ปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของสังคมไทย


โดย ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล; ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา; ภาวินี พงศ์พันธ์พฤทฺธิ์; รัชนัน ชำนาญหมอ; ดร.อริสรา เพียรมนกุล
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral เป็นการดำเนินกิจกรรม โครงการ หรือกิจกรรมขององค์กร หน่วยงาน หรือประเทศ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีแนวทาง คือ (1) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นทาง เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil fuel) (2) การชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon offsets) โดยการลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกความเป็นกลางทางคาร์บอนทั้งนี้ ในการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็น Carbon neutral ต้องมีการรวบรวมข้อมูลซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การใช้พลังงาน (Energy consumption)  ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product; GDP)  การเผาไหม้เชื้อเพลิง  ยานพาหนะ ข้อมูลสถิติประชากร เป็นต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะใช้วิธีการคำนวณตามคู่มือการคำนวณของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Intergovernmental Panel on Climate Change; IPCC) โดยใช้ข้อมูลของกิจกรรม (Activity data) และค่าการปลดปล่อย (Emission factor) ในการคำนวณ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปีที่ต้องการลด เพื่อการวางแผนแนวทางในการชดเชยคาร์บอนหรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการคาดการณ์ (Forecast) ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปัจจุบัน การคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI)  แบบจำลองการถดถอย (Regression Model) การจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-based simulation) หรือแบบจำลองการเติบโต (Growth model) เป็นต้น ซึ่งผลที่ได้จากการวิเคราะห์แนวโน้มการเกิดก๊าซเรือนกระจกเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจการวางนโยบายและแนวทางการดำเนินการที่เป็นไปได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดในโลกคือประเทศจีน รองลงมาคือประเทศสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.3 และ 13.4 ตามลำดับ ในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งทั้งประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาได้ออกมาประกาศเป้าหมายเพื่อให้สามารถมุ่งเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2060 และ 2050 ตามลำดับ

นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หลากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มตื่นตัวและพยายามให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) โดยตั้งเป้าหมายที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงที่ผ่านมา จากการเก็บรวบรวมข้อมูลและติดตามการทำงานของประเทศต่าง ๆ โดย Energy & Climate Intelligence Unit พบว่ากว่า 100 ประเทศทั่วโลกได้มีการออกกฎหมายและนโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงจนเป็นศูนย์ ซึ่งตัวอย่างของประเทศดังกล่าวสรุปดังตารางที่ 1

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลจากตารางข้างต้นจะสังเกตได้ว่า ประเทศนอร์เวย์ สหภาพยุโรป ชิลี ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และจีน มีสัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง เนื่องจากยังมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ อยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้แนวทางการจัดการเพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในภาคอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศมีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่ การลดหรือยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินโดยเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ บางประเทศยังออกมาตรการในการเพิ่มภาษีคาร์บอน การกำหนดงบประมาณคาร์บอนเพื่อจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีการสนับสนุนเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage; CCS) และส่งเสริมให้มีการปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ (Carbon sink) อีกด้วย

ตารางที่ 1 สถานะการดำเนินการ องค์ประกอบของแต่ละภาคส่วน และแนวทางการจัดการของแต่ละประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ

แนวทางการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรปแนวทางการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนอร์เวย์แนวทางการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของชิลีแนวทางการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไอร์แลนด์แนวทางการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกา

แนวทางการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจีน

นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศนอร์เวย์ ชิลี ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และจีน ตลอดจนสหภาพยุโรป มีแนวทางการจัดการในภาคเกษตรกรรมที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ ลดการเผาวัสดุทางการเกษตรและลดการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกในฤดูกาลถัดไป สนับสนุนการใช้พลังงานชีวมวล (Biomass)การปรับปรุงการเกษตรเพื่อลดการเกิดก๊าซมีเทนซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยจะต้องมีการบริหารจัดการมูลสัตว์ที่เหมาะสม การประยุกต์ใช้หลักความสัมพันธ์ของพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy-Environment nexus) ในการปรับใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตผลผลิตทางการเกษตร และใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาดในการขนส่ง อีกทั้งยังส่งเสริมการจัดการของเสียที่เหมาะสมหลังการใช้งาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production; SCP)

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะ (Smart agriculture) ซึ่งเป็นการเกษตรที่มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถควบคุมทุกขั้นตอนด้วยเทคโนโลยีเพื่อทำการตรวจสอบ เก็บข้อมูล วิเคราะห์และแก้ปัญหาการเพาะปลูกได้ทันท่วงที พร้อมทั้งสามารถแสดงผลข้อมูลการเจริญเติบโตและคาดการณ์ผลผลิตได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของการเกษตรกรรมอีกด้วย โดยหากนำแนวทางจัดการทั้งหมดนี้มาปรับใช้ จะส่งผลให้สามารถบรรลุเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปีที่กำหนดแนวทางที่ประเทศต่าง ๆ ใช้เพื่อขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของแต่ละภาคส่วนสามารถสรุปได้ดังตารางที่ 2

สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 21 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากประเทศอินโดนีเซีย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 0.9% ของโลก หรือคิดเป็นปริมาณ 331 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี พ.ศ. 2562 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมจะประกอบด้วยสัดส่วนของภาคพลังงาน 31.9% การเผาไหม้ในภาคอุตสาหกรรมอื่น 27.7% ภาคการขนส่ง 23.3% ภาคอุตสาหกรรมที่ไม่มีการเผาไหม้ 9.5% และการใช้พลังงานภายในอาคาร 7.6% ทั้งนี้ ภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ว่าจะเป็นจากภาคพลังงาน การใช้เชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมอื่น ภาคการขนส่ง และการใช้พลังงานภายในอาคาร ล้วนเกิดจากความต้องการใช้พลังงานทั้งสิ้นโดยคิดรวมกันเป็นสัดส่วนถึง 90.5% ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการในภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม จึงควรมีการจัดตั้งคณะทำงานฯ กระทรวงพลังงานและดำเนินการศึกษาเบื้องต้นเพื่อสนับสนุนการมุ่งสู่สังคมความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย โดยจากการรวบรวบข้อมูลที่เกี่ยวข้องแนวทางการจัดการที่เหมาะสมในด้านพลังงานอาทิการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนหรือเชื้อเพลิงสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลดหรือยกเลิกการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินหรือฟอสซิล การจัดการระบบไฟฟ้าแบบสมาร์ทกริด (Smart grid) และเพิ่มประสิทธิภาพในทุกกระบวนการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

ตารางที่ 2 สรุปแนวทางการจัดการเพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนแนวทางการจัดการเพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมซึ่งนับว่าเป็นแหล่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย พบว่ามีการผลักดันให้ใช้พลังงานสะอาดในการเผาไหม้มากขึ้น ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมเขียว (Green industry) อีกทั้งยังมีการสร้างกลไกสื่อสารต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตให้มีความคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยการจัดทำฉลากสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อน Carbon neutral ด้วยโครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย T-VER จะรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดหรือกักเก็บได้ ซึ่งเรียกว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon credit) ที่สามารถนำไปทำการซื้อขายในตลาดคาร์บอนต่อไปได้

สำหรับภาคการขนส่ง พบว่ามีการสนับสนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและส่งเสริมให้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยมีการวางแผนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมในรัศมี 50-70 กิโลเมตร รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่และบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีการออกนโยบายยกเว้นภาษีสำหรับผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยอีกด้วย

สัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแต่ละภาคส่วนของประเทศไทย
สัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแต่ละภาคส่วนของประเทศไทย

ในส่วนของภาคเกษตรกรรม ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก พบว่ามีการผลักดันให้ลดการเผาไหม้วัสดุทางการเกษตร (Zero burn) เพื่อลดปัญหามลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะ (Smart agriculture) ควบคู่กับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy; BCG Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม โดยใช้แนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มายกระดับเกษตรกรรมในประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต เพิ่มมูลค่าและสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการแปลงของเสียเป็นแหล่งรายได้ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่ไม่มีการเผาไหม้ซึ่งมีสัดส่วน 9.5%ที่เกิดจากการอุปโภคและบริโภคสินค้าในชีวิตประจำวันโดยสามารถประยุกต์ใช้แนวทางในการปรับตัวในชีวิตประจำวัน ทั้งการปลูกฝังการลดการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายยากและสร้างจิตสำนึกในการลดการเกิดขยะ โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและให้ความสำคัญกับการจัดการขยะและของเสียที่เกิดขึ้น เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจากที่กล่าวถึงมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความร่วมมือและมีความมุ่งมั่นที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีโอกาสเดินหน้าเข้าสู่สังคมที่ไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในอนาคต

2. กรณีศึกษาการเดินหน้าสู่ Net zero

ตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศไอร์แลนด์ ในหัวข้อ “Zero carbon energy system pathways for Ireland consistent with Paris agreement” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบจากแนวทางการลดปริมาณคาร์บอนให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ของประเทศไอร์แลนด์ งานวิจัยนี้ทำการศึกษาด้วยแบบจำลอง Irish-TIMES energy system และ MACRO-stand-alone (MSA) ซึ่งเป็นแบบจำลองที่ศึกษาด้วยแบบจำลองการถดถอยเชิงเส้น (Linear regressionmodel)และใช้วิธีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าตามคู่มือของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change; IPCC) โดยใช้ข้อมูลกิจกรรม (Activity data) และค่าการปลดปล่อย (Emission factor) ในการคำนวณ

การคาดการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละสถานการณ์ของประเทศไอร์แลนด์
การคาดการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละสถานการณ์ของประเทศไอร์แลนด์

งานวิจัยนี้ได้ทำการจำลองสถานการณ์จำนวน 38 สถานการณ์ ซึ่งในแต่ละสถานการณ์จะทำการปรับเปลี่ยนปริมาณงบประมาณคาร์บอน (Carbon budget) ปริมาณการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และตัวแปรที่อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ประเภทของเทคโนโลยี แผนบริหารจัดการแบบต่าง ๆ เช่น การดำเนินการทันทีหรือชะลอ และการตอบสนองต่อความต้องการพลังงานที่มีต่อเศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นต้น

การใช้พลังงานและการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงในแต่ละสถานการณ์
การใช้พลังงานและการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงในแต่ละสถานการณ์

เพื่อบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกให้ร้อนขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ผลการศึกษาพบว่า หากประเทศไอร์แลนด์กำหนดงบประมาณคาร์บอน (กำหนดปริมาณการปล่อยคาร์บอน) ในปริมาณ 223 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณ 3.5–3.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ภายใต้แผนบริหารจัดการแบบทำทันที จะช่วยผลักดันให้ให้ประเทศไอร์แลนด์สามารถบรรลุวัตถุประสงค์การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงจนเป็นศูนย์ได้ภายในปีค.ศ. 2050 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาสัดส่วนของการใช้พลังงานพบว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมาย ได้แก่ ความต้องการใช้พลังงานที่ลดลง การปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ แทนการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังพบว่าการกำหนดงบประมาณคาร์บอนสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศได้รวดเร็วกว่าการกำหนดเป้าหมายการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี โดยหากดำเนินการด้วยแผนบริหารจัดการแบบทำทันทีจะสามารถลดระยะเวลาในการเข้าสู่เป้าหมาย Net zero ลง อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไอร์แลนด์ยังคงอยู่ได้ ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกลงอย่างรวดเร็วก็ตาม โดย GDP ในประเทศอาจลดลงเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงแรก แต่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในระยะยาว

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ กรณีศึกษาของประเทศไทยในหัวข้อ “Assessment of greenhouse gas mitigation pathways for Thailand towards achievement of 2°C and 1.5°C Paris Agreement targets” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินเส้นทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในช่วงปี ค.ศ. 2010–2050 เพื่อให้บรรลุความตกลงปารีส และนำไปสู่การลดลงของก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์

งานวิจัยนี้ทำการศึกษาด้วยแบบจำลองMARKAL ซึ่งเป็นแบบจำลองที่ศึกษาด้วยแบบจำลองการถดถอย (Linear regressionmodel)และใช้วิธีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าตามคู่มือการคำนวณของ IPCC โดยทำการจำลองสถานการณ์การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจำนวน 8 สถานการณ์ เปรียบเทียบกับแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละสถานการณ์จะทำการปรับเปลี่ยน ปริมาณการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป้าหมายในการลดอุณหภูมิ (1.5 และ 2 องศาเซลเซียส) ประเภทของเทคโนโลยี และตัวแปรในเชิงเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ GDP จำนวนประชากร ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากประเภทของเทคโนโลยี และแหล่งพลังงาน เป็นต้น เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละสถานการณ์ ที่มีต่อฝ่ายอุปสงค์และอุปทานของประเทศไทย ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง การใช้พลังงานภายในอาคาร และภาคเกษตรกรรม เป็นต้น

ผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยสามารถบรรลุข้อตกลงปารีสที่อุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสและเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ ในปี ค.ศ. 2050 หากสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการใช้พลังงานภายในอาคาร คิดเป็นร้อยละ 90 74.6 57.7 และ 46.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องอาศัยการปฏิรูปอย่างฉับพลันในทุกภาคส่วนของทั้งฝ่ายอุปสงค์และอุปทาน โดยฝ่ายอุปทานจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพควบคู่กับการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Bioenergy with carbon capture and storage; BECCS) และผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ จึงจะมีส่วนช่วยให้สามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้รวดเร็วขึ้น ส่วนภาคอุปสงค์นั้นต้องมีการปรับใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและใช้เทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ นอกจากนี้ภาคขนส่งควรมีการปรับเปลี่ยนไปใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น รวมถึงการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ

การคาดการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละสถานการณ์ของประเทศไทย
การคาดการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละสถานการณ์ของประเทศไทย

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยยังคงต้องการการกำหนดนโยบายและแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังมีความจำเป็นในการค้นหาทางเลือกเพิ่มเติมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การคิดภาษีคาร์บอน การซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอน การปลูกป่า และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จึงจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงจนเป็นศูนย์ได้อย่างสมบูรณ์

จากทั้งสองกรณีศึกษาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ประเทศไอร์แลนด์และประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงจนเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกของทั้งสองประเทศ ได้แก่ ความต้องการใช้พลังงานที่ลดลง การปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆเช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ และพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพควบคู่กับการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แทนการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรม การปรับเปลี่ยนไปใช้การขนส่งสาธารณะมากขึ้น รวมไปถึงการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ นอกจากนี้ในเชิงการบริหารจัดการควรมีการกำหนดงบประมาณคาร์บอนที่เหมาะสมและทำทันที จึงจะส่งผลให้ประเทศไอร์แลนด์และประเทศไทยสามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน

3. ยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับความเป็นกลางทางคาร์บอน

สำหรับประเทศไทยได้มีการตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดตัวชี้วัดไว้ 5 ด้าน โดยมีตัวชี้วัดหลักในการตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานและขนส่ง อุตสาหกรรม การใช้ผลิตภัณฑ์และการกำจัดของเสียลงอย่างน้อยร้อยละ 20 จากกรณีปกติ ในปี พ.ศ. 2580 (ค.ศ. 2037)โดยพิจารณาความสัมพันธ์ของพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy-Environment nexus) ในการจัดการในสาขาพลังงานและขนส่ง กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสีย เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนแต่ยังคงต้องรักษาระดับค่าความเข้มของการใช้พลังงาน (Energy Intensity; EI) ของประเทศให้อยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้หรือเพิ่มสูงขึ้น การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการคมนาคม การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ ตลอดจนลดการก่อให้เกิดของเสีย

ค่าเป้าหมายดังกล่าวนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเป้าหมายขั้นต่ำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เนื่องจากได้มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contribution; NDC) โดยกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกขั้นต่ำที่ร้อยละ 20 และกำหนดเป้าหมายขั้นสูงที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) รวมถึงการปรับตัว (Adaptation) เพื่อลดความสูญเสียและเสียหายจากภัยธรรมชาติและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยพิบัติ โรคอุบัติใหม่ (Emerging diseases)และการมุ่งเป้าสู่การลงทุน (Investment) ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชน ด้วยการพัฒนามาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และการคลัง ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาระบบรายงานข้อมูลที่สามารถวัดผล รายงานผล และตรวจสอบพิสูจน์ผลได้ (Measurable, Reportable and Verifiable; MRV) โดยมีการเชื่อมโยงของเครือข่ายข้อมูลในทุกภาคส่วน ซึ่งทิศทางในการกำหนดแนวทางการพัฒนาและเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) เป้าหมายที่ 13 Climate Action ที่กำหนดเป้าประสงค์ในการเตรียมความพร้อมรับเพื่อมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรูปแบบต่างๆ การผลักดันให้แต่ละประเทศกำหนดนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างความตระหนักและความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ3. ยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับความเป็นกลางทางคาร์บอน

4. แนวทางการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพลังงานและภาคขนส่งที่เป็นภาคส่วนที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงแต่ก็มีศักยภาพที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้สูงเช่นกัน โดยแนวทางในภาพกว้างเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่

1) แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน เช่น การใช้เชื้อเพลิงสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy; RE)

2) แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง เช่น การปรับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง และการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle; EV)

อย่างไรก็ตาม แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 2 ภาคส่วนนี้เป็นการปรับตัวในฝั่งอุปทาน (Supply-side) เพียงอย่างเดียว แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นจะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในฝั่งอุปสงค์ (Demand-side) ด้วยเช่นกัน ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการใช้พลังงานในภาคครัวเรือนหรือในอาคาร รวมถึงการเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงต้องการอีก 4กลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้อุปสงค์มาพบกับอุปทานที่เปลี่ยนแปลงไปตามแนวทางที่ได้วางไว้ ได้แก่แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

1) กลไกทางการเงิน หรือเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่จะช่วยผลักดันฝั่งอุปสงค์ เช่น การอุดหนุนด้านราคาเพื่อให้เกิดความต้องการใช้พลังงานสะอาดหรือยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการคิดภาษีคาร์บอน (Carbon tax) ในฝั่งผู้ผลิต เพื่อเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในฝั่งอุปทาน ซึ่งในที่นี้อาจหมายรวมถึงมาตรฐานพลังงานทางเลือก (Renewable Energy Certificate; REC) ซึ่งเป็นการผลักดันให้เกิดตลาดในการซื้อ-ขายพลังงานสะอาดภายในภาคอุตสาหกรรมด้วย นอกจากกลไกทางการเงินเพื่อการสนับสนุนทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ Social cost of carbon[1]ซึ่งหมายถึง มูลค่าทางเศรษฐกิจจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ ที่น่าจะเป็นต้นทุนอีกหนึ่งส่วนที่นำมาใช้ในการออกนโยบายเพื่อสนับสนุนหรือชดเชยแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเหมาะสม

2) เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายใต้ความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยเติมเต็มระบบนิเวศในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำหรือสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ โดยสามารถแบ่งประเภทของนวัตกรรมออกได้เป็น 4 ประเภท ที่จัดอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

    • นวัตกรรมสำหรับฝั่งอุปทาน ได้แก่ กระบวนการ (Process) และโมเดลธุรกิจ (Business model) ใหม่ที่ตอบโจทย์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น กระบวนการดักจับคาร์บอนเพื่อกักเก็บหรือใช้ประโยชน์ ระบบสมาร์ทกริด (Smart grid) และเทคโนโลยีไฮโดรเจน
    • นวัตกรรมฝั่งอุปสงค์ ได้แก่ การบริการ (Service) และผลิตภัณฑ์ (Product) ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมและการเลือกใช้พลังงานสะอาด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า หรือระบบจัดการพลังงานในอาคาร (Building energy management)

นวัตกรรมที่มีความจำเป็นนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และธุรกิจสตาร์ทอัพ (Start-up) ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทุกรูปแบบที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

3) ภาคขนส่งโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ในการวางนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การขนส่งแบบคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน (Sustainable low-carbon transportation) ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นที่ช่วยผลักดันไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงการขนส่งในรูปแบบอื่น เช่น การขนส่งผ่านระบบรางที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

4) ภาคอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องทั้งในฝั่งอุปสงค์และอุปทานอาจเกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจในลักษณะของกิจการร่วมการค้า (Joint venture) ในภาคอุตสาหกรรม อาทิเช่น รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle; BEV) เครื่องปรับอากาศ  เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5  การบริหารจัดการอาคาร  ระบบควบคุมอัจฉริยะ (Smart control)เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage; CCS)  การดักจับและนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่ (Carbon capture and utilization; CCU)  การขนส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซไฮโดรเจนทางท่อ (CO2/H2 pipeline)  ระบบสมาร์ทกริด เป็นต้นเพื่อยกระดับความสามารถและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่น่าจะเป็นโอกาสในการลงทุนสีเขียว (Green investment) และการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green recovery) ของประเทศไทย

กลไกทั้ง 4 ส่วนนี้จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนบนข้อมูลที่มีความถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือเพื่อทำให้การตัดสินใจในเชิงการออกแบบนโยบายและการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่พิจารณาในรูปคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint; CF) และความเข้มของการใช้พลังงาน (Energy Intensity; EI) ที่เป็นการวัดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้พลังงานเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต และการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

5. แนวทางการขยายผล (Scale-up) สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย

นอกจากแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและภาคขนส่งแล้ว ยังมีภาคส่วนอื่นที่สามารถมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมได้ ยกตัวอย่างเช่นในภาคอุตสาหกรรมที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง อาจพิจารณาการใช้เชื้อเพลิงสะอาดและพลังงานทดแทน ตลอดจนการเลือกใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนเพื่อกักเก็บหรือใช้ประโยชน์ และอีกภาคส่วนหนึ่งที่สำคัญซึ่งมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็คือจากสินค้าและอาหารที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในกระบวนการผลิต การใช้เพื่ออุปโภคบริโภค ไปจนถึงการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้น โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพื้นที่อาศัยมีสัดส่วนจากการซื้อสินค้าและอาหารกว่าร้อยละ 40 ดังนั้นการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production; SCP) ที่มีการใช้หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy; CE) ที่จะช่วยลดทรัพยากรที่ต้องใช้ก็จัดเป็นแนวทางหลักที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการอุปโภคบริโภคได้

แนวทางทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงนั้นเป็นการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิด (Source) แต่หากพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิแล้วนั้น จะพบว่ายังมีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือ พื้นที่สีเขียวที่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Sink) ทั้งนี้ ในยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเองก็ได้มีการกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ซึ่งมีการประมาณการว่าน่าจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 100 ล้านตันต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น การจัดการพื้นที่สีเขียวหรือทรัพยากรป่าไม้อย่างเหมาะสมยังช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านโมเดลเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio Economy) ได้อีกทางหนึ่ง

การจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยในส่วนของการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และการติดตามสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยนั้น จะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งกำกับดูแลทั้งในส่วนของการจัดการทรัพยากรป่าไม้และพื้นที่สีเขียว และยังเป็นหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะเป็นผู้นำเสนอ NDC ของประเทศในเวทีสหประชาชาติตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงปารีส (Paris Agreement) การดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทั้ง 2 ด้านนี้จะอยู่ภายใต้แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแผนหลักของกระทรวงที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่ง และความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศซึ่งหมายรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกันตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมและการสื่อสารเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการจัดการก๊าซเรือนกระจกและแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือผลกระทบให้กับสังคมในทุกภาคส่วนที่เป็นหนึ่งในบทบาทที่สำคัญของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงเรียกได้ว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ในการจัดการส่วนของการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(Carbon sink)และภาพรวมในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้นทางอย่างใกล้ชิด

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี / SDGs

นอกจากการเปลี่ยนแปลงในแต่ละภาคส่วนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้นทางและการเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การนำใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon capture, utilization, and storage; CCU/S)ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จำเป็นต้องมีการผลักดันอย่างจริงจัง โดย CCU/S นี้เป็นเทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดหลัก เช่น การผลิตไฟฟ้าในภาคพลังงาน หรือในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตซีเมนต์และโลหะซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 21 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCU/S และตั้งเป้าไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

นอกจาก4 กลไกหลักที่เป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ ทั้งกลไกทางการเงิน เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการปรับตัวของภาคขนส่งและอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีปัจจัยส่งเสริมที่จะช่วยให้เป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางของคาร์บอนของประเทศสามารถประสบความสำเร็จอีก3 ด้าน ได้แก่

1) การจัดการความรู้ (Knowledge management) อย่างเป็นระบบเพื่อการถ่ายทอดสู่สาธารณะทั้งในรูปแบบของการประชาสัมพันธ์ (Public Relation; PR)และการสร้างแบรนด์ (Branding) ของการเป็นสังคมไทยที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

2) การจัดการข้อมูล (Data management) เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่สามารถวัดผล รายงานผล และตรวจสอบพิสูจน์ผลได้อย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการจัดการก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการออกแบบนโยบายหรือมาตรการที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐเช่น การดำเนินการจัดทำศูนย์ข้อมูล หรือ Sensor เพื่อตรวจวัดข้อมูลในระบบ Real time

3) การวิจัยและพัฒนา (Research and Development; R&D)ที่อาจนำไปสู่การลงทุนของภาคเอกชนหรือภาครัฐในกิจกรรมที่มีความสำคัญ

ปัจจัยทั้ง 3 ด้านนี้เป็นหลักการเช่นเดียวกับความพยายามในการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กทั้งPM2.5 และ PM10ดังตัวอย่างในโครงการ Sensor for All ที่อาศัยทั้งเทคโนโลยีในการตรวจวัด ส่งข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแสดงผล การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมผ่านช่องทางต่าง ๆ และการวิจัยและพัฒนาจากข้อมูลที่ได้รับ เช่น การพัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นในอนาคต ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ด้านนี้จะช่วยส่งเสริมให้การบริหารจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่นเดียวกันกับการมุ่งสู่สังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน การสร้างปัจจัยทุกด้านให้มีความพร้อมจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนทุกกลไกและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือที่จำเป็น ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในเชิงโครงสร้างในการจัดตั้งหน่วยงานที่มีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือเพื่อการจัดการองค์ความรู้ จัดการข้อมูล และช่วยกำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนาที่จำเป็น จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ควรพิจารณาในการสร้างระบบนิเวศสำหรับการขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

ฤโดยสรุปแล้ว ในการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอน จำเป็นต้องมีการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในทุกภาคส่วน มีการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ยกระดับเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้ง การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น แนวทางในการสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวประกอบด้วย

• ภาครัฐควรมีบทบาทนำในการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอนเนื่องจาก การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงานและภาคส่วน ในหลายระดับทั้งระดับระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องมีกรอบแนวทางและนโยบายที่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีบทบาทในการสนับสนุนทั้งในเชิงนโยบายการเงิน และการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอน รวมทั้งภาครัฐควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับภาคเอกชนและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจน สร้างเครื่องมือติดตามประเมินผลที่มีตัวชี้วัดและการรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการประเมินผลและจัดการข้อมูล (Data Management) โดยการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลหรือ Sensor เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่สามารถวัดผล รายงานผล และตรวจสอบพิสูจน์ผลได้อย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการจัดการก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมอย่างมีประสิทธิภาพ

• มาตรการทางสังคมเพื่อสนับสนุนกิจกรรมความเป็นกลางทางคาร์บอนการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการกำหนดนโยบายเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยควรมีการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมรวมทั้งมีการเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ บุคลากรที่เกี่ยวข้อง แรงงาน และนิสิตนักศึกษา เพื่อเตรียมตัวรองรับกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียวในอนาคตตลอดจนมีการสร้างแบรนด์ (Branding) ของการเป็นสังคมไทยที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อก่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง

• มาตรการด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและการเงิน การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมสีเขียวและความท้าทายจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการสร้างเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ซึ่งภาครัฐและเอกชนควรมีการสนับสนุนทางการเงินและแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสะอาดเพื่อสร้างความยั่งยืนในประเทศ ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือทางการเงินและกลไกตลาด เช่น การสร้างกลไกราคาคาร์บอน (Carbon pricing) การซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (Emissions TradingScheme; ETS) และมาตรการอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของประเทศ

ในการนี้ จะเห็นได้ว่าการออกแบบนโยบายหรือมาตรการที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ ตลอดจนความร่วมมือและการลงทุนของภาคเอกชนหรือภาครัฐในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมีส่วนช่วยให้เกิดความสมดุลระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศตามที่ได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือใน NDC ของประเทศ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งนำไปสู่การสร้างสังคมเป็นกลางทางคาร์บอนที่ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลกับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน


[1]Social Cost of Carbon(SCC) เป็นการประมาณต้นทุนที่สังคมจะต้องแบกรับจากผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งได้มีการประมาณโดยหลายหน่วยงานจึงมีอัตราค่า SCC ที่มีการรายงานไว้กว่า 200 ค่าที่แตกต่างกัน โดยผลการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับได้จะอยู่ในช่วง 192–3,133 บาทต่อตันคาร์บอน และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 483 บาทต่อตันคาร์บอน (ที่มา : กรมสรรพสามิต)

เอกสารอ้างอิง

  • Baiping Chen, Lars Fæste, Rune Jacobsen, Ming Teck Kong, Dylan Lu, and Thomas Palme. (2020). How China Can Achieve Carbon Neutrality by 2060. (Online). Available : https://www.bcg.com/publications/-2020/how-china-can-achieve-carbon-neutrality-by-2060
  • Bloomberg Green. (2021). Forestry giant Chile needs more trees to zero out emissions. (Online). Available : https://www.bloomberg.com/news/features/2021-03-18/forestry-giant-chile-needs-more-trees-to-zero-out-emissions
  • Climate action tracker. (2020). Chile. (Online). Available : https://climateactiontracker.org/countries/chile/
  • Climate action tracker. (2020). China. (Online). Available : https://climateactiontracker.org/countries/china/
  • Climate action tracker. (2020). Norway. (Online). Available : https://climateactiontracker.org/countries/-norway/
  • Climate Action Tracker. (2020). Paris Agreement turning point Wave of net zero targets reduces warming estimate to 2.1°C in 2100 All eyes on 2030 targets. (Online). Available : https://climateactiontracker-.org/documents/829/CAT_2020-12-01_Briefing_GlobalUpdate_Paris5Years_Dec2020.pdf
  • Climate home news. (2019). Which countries have a net zero carbon goal?. (Online). Available : https://www.climatechangenews.com/2019/06/14/countries-net-zero-climate-goal/
  • Climate works foundation. (2020). China pledged net-zero emissions by 2060. Here’s what it will take to get there. (Online). Available : https://www.climateworks.org/blog/china-pledged-net-zero-emissions-by-2060-heres-what-it-will-take-to-get-there/
  • Department of the Environment, Climate and Communications. (2021). Climate Action and Low Carbon Development (Amendment) Bill 2021. (Online). Available : https://www.gov.ie/en/publication/984d2-climate-action-and-low-carbon-development-amendment-bill-2020/
  • Edie newsroom. (2021). US takes step towards 2050 net-zero target with sweeping climate bill. (Online). Available : https://www.edie.net/news/11/US-takes-step-towards-2050-net-zero-target-with-sweeping-climate-bill/
  • Energy & Climate Intelligent Unit. (2021). Net zero tracker. (Online). Available : https://eciu.net/-netzerotracker
  • European Alternative Fuels Observatory. Ireland. (Online). Available : https://www.eafo.eu/countries/-ireland/1738/incentives
  • European commission. (2020). Communication from the commission to the European parliament, the council, the European economic and social committee and the committee of the regions. (Online). Available : https://ec.europa.eu/energy/sites/ener/files/eu_methane_strategy.pdf
  • European Commission. (2020). Fossil CO2 emissions of all world countries. (Online). Available : https://edgar.jrc.ec.europa.eu/report_2020#emissions_table
  • European Union. (2019). Going CLIMATE-NEUTRAL by 2050. (Online). Available : https://ec.europa.eu/-clima/sites/clima/files/long_term_strategy_brochure_en.pdf
  • Evaluation of manure management systems in Europe. (Online). Available : https://core.ac.uk/-download/pdf/46606176.pdf
  • Gas Networks Ireland. Vision 2050 A Net Zero Carbon Gas Network for Ireland. (Online). Available : https://www.gasnetworks.ie/vision-2050/future-of-gas/GNI_Vision_2050_Report_Final.pdf
  • Green network. (2020). กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าผลักดัน Roadmap พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ในปี 2030. (Online). Available : https://www.greennetworkthailand.com/roadmap-%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2/
  • IEA. (2020). CCUS in Clean Energy Transitions, IEA, Paris https://www.iea.org/reports/ccus-in-clean-energy-transitions
  • James Glynn, Maurizio Gargiulo, Alessandro Chiodi, Paul Deane, Fionn Rogan & Brian Ó Gallachóir (2019) Zero carbon energy system pathways for Ireland consistent with the Paris Agreement, Climate Policy, 19:1, 30-42, DOI: 10.1080/14693062.2018.1464893
  • JEFF ST. JOHN. (2021). A State-by-State Model of the US Net-Zero-Carbon Future. (Online). Available : https://www.greentechmedia.com/articles/read/to-zero-carbon-is-preferable-to-reachin
  • Joe Myers. (2015). What are Europe’s biggest sources of carbon emissions?. (Online). Available : https://www.weforum.org/agenda/2015/11/what-are-europes-biggest-sources-of-carbon-emissions/
  • Lu, Yuehong& Khan, Zafar & Alvarez-Alvarado, Manuel & Zhang, Yang & Huang, Zhijia& Imran, Muhammad. (2020). A Critical Review of Sustainable Energy Policies for the Promotion of Renewable Energy Sources. Sustainability. 12. 5078. 10.3390/su12125078.
  • Ministry of Environment. (2016). Chile’s second biennial update report on climate change. (Online). Available : https://mma.gob.cl/wp-content/uploads/2017/04/2016_2BUR_en_CL.pdf
  • NFU. (2019). Achieving NET ZERO farming’s 2040 goal. (Online). Available : https://www.nfuonline.com/nfu-online/business/regulation/achieving-net-zero-farmings-2040-goal/
  • SalonyRajbhandari&BunditLimmeechokchai (2021) Assessment of greenhouse gas mitigation pathways for Thailand towards achievement of the 2°C and 1.5°C Paris Agreement targets, Climate Policy, 21:4, 492-513, DOI: 10.1080/14693062.2020.1857218
  • The White House. (2021). FACT SHEET: President Biden Sets 2030 Greenhouse Gas Pollution Reduction Target Aimed at Creating Good-Paying Union Jobs and Securing U.S. Leadership on Clean Energy Technologies. (Online). Available : https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/04/22/fact-sheet-president-biden-sets-2030-greenhouse-gas-pollution-reduction-target-aimed-at-creating-good-paying-union-jobs-and-securing-u-s-leadership-on-clean-energy-technologies/
  • UNFCCC. (2020). Norway’s long-term low-emission strategy for 2050. (Online). Available : https://unfccc.int/sites/default/files/resource/LTS1_Norway_Oct2020.pdf
  • Union of concerned scientists. (2021). Cooler Smarter: Geek Out on the Data!. (Online). Available : https://www.ucsusa.org/resources/cooler-smarter-geek-out-data
  • Worldometer. CO2 Emissions. (Online). Available : https://www.worldometers.info/co2-emissions/
  • Zhorea Garcia. (2020). Electric Car Industry in China Gets Tax Relief and Incentives. (Online). Available : https://www.sjgrand.cn/electric-car-industry-china-tax-relief-incentives/
  • กรมสรรพสามิต. การจัดการความรู้ (KM) เรื่อง การพัฒนากฎหมายการจัดเก็บภาษีคาร์บอน. (Online). Available : https://www.excise.go.th/cs/groups/public/documents/document/mjaw/mdyx/~edisp/webportal16200061848.pdf


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save