นโยบายแนวทางการพัฒนาภาคธุรกิจอุตสาหกรรมให้มีความสอดคล้องกับศักยภาพ และความเป็นไปได้ของระบบนิเวศ รวมทั้งความผาสุกของสังคม เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีการแข่งขันกันสูงมาก ทั้งในด้านกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อมลภาวะและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษได้ ดังนั้น เพื่อพัฒนาให้การประกอบกิจการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 อย่างยั่งยืน
เฉกเช่นนี้ แนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวจะต้องเกิดจากแนวคิดของผู้นำหรือผู้บริหารหน่วยงานที่มีหัวใจสีเขียวเป็นสำคัญด้วย จึงจะสามารถผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เดินหน้าและประสบผลสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนอย่างวงกว้างต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้บริหารหน่วยงานหลักท่านนี้คลุกคลีในแวดวงสายสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน และและเป็นผู้นำหัวใจสีเขียว นั่นก็คือ ทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ทองชัย ชวลิตพิเชฐ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกาศนียบัตรนักบริหารระดับสูง สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นผู้คร่ำวอดในกระทรวงอุตสาหกรรม จากประสบการณ์เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ตรวจกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงผู้อำนวยการระดับสูงอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดเชียงราย ซึ่งตำแหน่งโดยก่อนหน้านี้เคยเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นอกเหนือจากนั้น ยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการ บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่บริการกำจัดของเสียในภาคอุตสาหกรรมโรงงานต่าง ๆ รวมถึงเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
ทองชัย ถือเป็นผู้บริหารหัวใจสีเขียวที่มีแนวคิดดำเนินการตามนโนบายในฐานะภาครัฐในด้านการพัฒนาและส่งเสริมและพัฒนาบูรณาการระหว่างมิติทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงกันแนวคิดเรื่องประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ โดยเป็นหนึ่งในนโยบายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีความสอดคล้องกับศักยภาพ และความเป็นไปได้ของระบบนิเวศ เกิดความสมดุล สร้างความผาสุกของสังคมด้วยอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อเป็นการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน และล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้จัดโครงการตรวจประเมินสถานประกอบการที่ขอเทียบระดับหรือเลื่อนระดับสู่อุตสาหกรรมสีเขียวให้แก่สถานประกอบการ 139 โรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 3 ถึงระดับที่ 5 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559
ทองชัย กล่าวว่า “สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ได้พัฒนาจนสามารถยกระดับเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ก็จะแสดงให้เห็นถึงประเทศไทยมีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง สำหรับการจัดงานรับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่สถานประกอบการที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยอีกด้วย ที่สำคัญการพยายามที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์จากผลิตภัณฑ์สินค้าและการบริการโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุด รวมถึงคำนึงการให้ผู้บริโภคลดการบริโภคทรัพยากรพลังงาน น้ำและที่ดิน หรือส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์ซ้ำใหม่ เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยของเสีย ขยะ และสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน อันจะส่งผลระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตของประเทศและของโลกได้ด้วยครับ”
ทางด้าน กรณ์ภัฐวีญ์ ม่วงน้อย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จบปริญญาตรี อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีขนถ่ายวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และเป็นศิษย์เก่าดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2559 เป็นอีกบุคคลหนึ่งในฐานะผู้บริหารองค์กรที่มีเกียรติประวัติและผลงานสร้างชื่อเสียงมากมายให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม ในด้านโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ผลักดันให้โรงงานจังหวัดต่าง ๆ ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 รับราชการครั้งแรกที่สำานักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ก่อนที่ต่อมาปีพ.ศ.2552 – 2559 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศ
กรณ์ภัฐวีญ์ กล่าวว่า “เนื่องจากกระแสของโลกมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างต่อเนื่อง ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และจะวางรูปแบบของการพัฒนาที่สนองความต้องการของคนในรุ่นปัจจุบัน จึงอยากแนะนำไปยังโรงงานต่าง ๆ ให้ความร่วมมือและปรับเปลี่ยนนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนยาวนานให้เป็นไปตามมาตรฐานผ่านการรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งแผนนโยบายขับเคลื่อนต่อไปของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้วางเป้าหมายในแต่ละปีร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัด โดยมีนโยบายมาตรการให้โรงงานที่เปิดกิจการแล้ว แจ้งประสงค์ยื่นเอกสารเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้ทำหน้าที่กำหนดกรอบแผนการดำเนินธุรกิจ และคณะอนุกรรมการเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และประเมินระดับอุตสาหกรรมสีเขียว อีกทั้งยังได้จัดสรรงบประจำปีในการสนับสนุนพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อให้ผู้เกิดแรงกระตุ้นการรักษาสิ่งแวดล้อม และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้”
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) นับว่าเป็นโครงการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทุกระดับทั่วประเทศได้มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ให้ทั่วโลกยอมรับ มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือและกระตุ้นให้มีการพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และประหยัดพลังงาน โดยมีหลายองค์กรสถานประกอบการชั้นนำได้มีการรายงานผลการดำเนินงานผ่านตัวเลข หรือ ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจขององค์กรสู่สาธารณะ ให้เกิดความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของภาคธุรกิจนั้น ๆ ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และการบริการ และทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์สินค้าและการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ข้อมูลที่คุณอาจสนใจ |