แผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะ 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2558-2579 โดยแบ่งเป็นแผนระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ซึ่งแผนระยะสั้น พ.ศ. 2560-2564 จะเป็นช่วงของการค้นคว้าทดลองทำโครงการต่างๆ ซึ่งต้องพัฒนาไปพร้อมกับการสร้างองค์ความรู้ภาคประชาชน ส่วนระยะปานกลาง พ.ศ. 2565-2574 เป็นช่วงที่นำสิ่งที่วิจัยทดลองในระยะสั้นส่งไปสู่ประชาชน และระยะยาว พ.ศ. 2575-2579 เป็นความพร้อมปฏิบัติได้จริง ซึ่งหน่วยงานที่ขับเคลื่อน คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. นำโดย วัชระ กรรณิการ์ โฆษก กระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย อนิรุทธิ์ ธนกรมนตรี โฆษก สนพ. และในฐานะผู้อำนวยการ กองนโยบายปิโตรเลียม สนพ. และ ดร.ดวงตา ทองสกุล ผู้ช่วยโฆษก สนพ. ได้สรุป ความก้าวหน้าของแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะสั้น 4 ปี (พ.ศ. 2560-2564) เป็นระยะที่ 2 ซึ่งการพัฒนาโครงการต่างๆ โดย 3 การไฟฟ้า ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งมีความคืบหน้า ดังนี้
1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เตรียมการด้านบทบาท รักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคต โดย ปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบส่งให้มีความทันสมัยมากขึ้น (Grid Moderization) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพยากรณ์พลังงานหมุนเวียน Big Data รวมถึงโรงไฟฟ้าที่มีความ ยืดหยุ่นมากขึ้น และจัดทำแผนพัฒนา Grid Connectivity เพื่อเสริมสร้างความ แข็งแกร่งให้กับระบบส่ง รองรับการส่งถ่ายไฟฟ้าในภูมิภาค มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางไฟฟ้า ของอาเซียน เตรียมพร้อมการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล ไปเป็นพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบไฮบริด สุดท้ายนำไปสู่เรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดย กฟผ.ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงาน EGAT Energy Excellence Center ให้ความรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน จุดเริ่มต้นแห่งการเกิด สมาร์ทกริด จะเป็นพื้นที่ที่ใช้พลังงานเลี้ยงตัวเองได้ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ มีระบบ กักเก็บพลังงาน ให้ความรู้เรื่องระบบไฮโดรเจน พลังงานขยะ เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ เพื่อให้ศูนย์ฯ ไม่ต้องใช้ไฟจากกริด และเพื่อให้เกิดสังคมสีเขียวอย่างยั่งยืน
2. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีความคืบหน้า โครงการนำร่องระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคารที่ทำการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบสมาร์ทกริด ซึ่งแล้วเสร็จเรียบร้อย โครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดและกลไกราคา ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (DR : LAMS) เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีส่วนร่วม ต่อการบริหารจัดการพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า คาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายในปี 2565 ส่วนโครงการนำร่องระบบไมโครกริดของ กฟน. เพื่อศึกษาระบบไมโครกริดและเป็นอาคารตัวอย่างในการเรียนรู้ระบบ Facility Microgrid ของ กฟน. เป็นการรองรับระบบไมโครกริดและการขยายตัวของพลังงานทางเลือกในเขตพื้นที่บริการ บริหารจัดการ และควบคุมไมโครกริดในเขตพื้นที่บริการได้แบบ Real-time ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 นอกจากนี้ยังมีโครงการนำร่อง อื่นๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น Smart Metro Grid Project เพื่อใช้งานเทคโนโลยีระบบสมาร์ทมิเตอร์ก่อนใช้ทั่วพื้นที่ กฟน. เป็นต้น
3. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เริ่มดำเนินการโครงการนำร่องด้านการ ตอบสนองโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน อาทิ โครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในพื้นที่เมืองพัทยา โดยมีการเปลี่ยนมิเตอร์เก่าให้เป็นสมาร์ทมิเตอร์ทั้งหมดเป็นตัวเลข 116,308 เครื่อง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ สำหรับ โครงการด้านระบบไมโครกริดและระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งได้มีการทำโครงการในพื้นที่ที่ห่างไกลจากสายส่งและมีปัจจัยเรื่องความปลอดภัยอย่างพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และพื้นที่ในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย กฟภ.ได้ร่วมกับ กฟผ. ทำโครงการนำร่องระบบไมโครกริด โดยสร้างระบบไฟฟ้าที่แยกอิสระไม่ต้องพึ่งสายส่งหลัก และมีระบบกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในพื้นที่ตนเอง ส่วน โครงการวิจัย EV Station ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน ซึ่งมีแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการการชาร์จ โดยมีสถานีทั้งหมด 11 แห่ง เช่น อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานประมาณเดือนเมษายน 2563 นี้ และ โครงการวิจัย Power Pack คือการศึกษาระบบกักเก็บพลังงานที่จะติดตั้งในบ้าน หากในอนาคตผู้ผลิตมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ทั้งนี้ในงาน วิจัยได้จัดทำต้นแบบระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ขนาด 5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งก็เป็น อีกทางเลือกที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ห่างไกลในพื้นที่ที่มีการติดตั้งโซลาร์อยู่แล้ว และอาจจะเป็นธุรกิจใหม่ของ กฟภ.ในการให้บริการกับผู้ใช้ไฟฟ้าในอนาคต
ทั้งนี้ แผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด มีเป้าหมาย คือ ยกระดับ ความสามารถของระบบไฟฟ้า (Smart System) ทำให้ระบบไฟฟ้ามั่นคงและมีประสิทธิภาพ ลดความต้องการโรงไฟฟ้าสำรอง จำนวนการเกิดไฟฟ้าดับ และการสูญเสียจากการ ส่งและจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพบริการที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้า (Smart Life) ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดเข้ามาช่วยบริหารจัดการความต้องการใช้พลังงานในรูปแบบ Smart Appliances, EV, EMS/DR/DSM, Smart Billing และการยกระดับโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Society) ส่งเสริมให้มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น โดยที่ระบบไฟฟ้า ยังสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเดิมหรือมากขึ้น สร้างสังคมสีเขียวและ คาร์บอนต่ำ พัฒนาระบบไมโครกริด เพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนในชุมชน
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 98 มีนาคม-เมษายน 2563 คอลัมน์ ENERGY Saving โดย กองบรรณาธิการ