Green Building ไม่ใช่กระแสอีกต่อไป เพราะทั่วโลกต่างพากันให้ความสำคัญ และพร้อมจะพลิกโฉมให้อาคารที่สร้างใหม่หรือการปรับปรุงอาคารเก่า ก้าวไปสู่ยุคของอาคารเขียว ที่นอกจากจะช่วยในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว เชื่อหรือไม่ว่า อาคารเขียว ยังช่วยให้เจ้าของอาคารหรือผู้อยู่อาศัยลดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงาน นำสู่การชะลอการสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศในขณะนี้อีกด้วย
อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่มีแนวคิดในการออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจมาจากตราสัญลักษณ์รูป “ปลาคู่” ของตลาดหลักทรัพย์แห่ประเทศไทย มาผสมผสานกับแนวคิดด้านการอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งหมายให้อาคารเป็น Landmark ในการลงทุนของประเทศ เป็นอาคารที่เน้นความทันสมัย คำนึงถึงการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนได้รับการรับรองตามมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ในระดับ Gold ของสถาบันสภาอาคารเขียวแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมนั้นพื้นที่ใช้สอยอาคารออกแบบเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปทรงที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานและมีพื้นที่ใช้สอยได้เหมาะสมที่สุด มีพื้นที่ผนังน้อยเมื่อเทียบกับรูปแบบอื่นๆ ผนังประกอบอาคารเป็นผนังแบบสองชั้น (Double Skin Facade) โดยกระจกชั้นนอกเป็นกระจกหนาสองชั้นชนิด Insulated Glass เพื่อป้องกันความร้อนและความชื้นเข้าสู่ภายในอาคาร ช่องว่างระหว่างผนังทั้งสอง รักษาอุณหภูมิร้อนโดยปล่อยความร้อนออก และมีพัดลมระบายดึงอากาศร้อนออกเมื่ออุณหภูมิสูงเกินค่าที่กำหนด เพิ่มม่านกันแดดป้องกันความร้อนที่เลื่อนปิด-เปิดอัตโนมัติตามความเข้มของแสงอาทิตย์ ทำให้ผนังกรอบอาคารมีค่าการป้องกันความร้อน (U-Value) สูง และเป็นผนังกระจกที่ยังคงความสามารถมองทิวทัศน์ภายนอกอาคารได้อย่างเต็มที่ โดยผู้ใช้อาคารไม่รู้สึกร้อนหรือได้รับผลกระทบจากแสงแดดที่มากเกินไป และยังช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพการส่องสว่าง เนื่องจากมีแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวพื้นที่ภายในมาก เกิดพื้นที่ Daylight Zone ลดการใช้โคมไฟแสงสว่างลงตั้งแต่ออกแบบได้
นอกจากนี้ การวางรูปแบบอาคารในบริเวณทางเข้าอาคารหรือเชื่อมต่อกับพื้นที่มีปรับอากาศภายในอาคาร ได้ออกแบบให้มีพื้นที่กั้นอากาศร้อน หรือ Transition Area ที่ใช้ประตูหมุน Revolving Doors กักอากาศร้อนและความชื้นจากภายนอกไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ปรับอากาศภายในมาก และลดการสูญเสียความเย็นด้วย
ที่สำคัญอาคารยังใช้ระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์ Chilled Water System เลือกใช้เครื่องทำน้ำเย็นประสิทธิภาพสูง (Hi-Efficiency Chiller)ที่ 0.58 kW/Ton เลือกปั๊มส่งน้ำเย็นไหลเวียนที่มีค่าอัตราการไหลเพียง 2.0 GPM/Ton ที่ต่ำกว่าทั่วไป ทำให้ขนาดท่อส่งน้ำและปั๊มน้ำเย็นไหลเวียนเล็กลงแต่ยังคงประสิทธิภาพดี ติดตั้งร่วมกับอุปกรณ์บริหารจัดการเดินระบบ CPMS (Chiller Plant Management System) เพื่อควบคุมการทำงานจัดการระบบให้เหมาะสมกับภาระ Load และมี VSD (Variable Speed Drive) ควบคุมการทำงานของปั๊มส่งน้ำเย็นให้เหมาะสมกับภาระ Load ลดการใช้ไฟฟ้าในระบบปรับอากาศได้ถึง 10% ติดตั้ง
VAV (Variable Speed Value) ปรับอุณหภูมิลมที่หัวจ่าย และให้ควบคุม VSD เพื่อปรับความเร็วรอบของมอเตอร์ AHU (Air Handling Unit) ให้เหมาะสมกับภาวะการทำความเย็นในแต่ละชั้น ใช้หลอดประหยัดไฟฟ้าชนิด (LED) ในทุกพื้นที่ ร่วมกับพื้นที่เป็น Daylight Zone ส่งผลให้มีค่าการใช้ไฟฟ้าระบบแสงสว่าง เพียงแค่ 4.34 Watt/M2 เลือกใช้ Solar Cell เป็นพลังงานหมุนเวียน โดยติดตั้งบนหลังคาอาคารจอดรถมีกำลังผลิต 63.36 kWp ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้จริงได้ถึง 72,000 หน่วยต่อปี ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ร้อยละ 1 ต่อเดือนของปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด รวมถึงมีการติดตั้งระบบ BAS การบริการระบบต่างๆ ของอาคาร เช่น ระบบควบคุมไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบควบคุมอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ เป็นต้น
ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมมีการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดกว่า 90% มากรอง (Recycle) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ในระบบระบายความร้อน Cooling Tower ให้กับ Chiller และนำมาใช้กับระบบรดน้ำต้นไม้ แทนการใช้น้ำประปา มีการติดตั้งก๊อกน้ำ และสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำที่ลดการใช้น้ำได้ถึง 43.2% ส่งผลให้อาคารมีเกณฑ์ใช้น้ำที่ต่ำ และยังมีการคัดแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท คือ ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ขยะอันตราย ขยะทั่วไป อีกทั้งยังมีนโยบายรณรงค์ให้พนักงานลดปริมาณขยะ ผ่านโครงการงดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากโฟม Zero Foam No Plastic หรือแบ่งปันถุงผ้า เพื่อทดแทนถุงพลาสติก เป็นต้น
เพราะอาคารเขียว มีความสำคัญต่อทั้งผู้อยู่อาศัยภายในอาคารเอง รวมไปถึงสังคมรอบข้าง ฉะนั้นแล้ว การสร้างอาคารเขียวจึงต้องมองในหลากหลายมิติ ไม่เพียงแต่ด้านพลังงานเท่านั้น แต่ยังต้องใส่ใจถึงคุณภาพชีวิตและสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
ผู้สนับสนุน: |