กฟผ. ร่วมกับ สพจ. และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าเร่งติดตั้ง Sensor ตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ให้ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมขยายผลข้อมูลผลการตรวจวัดสู่แอปพลิเคชัน Sensor for All เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศได้แบบ Real Time

จรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ประสานงานกับสำนักงานพลังงานจังหวัด (สพจ.) หน่วยงานเจ้าของสถานที่ต่างๆ ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งติดตั้งอุปกรณ์ Sensor ภายใต้โครงการพัฒนาแอปพลิเคชัน Sensor for All ซึ่ง กฟผ. ได้ร่วมมือกับ จุฬาฯ และพันธมิตร พัฒนาขึ้นให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้ ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังให้เกิดการขยายผลการนำแอปพลิเคชันดังกล่าวไปใช้งานในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเทศสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral)ในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้พิจารณาให้ติดตั้ง Sensor เพิ่มอีกจังหวัดละ 3 จุด รวมทั้ง 76 จังหวัด เป็น 228 จุด โดยมุ่งให้ติดตั้งในบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าหรือโรงงานขนาดใหญ่ สี่แยกไฟแดงหรือเขตถนนที่มีการจราจรหนาแน่น และสถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัด โดย กฟผ. จะร่วมสนับสนุนงบประมาณค่าเครื่อง Sensorพร้อมค่า Sim card และค่าบำรุงรักษาเซนเซอร์ตลอดระยะเวลา 3 ปีแรก รวมถึงสนับสนุนการติดตั้ง Sensor ตามจุดเป้าหมายดังกล่าวซึ่งหากเป็นบริเวณที่เป็นแหล่งชุมชนก็จะเพิ่มการติดตั้งจอแสดงผลข้อมูลคุณภาพอากาศ (Display Billboard) เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้ข้อมูลประชาชนเพิ่มเติมจากการติดตามผ่านทางแอปพลิเคชัน Sensor for All ด้วย
จากข้อมูลนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้ร่วมกับ จุฬาฯ และพันธมิตรในการพัฒนาแอปพลิเคชันและติดตั้ง sensor โดยติดตั้งไปแล้วประมาณ 200 จุดทั่วประเทศ และในอนาคต กฟผ. ยังเตรียมขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านข้อมูลคุณภาพอากาศร่วมกับแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อให้เกิดเป็น Big Data ปรากฏอยู่ภายในแอปพลิเคชัน Sensor for All เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าว
ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลรายงานผลคุณภาพอากาศได้ผ่านแอปพลิเคชัน Sensor for All แบบ Real Time ตลอด 24 ชม. โดยดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นผ่าน App Store และ Play Store และผ่านทาง website https://sensorforall.eng.chula.ac.th/ เพื่อเฝ้าระวังและวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ที่มา: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)