจาก 7.08 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2558 เหลือเพียง 6.75 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2560 สำหรับรถใหม่ทุกคันที่จำหน่าย

คาโรลิน คาโพน ผู้อำนวยการโครงการ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการขนส่งทางบกในภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีนโยบายการขนส่งยั่งยืนที่พัฒนาไปมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น นโยบายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่โครงการฯ เข้ามาผลักดันให้เกิดการปรับปรุงมาตรการดังกล่าวให้ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการลดการใช้นํ้ามันเฉลี่ยในรถยนต์ใหม่ทุกคัน ทั้งนี้หากมีการดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้ต่อไป คาดว่าในปี พ.ศ. 2573 จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 4.2 ล้านตันคาร์บอน-ไดออกไซด์เทียบเท่า

ขณะเดียวกัน หากมีการปรับปรุงมาตรการทางภาษีที่เข้มข้นขึ้นร่วมกับมาตรการอื่นๆ เช่น การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอน-ไดออกไซด์ของรถจักรยานยนต์ การปรับปรุงอัตราการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการปรับปรุงอัตราการเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลให้เข้มข้นขึ้น ก็จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีก 4.75 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี พ.ศ. 2573 หรือคิดเป็น 29% ของเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง ตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ให้ไว้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP21)

แม้ตัวโครงการฯ จะสิ้นสุดลง แต่ความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีจะยังคงอยู่ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป GIZ จะดำเนินงานเกี่ยวกับการขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน การแก้ไขการจราจรติดขัด การลดมลพิษทางอากาศ และการทำให้ชีวิตในเมืองน่าอยู่มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขนส่งในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและในเมืองรองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว” คาโรลิน กล่าว

มาตรการภาษี กระตุ้นผู้ผลิตรถประหยัดนํ้ามัน เยอรมันหนุนไทยเพิ่มความเข้มข้น-ลดคาร์บอน

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการขนส่งของไทย สูงถึง 61 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 19.2% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจอย่างยิ่ง เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกส่งผลต่อโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในขณะนี้อีกด้วย

ชุตินธร มั่นคง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการขนส่งที่ยั่งยืน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า แหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยจำนวนมากมาจากการคมนาคม ซึ่งประเทศไทยเองมุ่งมั่นที่จะลดให้ได้ 20-25% ภายในปี 2579 โดยหลักการการลดก๊าซเรือนกระจกในการเดินทางมีอยู่ 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.ลด มาตรการในการจัดเก็บภาษี การห้ามรถเข้าพื้นที่ต่างๆ 2.เปลี่ยน เปลี่ยนการเดินทางจากรถส่วนตัวเป็นการขนส่งสาธารณะ 3.ปรับปรุง ปรับให้มีการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น

สยามณัฐ พนัสสรณ์ ผู้จัดการส่วนนโยบายวิศวกรรมและวางแผนธุรกิจ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะภาษีฯ คือต้นทุนก้อนใหญ่ที่ฝังอยู่ในรถยนต์ ดังนั้นการเก็บภาษีจำนวนมากจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกลดลงได้ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้จัดเปลี่ยนขนาดเครื่องยนต์ให้เล็กลง จากเดิม 2.5 ลิตร ลดลงเหลือ 1.9 ลิตร จากการคำนวณพบว่าสามารถช่วยประหยัดนํ้ามันได้คันละกว่า 700 ลิตร นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังพร้อมที่จะผลิตรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงไบโอดีเซล B20 หากภาครัฐมีมาตรการชัดเจน

อนึ่ง โครงการฯ ดังกล่าว ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ในการดำเนินงานด้านการพัฒนากลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ เพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งทางบก รวมถึงวิเคราะห์นโยบายการประหยัดเชื้อเพลิง และการติดตาม ทวนสอบ และรายงานผลจากการดำเนินนโยบายในประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย โดยได้ดำเนินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2562


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 91 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 คอลัมน์ GREEN Scoop โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save