ทีมนักวิจัย กฟผ. จากโครงการวิจัยการพัฒนาระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติโดยอากาศยานไร้คนขับ พัฒนาโดรนตรวจสอบคุณภาพน้ำและเก็บตัวอย่างน้ำแบบอัตโนมัติสำเร็จ ส่งมอบให้แก่โรงไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้งานจริง เตรียมต่อยอดสร้างโอกาสในเชิงธุรกิจ พร้อมวางเป้าหมายสู่ผู้นำการให้บริการโดรนตรวจน้ำในอีก 3 ปีข้างหน้า
19 พฤศจิกายน 2564 – นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ เป็นประธาน ในพิธีมอบโดรนตรวจสอบคุณภาพน้ำ จำนวน 2 เครื่อง จากโครงการวิจัยการพัฒนาระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติโดยอากาศยาน ไร้คนขับ ให้แก่นายทินกร ลิมปนสุทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าวังน้อย โดยมีนายสุพัฒนพงศ์ สิกขาบัณฑิต ผู้ช่วยผู้ว่าการ ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมวังจุฬา ชั้น 2 อาคารที่ทำการโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมกันนี้ยังได้มีการบินสาธิตการใช้งานโดรน ณ บริเวณบ่อพักน้ำ 2 ด้วย
นายสาธิต ครองสัตย์ กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการวิจัยเรื่อง “พัฒนาระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติโดยอากาศยานไร้คนขับ” ของกลุ่มนักวิจัยจากฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม โรงไฟฟ้าวังน้อย และฝ่ายเคมี ได้ดำเนินมาจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้นคือต้นแบบโดรนพร้อมระบบตรวจสอบคุณภาพน้ำและเก็บตัวอย่างน้ำแบบอัตโนมัติ ที่จะช่วยลดเวลาและงบประมาณที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำในบ่อพักของโรงไฟฟ้า โดยเริ่มต้นจะให้บริการกับหน่วยงานต่าง ๆ ของ กฟผ. เช่น โรงไฟฟ้า เขื่อน ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า จากนั้นเตรียมต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยหาเครือข่ายร่วมกับฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง วางแผนทำ Business Model เพื่อวิเคราะห์ราคาค่าบริการ สำรวจลูกค้า ทดสอบตลาด และสร้างแบรนด์การให้บริการรับตรวจน้ำ ซึ่งมีเป้าหมายคือการเป็นผู้นำในการให้บริการโดรนตรวจน้ำภายใน 3 ปีข้างหน้า
การมอบโดรนตรวจสอบคุณภาพน้ำให้แก่โรงไฟฟ้าวังน้อยในครั้งนี้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าวังน้อยมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำทุกวัน โดยผู้ปฏิบัติงานจะต้องดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำในแต่ละจุดตรวจวัด ซึ่งมีระยะห่างกันมาก ทำให้การเก็บตัวอย่างให้ครบทุกจุด ในแต่ละวันต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก และเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บตัวอย่างเพื่อไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ ในบางช่วงเวลา ที่น้ำลด ระยะขอบบ่อกับระดับน้ำมีความห่างกันมาก ทำให้อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ตรวจวัดและเก็บตัวอย่างน้ำได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการพัฒนาระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติโดยอากาศยานไร้คนขับ เพื่อลดเวลา ค่าใช้จ่าย และยังช่วยให้การทำงาน มีความปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย
สำหรับการทดสอบที่ผ่านมา โดรนตรวจสอบคุณภาพน้ำสามารถทำภารกิจได้อย่างถูกต้องตามโปรแกรมในการวางตำแหน่งและจุดการตรวจวัดได้เป็นอย่างดี สามารถส่งค่าคุณภาพน้ำตามค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ทั้ง 4 ค่าพารามิเตอร์ ได้แก่ ค่าอุณหภูมิ ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ค่าการนำไฟฟ้าของน้ำ และค่าปริมาณออกซิเจนในน้ำตามตำแหน่งต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน รวมทั้งสามารถบันทึกข้อมูลคุณภาพน้ำลงในโปรแกรมแบบอัตโนมัติ เพื่อส่งข้อมูลกลับมายังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการทำงานของโดรนได้ ส่วนโดรนเก็บตัวอย่างน้ำสามารถบินและเก็บตัวอย่างน้ำแบบอัตโนมัติได้ตามโปรแกรมที่วางแผนไว้ และสามารถควบคุมให้ลงจอดบนผิวน้ำโดยการควบคุมด้วยมือหรือแมนนวลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลจากการเปรียบเทียบการวัดค่าคุณภาพน้ำกับ ค่าคุณภาพน้ำที่วัดได้จากเครื่องมือของโรงไฟฟ้านั้นมีความถูกต้องแม่นยำใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มีทีมนักวิจัยที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับทุกหน่วยงานของ กฟผ. โดยคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ที่ใช้งานได้จริง และพร้อมขยายผลไปสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ต่อไป
ที่มา: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)