ขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่: อิ่มท้องอย่างไร โดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อมในช่วงล็อคดาวน์ COVID-19


ขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นเท่าตัวช่วงล็อคดาวน์ COVID-19

ขยะพลาสติกจากบริการส่งอาหารในรูปแบบฟู้ดเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เนื่องจากมีการประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงมาตรการล็อคดาวน์ ส่งผลให้ต้องมีการขอความร่วมมือให้ประชาชนจำกัดการเดินทาง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” รวมถึงทำงานอยู่บ้าน (Work from Home) การที่ประชาชนต้องทำงานอยู่บ้านมากขึ้นส่งผลให้ต้องใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นจากผู้ให้บริการต่าง ๆ อาทิ Lineman, Grab Food, Get, Food Panda เป็นต้น ในมุมของประชาชนในฐานะผู้บริโภค การสั่งอาหารผ่านบริการฟู้ดเดลิเวอรี่เปิดโอกาสให้สามารถเลือกบริการที่ดีที่สุด ราคาที่สบายกระเป๋ามากที่สุด และยังมีโอกาสเข้าถึงร้านอาหารใหม่ ๆ ที่ไม่เคยได้ลิ้มลอง ในขณะเดียวกันธุรกิจร้านอาหารต่าง ๆ ก็มีช่องทางขายมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งชดเชยกับรายได้ที่สูญเสียไปจากการมาตรการของภาครัฐที่ไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้าน

ในช่วงปี พ.ศ. 2562 ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่มีมูลค่าสูงถึง 33,000-35,000ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 2562) จากยอดสั่งซื้อ 20 ล้านออเดอร์ ซึ่งก่อให้เกิดขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกสูงถึง 140 ล้านชิ้น ซึ่งประมาณการจากข้อมูลที่ระบุว่าการสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แต่ละครั้งสร้างขยะ 7 ชิ้น ได้แก่ กล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงน้ำซุป และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับใส่อาหารทั้งหมด อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 การคาดว่าปริมาณขยะเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นเท่าตัว (วิจารย์ สิมาฉายา 2563) ซึ่งหมายความว่าในช่วง COVID-19 คาดว่าขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่มีปริมาณสูงถึง 280 ล้านชิ้น

การทิ้งขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่แบบไม่มีการคัดแยก

ปัญหาสำคัญที่เกิดจากขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่เหล่านี้คือ ประชาชนส่วนใหญ่ทิ้งเศษอาหารปะปนมากับขยะพลาสติก ไม่มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดมาจากหลายปัจจัย เช่น การขาดความตระหนักรู้ว่าควรคัดแยกอย่างไร การนิยมความสะดวกสบายจากการที่ไม่ต้องเก็บล้าง และความกังวลว่าจะติดเชื้อ COVID-19 หากไปสัมผัสภาชนะหรือช้อนส้อมของผู้ที่ติดเชื้อ เป็นต้น เนื่องด้วยขยะพลาสติกเหล่านี้ปนเปื้อนเศษอาหาร จึงไม่สามารถนำไปรีไซเคิล แปรรูปเป็นพลังงาน หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า (Upcycle) ตามแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องนำขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนเหล่านี้ไปกำจัดโดยการเทกองหรือฝังกลบเช่นที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มภาระให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขยะเหล่านี้หากจัดการไม่ถูกต้อง อาจรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ทะเล ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การดำเนินโครงการหรือ Initiative ต่าง ๆ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต้องเดินถอยหลัง

ประเทศสิงคโปร์และเกาหลีใต้ส่งเสริมการลดขยะพลาสติกจากธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่แล้ว

เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ Food Panda ซึ่งเป็นผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศสิงคโปร์ เริ่มงดให้บริการชุดช้อนส้อมพลาสติกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งสามารถช่วยลดขยะที่เกิดจากช้อนและส้อมพลาสติกได้ถึง 250,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าถึง 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับประเทศเกาหลีใต้ ภาครัฐมีนโยบายด้านการจัดการขยะจากบริการฟู้ดเดลิเวอรี่อย่างเข้มข้น โดยผลักดันให้เกิดการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาลเกาหลีใต้ ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นและร้านอาหารที่เข้าร่วมในเครือข่ายฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยงดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ซ้อนกัน2ชั้น งดให้บริการช้อนและส้อมพลาสติก ใช้กล่องกระดาษในการบรรจุอาหารแทนกล่องพลาสติก ใช้ถุงเก็บความเย็นที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนชาวเกาหลีใต้คัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี

ผู้ประกอบการฟู้ดเดลิเวอรี่และร้านอาหารในประเทศไทยช่วยลดขยะพลาสติก

ผู้ประกอบการฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทย เช่น Grab Food ได้ช่วยลดขยะพลาสติกโดยเพิ่มตัวเลือก (Feature) ในแอพพลิเคชั่นของ Grab ให้ลูกค้าสามารถกดเลือกรับหรือไม่รับช้อน ส้อม และมีดพลาสติกเมื่อสั่งอาหาร รวมถึงส่งเสริมให้ร้านอาหารที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษเพื่อทดแทนถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง นอกจากนี้ Line Man ประเทศไทยได้ประกาศร่วมรณรงค์ลดการใช้พลาสติกในการส่งอาหารร่วมกับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารดัง โดยพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้มีตัวเลือกสำหรับไม่รับช้อนส้อมพลาสติกหรือถุงพลาสติก ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนสิงหาคม 2563

สำหรับแนวทางของธุรกิจร้านอาหาร ร้านอาหารในเครือฟู้ดแพชชั่น ซึ่งประกอบด้วย แบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า จุ่มแซ่บฮัท ฌานา สเปซคิว และเรดซัน ได้นำเอาแนวคิด Wasteless Delivery มาใช้ในการให้บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน1 โดยเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้จากพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) เป็นภาชนะแบบย่อยสลายได้ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อย ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน และถุงพลาสติกคุณภาพสูงพิเศษ ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลที่มีความหนาถึง 5 เท่า ในการให้บริการจัดส่งอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำถุงพลาสติกมาหมุนเวียนใช้ซ้ำได้มากกว่า 20 ครั้ง โดยการดำเนินการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ 1,200,000 ชิ้นในปี พ.ศ. 2563 อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญคือการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับการทิ้งภาชนะหลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จแล้ว โดยผู้บริโภคไม่ควรทิ้งภาชนะเหล่านี้ปะปนกับเศษอาหาร และไม่ควรใส่ภาชนะเหล่านี้ในถุงพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้เมื่อนำไปทิ้ง เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการจัดการภาชนะที่ใช้แล้วเหล่านี้

สตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แบบไร้ขยะซึ่งอาจเป็นตัวเลือกหลัง COVID-19

DeliverZero ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ อเมริกา นำแนวคิดการให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แบบไร้ขยะมาใช้ โดยใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบที่สามารถใช้งานซ้ำได้มาใช้แทนภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เนื่องจากเมืองนิวยอร์กมีการประกาศห้ามใช้กล่องพลาสติกโพลีสไตรีนแบบใช้แล้วทิ้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา โดยธุรกิจที่ฝ่าฝืนจะต้องเสียค่าปรับมากกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ โดยภาชนะของ DeliverZero ผลิตจากโพลีโพรพีลีนซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีความทนทานสูง สามารถใช้งานซ้ำได้มากกว่า 1,000 ครั้ง ปราศจากพลาสติก BPA (Bisphenol A) ปลอดภัยสำหรับใช้กับเตาไมโครเวฟและเครื่องล้างจาน รวมถึงผ่านการรับรองจาก NSF International โดย DeliverZero ไม่คิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับการสั่งอาหาร แต่ผู้บริโภคต้องจ่ายค่ามัดจำ (Deposit) จำนวน 2 เหรียญสหรัฐ ในแอพพลิเคชั่นของ DeliverZero สำหรับค่าภาชนะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และผู้บริโภคจะได้รับเงินมัดจำคืนเมื่อส่งคืนภาชนะภายใน 6 สัปดาห์ โดยสามารถส่งคืนได้ 2 ช่องทาง คือ มอบให้พนักงานส่งอาหารในการสั่งอาหารครั้งถัดไป หรือนัดหมายเวลารับกล่องข้าวผ่านทางแอพพลิเคชั่นของ DeliverZero ดังนั้น การให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แบบไร้ขยะอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหลังเหตุการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19

ในประเทศไทยเริ่มมีบริการฟู้ดเดลิเวอรี่แบบนำภาชนะที่ใช้ซ้ำได้แล้ว เช่น Indy Dish2 (แต่ปิดให้บริการชั่วคราวในช่วง COVID-19เพราะบริษัทกังวลเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน) ซึ่งมีรูปแบบการให้บริการเหมือนกับ DeliverZero ข้างต้น โดยร่วมมือกับร้านอาหารบางร้านในการใช้กล่องบรรจุอาหารที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่ามัดจำกล่องอาหาร 100 บาทต่อครั้ง และส่งคืนกล่องที่ทำความสะอาดแล้วให้กับทาง Indy Dish ภายใน 7 วัน โดยทาง Indy Dish จะนำกล่องอาหารนั้นไปฆ่าเชื้อซ้ำตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ก่อนที่จะนำกลับมาให้บริการต่อไป

แนวทางจัดการขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่สำหรับประเทศไทย

ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่ได้โดยใช้ 2 แนวทาง คือ “ลด” และ “คัดแยก” สำหรับแนวทางที่หนึ่ง “ลด” คือประชาชนในฐานะผู้บริโภคสามารถช่วยลดขยะพลาสติกโดยการปฏิเสธที่จะรับช้อน ส้อม หรือหลอดพลาสติก เวลาสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น โดยหันมาใช้อุปกรณ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้แทน โดยผู้ประกอบการธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ควรอำนวยความสะดวกโดยการเพิ่มทางเลือกในการสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น โดยเปิดให้ผู้สั่งอาหารสามารถระบุว่าจะรับหรือไม่รับช้อน ส้อม หลอดพลาสติก หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการ

สำหรับแนวทางที่สอง ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะพลาสติกได้ สิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคควรทำคือการ “คัดแยก” บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้ว โดยแยกขยะประเภทเศษอาหารออกไป ล้างทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วจึงรวบรวมขยะพลาสติกเหล่านี้ไปทิ้งในจุด Drop off Point สำหรับขยะพลาสติก เพื่อเข้าร่วมโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ซึ่งการคัดแยกดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกส่งไปฝังกลบและเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ผ่านกระบวนการ Recycle หรือ Upcycle ของบริษัทเอกชน และเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สามารถเกิดขึ้นได้จริง
ปัจจุบัน โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” รับขยะพลาสติก 2 ประเภท คือ พลาสติกยืดและพลาสติกแข็งที่ผ่านการทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วจากประชาชน ตัวอย่างพลาสติกยืด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงขนมปัง ถุงน้ำตาลทราย ฯลฯ และตัวอย่างของพลาสติกแข็ง ได้แก่ แก้วกาแฟ กล่องใส่อาหารเดลิเวอรี่ ฯลฯ โดยปัจจุบันมีจุด Drop off Point จำนวน 10 แห่งบนถนนสุขุมวิท จังหวัดกรุงเทพมหานคร เช่น Singha Complex ศูนย์การค้า The Emporium ร้านเทสโก้โลตัส สาขาอ่อนนุช เป็นต้น และมีการให้แรงจูงใจกับประชาชนโดยใช้แอพพลิเคชั่น ECOLIFE ในการสะสมแต้มเพื่อนำไปแลกของสมนาคุณต่าง ๆ

อีกทางเลือกหนึ่งในการใช้ประโยชน์ขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่ที่ผ่านการทำความสะอาดแล้ว คือการนำขยะพลาสติกเหล่านี้ไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในเตาผลิตปูนซีเมนต์ได้อีกด้วย ดังเช่น บริษัท N15 เทคโนโลยีในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ได้ดำเนินการอยู่ ซึ่งทางเลือกนี้สามารถรับขยะพลาสติก รวมถึงขยะประเภทอื่น ๆ ได้หลากหลายชนิด จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการจัดการกับขยะพลาสติกชนิดที่ไม่สามารถไปรีไซเคิลต่อได้

จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่าการดำเนินการตามแนวทางที่ 2นั้น จะก่อให้เกิดต้นทุนต่อผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เพราะต้องจัดการคัดแยก ทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงการรวบรวมบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งไปยังจุดรับขยะ ซึ่งเมื่อคิดคำนวณค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นเทียบกับค่าธรรมเนียมการเก็บขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานครแล้ว ถือว่าแนวทางการคัดแยกขยะบรรจุภัณฑ์ส่งไปยังจุดรวบรวมนั้นมีต้นทุนสูงกว่าการนำไปทิ้งรวมกับขยะอื่น ๆ ดังนั้น ข้อเสนอแนะด้านนโยบายเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคร่วมกันคัดแยกขยะบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งต่อไปยังจุดรับที่เหมาะสม ต้องประกอบด้วยการดำเนินงาน 2 ด้าน ได้แก่

หนึ่ง การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ถึงวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง เช่น ขยะชนิดใดรีไซเคิลได้บ้าง มีวิธีการสังเกตอย่างไร ต้องทำความสะอาดอย่างไร และส่งไปจัดการต่อได้ที่ใดบ้าง โดยหน่วยงานภาครัฐที่ควรเข้ามารับผิดชอบเรื่องการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูล และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการคัดแยกขยะที่ถูกวิธีและการจัดการกับขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้ว ได้แก่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรุงเทพมหานคร และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

สอง ควรมีการเพิ่มจุด Drop off Point สำหรับขยะบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ประเภทต่าง ๆ ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่เพื่อลดต้นทุนของการคัดแยกและส่งต่อขยะบรรจุภัณฑ์ให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อให้โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” หรือการส่งต่อไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน โดยทางกรุงเทพมหานครควรต่อยอดจากการดำเนินงานของภาคเอกชนที่ให้บริการจุด Drop off Point จำนวน 10 จุด บนถนนสุขุมวิท โดยเพิ่มจุด Drop off Point ให้ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพมหานครมากขึ้น สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดให้มีจุด Drop off Point สำหรับรับขยะพลาสติกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถขยายผลโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย

ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19” ท่านสามารถ อ่านบทความ TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 ทั้งหมด ได้ที่ https://tdri.or.th/issue/covid-19/

ข้อมูลที่คุณอาจสนใจ


Source: ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์, ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ, ประมณฑ์ กาญจนพิมลกุล

1 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/856908
2 https://www.facebook.com/pg/indydishthailand/posts/?ref=page_internal

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save