รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่า ที่ ประชุมครม. ได้มีมติลดภาษีน้ำมันลง 5 บาท/ลิตร ออกไปอีก 2 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. ถึง 20 ก.ค. นี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน และลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดใช้วงเงินภาษีไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อไม่ให้กระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2565
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวแนวทางการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท ว่า นโยบายช่วยเหลือมีแน่นอน ทั้งการขยายอายุลดภาษีดีเซลออกไป หรือจะมีการลดภาษีเพิ่มเติม ส่วนจะเลือกใช้แนวทางใดบ้าง ต้องขอพิจารณาอีกครั้ง ให้รอดู ซึ่งการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอีก สามารถทำได้ และยืนยันว่าไม่กระทบกับฐานะการคลังทั้งปี
อย่างไรก็ดี เบื้องต้นคาดว่ากระทรวงการคลังจะมีการเสนอ 2 แนวทาง ในการลดปัญหาราคาน้ำมันดีเซลที่อยู่ในระดับสูง ได้แก่ 1.การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และ 2. การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงในอัตราลิตรละ5 บาท โดยระยะเวลาจะน้อยกว่า 3 เดือน โดยทั้ง 2 แนวทาง ประเมินว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อไม่ให้กระทบกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2565
สำหรับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่จะหมดอายุในวันที่ 20 พ.ค. นี้ ครม.ได้อนุมัติลดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลทุกรายการลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนเสนอให้ขยายเวลาลดภาษีดังกล่าวออกไปอีก 3 เดือน โดยการลดภาษีดังกล่าว ทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้เดือนละ 5.7 พันล้านบาท รวม 3 เดือน สูญเสียรายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือพยุงราคาน้ำมันร่วมกับกระทรวงพลังงาน