ยานยนต์ไฟฟ้าเรื่องใกล้ตัว ZEV กำลังจะมา ICE กำลังจะไป อะไรคือ 30:30


ยานยนต์ไฟฟ้า วลีสั้นๆ ที่หลายท่านปรามาสว่า “เกิดยาก” อย่างเก่ง Hybrid ก็ยังกล้าๆ กลัวๆ กันเลย … แต่วันนี้สิ่งที่คนเคยสบประมาท กลายเป็น คลื่นเศรษฐกิจที่มีพันธมิตรเป็น Supply Chain ระดับ BIG ที่พร้อมจะถาโถมเศรษฐกิจทุกประเทศอย่างยากที่จะหลบเลี่ยงได้ ยานยนต์ไฟฟ้าเคลื่อนทัพมาแบบ Platform พร้อมจะทดแทนทั้งตลาด รวมทั้ง Supply Chain ของยานยนต์เดิมทั้งระบบ จึงไม่แปลกที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องออกมาให้นโยบายและทิศทางบ่อยครั้ง และก็ไม่แปลกที่ CEO ของบริษัทค้าน้ำมันอันดับ 1 ของประเทศต้องออกมาเคลื่อนไหว และในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ กำลังสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหา COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ไม่ทันจะจบ ก็มีข่าวเชิงนโยบายว่าอีก 9 ปี (ค.ศ. 2030) ไทยจะมียานยนต์ไฟฟ้า ZEV 30% และนี่คือที่มาของคำว่า 30:30

ZEV กำลังมา ICE กำลังจะไป

ZEV : Zero Emission Vehicle หมายถึง รถที่ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ มี 2 ค่าย ถ้าใช้แบตเตอรี่เราเรียก BEV : Battery Electric Vehicle หากใช้เซลล์เชื้อเพลิงเราเรียกว่า FCEV : Fuel Cell Electric Vehicle (เท่าที่ทราบตามแผน 30:30 รถยนต์ไฟฟ้า ไม่รวมถึง HEV : Hybrid Electric Vehicle และ PHEV : Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ส่วนคำว่า ICE : Internal Combustion Engine ก็คือรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในที่เราใช้ กันอยู่ เช่น เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล เมื่อเราพอจะจำศัพท์ของชาวรถไฟฟ้ากันได้บ้างแล้ว ขอทำความเข้าใจกันอีกนิดก่อนจะอ่านต่อไปตามแผนพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่มีคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการตั้งขึ้นมามากมาย ไม่ได้หมายรวมถึงรถไฟฟ้าอื่นๆ เช่น รถบรรทุก รถมอเตอร์ไซค์ รถสามล้อ แต่ยานยนต์ในที่นี้หมายถึง รถเก๋งคันงาม ปัจจัยที่ 5 ที่เราใช้อยู่

ดูเหมือนว่าเรากำลังจะเดินออกจากยุคน้ำมันสู่ยุคไฟฟ้า จึงมีคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ไฟฟ้าที่เราใช้ชาร์จมาจากเชื้อเพลิงสะอาดหรือเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียน ดังนั้นจึงมีหลายประเทศได้ตั้งเป้าหมายในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% หรือ RE100

การเตรียมความพร้อม

สำหรับช่วงวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ประชาชนตาดำๆ ทั้งหลายก็คงได้แต่แก้ปัญหาให้ตัวเองเพื่อก้าวให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ โดยกินและใช้เท่าที่จำเป็น แต่สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการยานยนต์ไฟฟ้า ก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้ทันรถไฟเที่ยวสุดท้าย หากโครงการ 30:30 เดินหน้าเต็มตัวหลัง COVID-19

1. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้พยายามเสนอมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษี และมาตรการ ที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จากสถานการณ์ปัจจุบัน โลกของยานยนต์ในประเทศไทยอาจเปลี่ยนมือ จากประเทศญี่ปุ่นไปอยู่ในมือของจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี ด้านการลงทุน อัตราภาษี ประเทศจีนล้วนได้เปรียบประเทศอื่นๆ

2. สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ผู้ขับเคลื่อนโครงการนี้มาตั้งแต่ต้นจนเห็นเป็นมรรคเป็นผลอย่างในปัจจุบัน โดยมุ่งส่งเสริม ให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมเพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)

3. ภาครัฐ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม น่าจะเป็น 2 กระทรวงหลักที่มีส่วนส่งเสริมและสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แต่คงต้องไม่ลืมกระทรวงการคลังที่จะเข้ามา มีบทบาทอย่างมากด้วยเหมือนกัน หากภาครัฐสามารถทำงานร่วมกับ ภาคเอกชนแบบไร้รอยต่อแล้ว เป้าหมาย 30:30 ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

4. ผู้ประกอบการภาคเอกชน วันนี้อาจกล่าวได้ว่า ไทยมีความพร้อมในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้เองเกือบทั้งคัน ยานยนต์ไฟฟ้า 1 คัน นอกจากต้นทุนตัวถังและซอฟต์แวร์แล้ว แบตเตอรี่จะเป็นต้นทุน ของรถถึง 40% นอกจากนี้ยังมีมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนอีกประมาณ 10% หากมีการผลิตจำนวนมากๆ ต้นทุนต่างๆ ก็จะค่อยๆ ลดลง และอาจมีราคาต่ำกว่ารถยนต์แบบสันดาปภายในที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ยานยนต์ไฟฟ้า EV บริษัท GPSC

สำหรับ บริษัท GPSCเตรียมเดินหน้าแบบครบวงจร เริ่ม ตั้งแต่การผลิตแบตเตอรี่ Semi-Solid ร่วมกับบริษัทไต้หวัน ผลิตรถยนต์นั่ง และอาจจะก้าวต่อไปยังรถบัส และจักรยานยนต์ไฟฟ้า หลังจากนั้นก็จะเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ใช้กับบริการใน ทุกรูปแบบ และพร้อมจะสร้างสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่

ยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท EA

บริษัท E@ พลังงานบริสุทธิ์ ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมก่อนใคร เริ่มด้วยการลงทุนสร้างโรงงาน แบตเตอรี่จนใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และที่สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักก็คือ Charging Station แบบ Ultra Fast ชาร์จได้ 80% ด้วยเวลาเพียง 15 นาที โดยมีสถานีชาร์จไฟกว่า 1,630 แห่งทั่วประเทศ ส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า E@ คิดนอกกรอบ หลีกเลี่ยงรถยนต์นั่ง (Passenger Car) หันไปเตรียมลงทุนรถบรรทุกหรือรถขนาดอื่นๆ ที่มีอัตราภาษีนำเข้าค่อนข้างสูง โดยเตรียมร่วมลงทุนสร้างโรงงานขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

นับเป็นส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการไทยที่เป็นเรือธงด้านยานยนต์ไฟฟ้า และเชื่อว่ายังมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมในการลงทุนในประเทศไทยอีกหลายราย

5. มอเตอร์ไฟฟ้าและคอนเวอร์เตอร์ จากบริษัทในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ซึ่งประชาชนมีความตื่นตัวเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดก็ว่าได้ มอเตอร์ไฟฟ้านับว่ามีความสำคัญต่อรถไฟฟ้าทุกชนิด สำหรับ Danfoss ซึ่งมุ่งตลาดบนที่ต้องการคุณภาพสูง ได้เริ่มเข้าทำตลาดในเมืองไทยสามารถใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่รถบัส รถยนต์ เรือโดยสาร Danfoss พร้อมให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรรองรับโครงการยานยนต์ไฟฟ้า 30:30 ของประเทศไทย

6. มหาวิทยาลัยกับการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากร รองรับโครงการยานยนต์ไฟฟ้า ขอขอบคุณกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) ที่มีวิสัยทัศน์และคอยให้ทุนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยในจังหวัดที่มีการเดินทางผ่านมากๆ และหากเป็นเมืองท่องเที่ยว ต่างก็ขยับตัวเตรียมพร้อมในการผลิตบุคลากร และเตรียมเป็นศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีใหม่ โดยส่วนใหญ่ก็จะได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน

ขอเริ่มต้นจากภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เพิ่มวิชาด้าน EV เข้าไปในกลุ่มวิชายานยนต์ ส่วนมหาวิทยาลัยนเรศวร หลังจากช่วยทำแผน Smart Grid ให้กับ สนพ. (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) ไปแล้ว ก็มุ่งไปที่การลดคาร์บอน เน้นย้ำว่าไฟฟ้าที่มาประจุต้อง RE100 เท่านั้น โดยให้ความ สนใจเรื่อง EV Charge และ ESS เป็นพิเศษ

กลับมาที่ภาคอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ได้ลงนาม MOU กับ E@ พลังงานบริสุทธิ์ ด้านความร่วมมือ ด้านวิชาการ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยได้เริ่มเตรียมความพร้อม ด้านยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว

มุ่งลงใต้เดินทางผ่านเมืองขนมหวานเพชรบุรี ตื่นตากับ ความพร้อมด้าน EV ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งมีทั้งสถานี ชาร์จไฟ และรถ BEV คันหรู มีพร้อมไว้ให้นักศึกษาวิศวกรรมพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมได้เรียนรู้ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ผู้สนใจ ซึ่งเป็นของขวัญจากสำนักงบประมาณ อาจ จะเป็นเพียงมหาวิทยาลัยเดียวที่ได้รถ BEV เพื่อการวิจัยพัฒนา เดินทางต่อไปยังเมืองท่องเที่ยวดังอย่างหัวหิน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รัตนโกสินทร์ วิทยาเขตหัวหิน ได้รวบรวมมหาวิทยาลัยโดยรอบเตรียมสร้างเครือข่ายเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี และฝึกอบรม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับรถ EV ที่จะต้องเดินทางผ่านหัวหินอย่างมากมายในอนาคต

ขอลงสุดทางแค่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) คึกคักตอบรับ นโยบายรัฐ จัดเต็มทั้ง 5 วิทยาเขต กำลังรีบตั้งศูนย์ EV Learning and Development Center และเปิดหลักสูตรแบบ Non-Degree หลายระดับ ปูพื้นฐานให้ชุมชนผ่าน Digital Platform สร้างภาคีเครือข่ายสถานศึกษาภาคใต้

รถยนต์ไฟฟ้า EV

ยานยนต์ไฟฟ้า ZEV จะเข้ามาแทนที่รถสันดาปภายใน ICE ได้ อย่างลงตัวแค่ไหน โดยยังมีภารกิจอีกมากมาย ตลอด Supply Chain ตั้งแต่แบตเตอรี่ สถานีชาร์จไฟ และระบบไฟฟ้า และ Key Success ของเกมนี้น่าจะ อยู่ที่นโยบายของรัฐ…ประเทศไทยจะเป็นแค่ ผู้รับจ้างผลิต หรือจะเป็นศูนย์กลาง EV … ชุมชน และผู้มีรายได้น้อยจะได้อะไรจากมหกรรม ครั้งนี้ เวลาเท่านั้นที่ตอบได้

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของโลก การส่งเสริมต่อยอดเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่นี้ หากพิจารณาจากข้อมูลของยานยนต์ไฟฟ้าโลก (Global Electric Mobility) ช่วงปี พ.ศ. 2562-พ.ศ. 2563 เห็นได้ชัดเจนว่า จำนวนการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป เช่น นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และสวีเดน จำนวนยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งจากนโยบายการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในแต่ละประเทศที่ช่วยกระตุ้นการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชน โดยทางองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) คาดการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในอนาคต ตามที่หลายประเทศประกาศนโยบายไว้ (Stated Policies Scenario) ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) จะมีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 140 ล้านคัน จากปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคันทั่วโลก

รศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล
รศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนา ความยั่งยืน และหัวหน้า ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

การผลักดันมาตรการการผลิตยานยนต์ภายในประเทศเป็นยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) ในสัดส่วน 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมในการกำหนดเป้าหมายและวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมซึ่งจะสามารถนำไปถึงเป้าหมายจริง โดยขณะนี้ยานยนต์ ZEV ในประเทศเป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) ทั้งหมด ถึงแม้ในปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2020) การจดทะเบียนใหม่เป็นBEV มีจำนวน 2,999 คัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1% เทียบกับยานยนต์จดทะเบียนใหม่ทั้งหมด เเต่มีการเติบโตสูงขึ้นมากกว่า 90% เมื่อเทียบกับในปี ค.ศ. 2019 และ การเติบโตที่เพิ่มขึ้นยังสวนทางกับยอดขายยานยนต์ประเภทอื่น มีอัตราการเติบโตถดถอยจากสภาวะเศรษฐกิจและวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ในสังคมที่จะนำไปสู่ เป้าหมายเดียวกัน กล่าวคือ ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญมาก เนื่องจากเป็นผู้กำหนดนโยบาย แก้ไขกฎระเบียบ การกำหนดมาตรการที่กระตุ้นทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างชัดเจน และภาครัฐสามารถร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งการริเริ่มโครงการต่างๆ หรือทำให้เกิดธุรกิจ Start Up ส่วนภาควิชาการจะมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรของประเทศ ภาคเอกชนจะมีบทบาทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้งานได้จริง โดยมีราคาที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสม รวมทั้ง การปรับตัวของผู้ประกอบการไทยที่ต้องเริ่มเเสวงหาโอกาสในอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น โดยจะทำให้ประเทศไทยมีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมากตาม เป้าหมายที่ตั้งไว้หรือเร็วกว่า เช่นเดียวกับแนวโน้มการใช้ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในขณะนี้ และสุดท้ายสำคัญที่สุดคือภาคประชาชนนั้นเอง จะต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในฐานะบริษัท Power Flagship ของกลุ่มปตท. มีการขยายการลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อสร้างรายได้ จากธุรกิจใหม่ซึ่งเป็น New S-Curve หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจการผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจพลังงานและไฟฟ้าในอนาคต โดย GPSC พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการผลักดันประเทศไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ซึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และการลดช่องว่างของระบบพลังงานหมุนเวียน (Renewable) อย่างเป็นรูปธรรม

รสยา เธียรวรรณ
รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ พัฒนาธุรกิจบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี จำกัด (มหาชน)

เริ่มด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ Semi Solid ลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท 24M Technologies Inc. (24M) ประเทศสหรัฐอเมริกา และก่อสร้างโรงงาน ผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานต้นแบบ กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ต่อปี ที่มุ่งสู่การเป็นผู้พัฒนาโซลูชันเพื่อบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างครบวงจร (Energy Management Solution Provider) โดยแบตเตอรี่ ที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้ยังสามารถนำมาใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ เช่น E-Bus, E-Tuktuk, Golf Cart ฯลฯ นอกจากนี้ จึงได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ G-Box ระบบกักเก็บพลังงานที่ติดตั้งที่สถานีบริการน้ามัน ปตท. เพื่อรองรับ EV Station ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตอบรับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในยุคปัจจุบัน ให้พร้อมบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ รวมทั้งยังสามารถนำไฟฟ้าที่กักเก็บจากระบบ G-Box ไปใช้ในส่วนอื่นๆ ในสถานีบริการ เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับสถานีบริการได้อีกด้วย

ทั้งนี้ GPSC ยังได้ขยายการเติบโตไปยังภูมิภาคเอเชีย ด้วยการเข้าร่วมทุนในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยระยะที่ 1 มีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี เพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าประเภท Passenger Car คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายใน ต้นปี พ.ศ. 2565

แนวทางการลงทุนของ GPSC ดังที่กล่าวข้างต้น เป็นไปตามทิศทางที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดและความรับผิดชอบ ต่อสิ่งแวดล้อมที่มากยิ่งขึ้นของโลก เพื่อรองรับการเติบโตที่กำลังจะมาถึง และเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้ทันกับกระแส การเปลี่ยนแปลงของโลก การกำหนดนโยบายภาครัฐและ มาตรการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ ด้านเงินลงทุน ภาษี รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ อุปสงค์ ในประเทศ การเปิดเสรีทางการลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบต่างๆ ของรัฐบาล และความต่อเนื่องของนโยบาย การให้การสนับสนุน จะเป็นการส่งเสริมสภาพแวดล้อม ในการลงทุน และสร้างแรงดึงดูดให้นักลงทุนทั้งในและ ต่างประเทศสนใจในอุตสาหกรรมดังกล่าว อีกทั้งยังเป็น การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอีกด้วย

การที่ประเทศไทยจะยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค (ASEAN BEV Hub) ได้ เราจำเป็น ที่จะต้อง “สร้าง Demand” ให้มีตลาดในประเทศที่ใหญ่พอ เพื่อนักลงทุนจะได้สนใจมาตั้งฐานการผลิตในประเทศของเรา ชิ้นส่วนสำคัญที่เป็นหัวใจของยานยนต์ไฟฟ้าจะต้องถูกผลิตในประเทศให้ได้ ซึ่งก็คือ แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า และชิ้นส่วน สำคัญอื่นๆ

สมโภชน์ อาหุนัย
สมโภชน์ อาหุนัย ประธานสถาบันพลังงาน เพื่ออุตสาหกรรม ส.อ.ท.รองประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย

รัฐบาลต้องเร่งส่งเสริม “รถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์” เช่น รถประจำทาง ขนส่งพาณิชย์ รถหัวลาก รถสิบล้อ รถแท็กซี่ และ “รถราชการ” เพราะรถประเภทนี้เป็นรถที่มีการใช้งานมาก ยิ่งใช้มากยิ่งประหยัดพลังงานมาก และ รถประเภทนี้ต้องใส่แบตเตอรี่ต่อคันเป็นจำนวนมาก จึงสร้าง “Demand” ได้มากพอที่จะดึงดูดผู้ผลิตรายใหญ่มาตั้งฐาน การผลิตในประเทศไทย เพื่อให้เกิด Economy of Scale ที่จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลงและแข่งขันได้ พร้อมทั้งออก นโยบายส่งเสริมที่ครบทั้งระบบ ทั้งด้านผู้ผลิต ระบบไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้า จนถึงเงินอุดหนุนและสิทธิพิเศษสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หากเราทำได้แบบนี้ ผมเชื่อว่าเราจะคงความเป็น Detroit of ASIA ที่เราภาคภูมิใจไว้ได้ บน New S-Curve ใหม่ที่ไทยแข็งแรงกว่าเดิม

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและ รถกระบะภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งสิ้น 440,000 คันต่อปี หรือคิดเป็น 50% ของยอดจดทะเบียนต่อปี ส่วนเป้าหมายการผลิตนั้น ได้วางเป้าหมายการผลิตคิดเป็น 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ในโอกาสนี้ ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และดำเนินงานเพื่อสนับสนุนทั้งมาตรการด้านภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่างๆ รวมถึงการออกกฎระเบียบสำหรับอาคารที่ก่อสร้างใหม่ให้มีพื้นที่ช่องจอดสำหรับ อัดประจุไฟฟ้าเป็นข้อบังคับ และการลดคาร์บอนในภาคการผลิต เพื่อร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดังกล่าวนี้

กฤษฎา อุตตโมทย์
กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร กิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย

ในด้านภาพรวมของเทคโนโลยีนั้น หลากหลายค่ายรถยนต์รวมถึงบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ต่างก็มีความ มุ่งมั่นอันแข็งแกร่งในการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้จุดมุ่งหมายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทั้งนี้ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป จะพัฒนายานยนต์ไฟฟ้านำเสนอออกสู่ตลาดมากถึง 25 รุ่นในตลาดโลก ภายในปี พ.ศ. 2566 โดยมากกว่าครึ่งของจำนวนนี้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบ BEV เพื่อเป็นการปูทางเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ต่อไปในอนาคต

HAUP Mobility Sharing Platform

ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ในประเทศไทย ทำให้เรามีความจำเป็นต้องเลือกเดินทาง ด้วยรถยนต์ส่วนตัวในชีวิตประจำวัน แทนที่จะเลือก เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงใน การติดเชื้อไวรัสจากบุคคลอื่นรอบตัวให้ได้มากที่สุด แต่ทว่ามันกลับส่งเสริมให้เกิดปัญหาในเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เกิดจากท่อไอเสียรถยนต์ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองที่กำลังเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศมาโดยตลอด

ดังนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ปกติหรือ ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 แพลตฟอร์มของฮ้อป (HAUP) ก็เข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาด้านการเดินทางได้อย่างยั่งยืน โดยการผลักดันให้เกิดการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

กฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์
กฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด

เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ เราอาจ ไม่พร้อมที่จะเป็นเจ้าของรถมือหนึ่งสักคัน รวมถึงมองว่า โครงข่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยอาจยังไม่สะดวกต่อการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทางฮ้อป (HAUP) ซึ่งเป็น Mobility as a Service หรือ Mobility Sharing Platform จึงเข้ามามีส่วนช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ โดยที่ไม่ได้มีความจำเป็น ที่จะต้องซื้อในเวลานี้ แล้วยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยียานยนต์พลังงานไฟฟ้า โดย ที่ไม่ต้องการมีภาระหนี้สินผูกมัดระยะยาว เพียงเลือก Subscribe กับบริการของฮ้อป (HAUP) ก็สามารถเช่ารายชั่วโมง และปลดล็อกรถผ่านแอปพลิเคชันได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกเหนือจากบริการที่ครอบคลุมถึง 500 สาขา ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจ กำลังซบเซา เรายังเปิดให้บริการอีกส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม โดยให้บุคคลทั่วไปที่ต้องการหารายได้เสริมสามารถนำรถยนต์ส่วนตัวมาปล่อยเช่าผ่านแพลตฟอร์มแบบ Passive In-Car ด้วยการติดระบบ IoT ที่ช่วยให้ การปล่อยเช่าเป็นแบบไร้สัมผัส (Contactless)


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 106 กรกฎาคม-สิงหาคม 2564 คอลัมน์ Energy โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save