การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยผลการตรวจประเมินการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับต่างๆ พร้อมจัดพิธีมอบรางวัลให้กับ ผู้ผ่านเกณฑ์ภายในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 “Eco Innovation Forum 2020” ทุกนิคมฯ มีส่วนร่วมพัฒนาเมืองฯ ผ่าน 5 มิติ 22 ด้าน สอดรับ ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ที่เน้นใช้ทรัพยากรน้อยแต่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนรอบข้าง กางแผนภายใน 5 ปีต้องมีนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านเกณฑ์การชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพิ่มขึ้น 5 แห่งทั่วประเทศ
สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ได้กำหนด มาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 มิติ 22 ด้าน ด้วยการสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพ สูงสุด โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในสถานประกอบการ เช่น การนำน้ำเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยทิ้งมาบำบัดแล้วนำมาผลิตน้ำ RO (Reverse Osmosis) และนำกลับมาใช้ใหม่แทนน้ำประปา ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ การนำเศษ วัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการโรงงานไปเพิ่มมูลค่า ด้วยการนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น นำเศษขยะทั่วไปในนิคมอุตสาหกรรมไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์ หรือนำตะกอนจากโรงงานไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพจากวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการมาดัดแปลงให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งเสริมกลุ่มอาชีพวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้มีการประกอบกิจการที่มีผลกำไร โดยที่ผ่านมาวิสาหกิจชุมชนสามารถทำรายได้เป็นเงินหมุนเวียน ให้กับสมาชิกในกลุ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม
“แนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เน้นการสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัย ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการมีส่วนร่วม ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนท้องถิ่น โดย กนอ. ได้กำหนดคุณลักษณะ มาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไว้ใน 5 มิติ 22 ด้าน โดยแบ่งการยกระดับความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมีใน 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับ Eco-World Class/Eco-Excellence และ Eco-Champion ตามลำดับ ซึ่งหากนิคมฯ ที่ผ่านเกณฑ์และยกระดับเป็น Eco-World Class แล้ว ต้องรักษาระดับการเป็น Eco-Excellence และ Eco-Champion อย่างต่อเนื่อง ด้วยการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลและการมี ส่วนร่วม โดย กนอ. มีแผนแม่บทที่ใช้เป็นแผนปฏิบัติการแนวทางการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในทุกระดับ โดยตั้งเป้าภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2564-พ.ศ. 2568) จะต้องมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการตรวจประเมินการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่งทั่วประเทศ” ผู้ว่า กนอ. กล่าว
สำหรับปีนี้ มีนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-Champion จำนวน 34 แห่ง และใน 34 แห่ง ได้ยกระดับสู่การเป็น Eco-Excellence จำนวน 13 แห่ง และใน Eco-Excellence ได้ยกระดับสู่การเป็น Eco-World Class จำนวน 3 แห่ง นอกจากนี้ยังมีนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้รับการพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นนิคม/ท่าเรืออุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 จำนวน 3 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 จำนวน 5 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Factory) จำนวน 29 แห่ง และโรงงานที่สนับสนุน การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 35 แห่ง พร้อมกันนี้ได้มีการมอบประกาศนียบัตรให้กับ โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรอง Water Footprint อีก 7 แห่ง
ด้าน สุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค Digital Transformation ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยี ดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งการทำงาน การผลิต การซื้อขายแลกเปลี่ยน และ การดำเนินทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยภาครัฐต้องให้การสนับสนุนภาคการผลิตและธุรกิจ ที่เร่งปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะธุรกิจในอนาคตที่จะมีบทบาทมากขึ้น คือ ไอทีและดิจิทัล การค้าขายที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ E-Commerce มากขึ้น ธุรกิจการเงินที่จะก้าวสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น เนื่องจากสังคมไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชน สังคมอย่างยั่งยืน โดยได้นำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy พร้อมส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจด้วยธรรมาภิบาล มีความ รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมแบบ Smart System เช่น การนำระบบ Internet of Things (IoT) มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 101 กันยายน ตุลาคม 2563 คอลัมน์ Environment โดย กองบรรณาธิการ