มจธ. จับมือ GC – เทศบาลเมืองมาบตาพุดนำธนาคารน้ำใต้ดินช่วยชาวสวนมะม่วง จ.ระยอง ป้องกันน้ำท่วม – กักเก็บน้ำใช้ฤดูแล้ง


ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีความต้องการใช้น้ำมากที่สุด จากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ไม่อาจคาดเดา หลายพื้นที่ของประเทศประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง แม้จะล่วงเข้าสู่ช่วงกลางฤดูฝนแล้ว บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทุกครั้งที่ฝนตก ดังเช่น ชาวสวนมะม่วงและสวนพุทราอายุกว่า 80 ปี บนพื้นที่กว่า 121 ไร่ ในตำบลพระเนิน เป็นเกษตรพื้นทราย ซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงเมื่อปีพ.ศ.2562 จนกระทั่งต้องหาซื้อน้ำเพื่อนำมาใช้รดสวนมะม่วงจากเดิมที่อาศัยเพียงฝนจากฟ้า ทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายสูงขณะเดียวกันยังประสบปัญหามะม่วงยืนต้นตายจากภาวะน้ำเค็มรุกล้ำอีกด้วย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)โดยศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO)จึงร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และเทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง จัดทำโครงการบริหารการจัดการน้ำใต้ดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อช่วยชาวสวนมะม่วงจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งและน้ำเค็ม ในตำบลเนินพระ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของเทศบาลเมืองมาบตาพุด โดยให้ความรู้ความเข้าใจและพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการน้ำใต้ดินในพื้นที่เกษตรพื้นทรายสวนมะม่วงของบุญส่ง บุญยั่งยืน ตามมาตรฐานการทำธนาคารน้ำใต้ดิน 8 ขั้นตอน ผลการทดสอบพบว่า เป็นที่น่าพอใจสามารถตอบโจทย์ให้กับเกษตรกรและท้องถิ่นเกิดความมั่นใจมากขึ้น ล่าสุด เตรียมขยายออกไปในพื้นที่สวนอื่นๆ ในตำบลเนินพระโดยตั้งเป้าจัดทำระบบน้ำใต้ดินจำนวน 20 บ่อ คาดว่าปีนี้จัดทำได้ 17 บ่อ

แนวคิดธนาคารน้ำใต้ดินมีมานานนับพันปี เพิ่งได้รับความนิยมในช่วง3ปีที่ผ่านมา

ดร.ปริเวท วรรณโกวิท

ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า โครงการการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดิน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วง3ปีที่ผ่านมา โดยการริเริ่มของพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) ที่มีมานับ 1,000 ปี โดยนำเอาแนวคิดการเก็บน้ำไว้ใต้ดินจากประเทศสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักจะมีปัญหาน้ำท่วมหนักในฤดูฝนและแล้งมากในฤดูร้อน หลักการคือการเติมน้ำลงไปเก็บไว้ใต้ดินและนำออกมาใช้ได้เมื่อยามต้องการ

ทั้งนี้ มจธ.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้องค์ความรู้ในด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และการแปลภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาสนับสนุน เพื่อรวบรวมข้อมูลหาพื้นที่ในการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินเนื่องจากในแต่ละพื้นที่นั้นมีลักษณะชั้นดินและหินอุ้มน้ำแตกต่างกัน โดยตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินการในปี พ.ศ. 2560 มีพื้นที่ต้นแบบที่ร่วมดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ ตำบลบ้านผึ้ง จังหวัดนครพนม ตำบลวังหามแห จังหวัดกำแพงเพชร ตำบลหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท และตำบลเชียงเครือ จังหวัดสกลนคร ปัจจุบันเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการฯนับเป็นปีที่3 แล้ว

3 หน่วยงานผนึกกำลังช่วยชาวสวนมะม่วง จ.ระยอง แก้ปัญหาน้ำท่วม รับมือภัยแล้ง

โครงการธนาคารน้ำใต้ดินที่ตำบลเนินพระอำเภอเมือง จังหวัดระยอง

สำหรับโครงการธนาคารน้ำใต้ดินที่ตำบลเนินพระอำเภอเมือง จังหวัดระยอง เป็นโครงการความร่วมมือ 3 ฝ่าย โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC สนับสนุนทุน วัสดุหินถมและการขนส่งภายใต้โครงการ “มาบตาพุดรวมใจฝากน้ำไว้กับแผ่นดิน” ส่วนเทศบาลเมืองมาบตาพุด สนับสนุนเรื่องการประสานพื้นที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ เช่น รถแม็คโครเพื่อใช้ขุด ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สนับสนุนองค์ความรู้เข้าไปช่วยวิเคราะห์และสำรวจพื้นที่เหมาะสมสำหรับทำบ่อกักเก็บน้ำในแต่ละสวน โดยมจธ. ได้เข้าไปทำการสำรวจ และจัดทำบ่อกักเก็บน้ำ หรือธนาคารน้ำใต้ดินในสวนมะม่วงต้นแบบของบุญส่ง บุญยั่งยืน ตำบลเนินพระ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของสวนบุญส่ง มีลักษณะเช่นเดียวกับสวนมะม่วงรายอื่นๆ ที่มีสภาพเป็นดินทราย ในช่วงที่ฝนตกหนักจะระบายไม่ทัน และพอฝนตกน้ำจะท่วมสูงขึ้นมาประมาณ 15-20 ซม. โดยจัดทำเป็นบ่อระบบปิดขนาดเล็ก เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่สามารถทำบ่อระบบเปิดได้ ซึ่งดำเนินการเสร็จทันในช่วงหน้าฝนนี้พอดี

การจัดการน้ำใต้ดินระบบปิด จะทำหน้าที่เป็นหลุมดักน้ำเพื่อช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมในฤดูฝนและน้ำขัง เป็นระบบที่ใช้พื้นที่ไม่มาก จึงสามารถทำในบริเวณที่อยู่อาศัยได้ โดยขุดผิวดินที่น้ำซึมผ่านได้ยากและใส่วัสดุที่แข็งแรง เช่นหินเพื่อให้มีช่องน้ำไหลผ่านได้สะดวก อีกทั้งยังมีการกรองน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ใต้ดินเพื่อไม่ให้บ่ออุดตันเร็ว

บุญส่ง บุญยั่งยืน
บุญส่ง บุญยั่งยืน

หลังจากผ่านไป 1 เดือน พบว่าธนาคารน้ำใต้ดิน ช่วยระบายน้ำท่วมให้ลดลงเร็ว ไม่มีปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำขังอีก ขณะเดียวกันมวลน้ำเหล่านี้ไปช่วยลดความเค็มที่อยู่ในดิน ให้ชะล้างออกไป ซึ่งถือเป็นการจัดการน้ำชายฝั่งได้อีกด้วย เนื่องจากเทศบาลเมืองมาบตาพุดอยู่ติดทะเลและด้วยสภาพของเมืองที่เปลี่ยนไปพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผิวคอนกรีตทำให้ความเค็มยิ่งรุกล้ำ และทำให้พื้นดินสวนมะม่วงชุ่มชื้นช่วยให้ต้นมะม่วงเจริญเติบโตในภาวะแล้งได้มากขึ้น

“เทศบาลตำบลมาบตาพุดแนะนำให้ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งมีประโยชน์หลายอย่าง คือ ใช้น้ำหน้าแล้ง ป้องกันน้ำท่วม ช่วยดันตะกอนน้ำออกทะเล ทำเกษตรบนความยั่งยืน โดยบ่อตัวอย่างที่จัดทำต้นแบบธนาคารน้ำใต้ดิน มีทั้งหมด 3 บ่อ บนพื้นที่ทั้งหมด 7 ไร่ ผลน้ำไม่ท่วม เก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้ ทำให้ต้นไม้ชุ่มชื้นมากขึ้น” บุญส่ง กล่าว

ธนาคารน้ำใต้ดินช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดินชะลอน้ำท่วม –กักเก็บน้ำยามแล้ง

ดร.ปริเวท อธิบายว่าการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดินคือ กระบวนการเติมน้ำฝนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดินที่ชั้นหินอุ้มน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ และเมื่อถึงช่วงฤดูแล้งสามารถนำน้ำจากบ่อผิวดิน และบ่อบาดาลที่อยู่ไกล้เคียงมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำใต้ดินดังกล่าวไม่เพียงช่วยชะลอน้ำท่วม ช่วยกักเก็บน้ำ ในฤดูแล้ง แต่ยังช่วยลดความเค็มและเพิ่มความชุ่มชื้นให้หน้าดินในสวนมะม่วงของชาวสวนในพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยองได้อีกด้วย

การจัดการน้ำใต้ดินที่จัดทำ

การจัดการน้ำใต้ดินระบบปิด: ทำหน้าที่เป็นหลุมดักน้ำเพื่อช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมในฤดูฝนและน้ำขัง เป็นระบบที่ใช้พื้นที่ไม่มาก จึงสามารถทำในบริเวณที่อยู่อาศัยได้ โดยขุดผิวดินที่น้ำซึมผ่านได้ยากและใส่วัสดุที่แข็งแรง เช่นหินเพื่อให้มีช่องน้ำไหลผ่านได้สะดวก อีกทั้งยังมีการกรองน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ใต้ดินเพื่อไม่ให้บ่ออุดตันเร็ว

การจัดการน้ำใต้ดิน

8 ขั้นตอนธนาคารน้ำใต้ดินตามมาตรฐาน American Groundwater Solution

จากความสำเร็จดังกล่าว มจธ. ร่วมกับเทศบาลเมืองมาบตาพุด และบริษัท GC จัดอบรมให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำใต้ดินตามโครงการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุนด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน 8 ขั้นตอน ตามมาตรฐาน American Groundwater Solution: AGS ให้กับเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ตำบลเนินพระเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

8 ขั้นตอนธนาคารน้ำใต้ดิน

ชี้พื้นดินเป็นดินทราย ชาวสวนประสบปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งเกือบทุกปี

วรรณธิดา แสนศิริ

วรรณธิดา แสนศิริ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง กล่าวว่า เนื่องจากพื้นดินที่นี้เป็นดินทราย ไม่สามารถเก็บกักความชื้นไว้ได้ ชาวสวนมะม่วงจึงประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งเกือบทุกปี โดยเฉพาะปีพ.ศ.2562 ที่ผ่านมา เกิดภัยแล้งรุนแรง เกษตรกรประสบปัญหาอย่างมาก ไม่มีน้ำรดสวน ทำให้เกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จากเดิมที่อาศัยเพียงน้ำฝนสำหรับการทำเกษตรของชาวบ้านเท่านั้น

“แม้สภาพพื้นดินจะเป็นพื้นทราย แต่ชาวบ้านที่นี้ทำสวนมะม่วงกันมากว่า 50 ปีแล้ว เนื่องจากเกิดปัญหาภัยแล้งอย่างหนักเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นมะม่วงยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก ถือเป็นภัยแล้งที่หนักที่สุด เกษตรกรต้องหาซื้อน้ำมารดสวน พออาจารย์เข้ามาให้คำแนะนำว่ายังมีหนทางที่จะสามารถเอาน้ำลงไปไว้ในใต้ดิน ไม่ให้ระเหยไปโดยจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ได้บ้าง ดีกว่าไหลลงคลองลงทะเลซึ่งยอมรับว่าเรื่องนี้ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่ของเราเพราะไม่เคยคิดว่าสภาพพื้นดินที่เป็นดินทรายจะสามารถทำอะไรแบบนี้ได้ หลังจากได้ผลทดลองที่ได้จากสวนต้นแบบ ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น จึงต้องการจัดทำบ่อหรือธนาคารน้ำใต้ดินกระจายไปให้ทั่วทุกสวน” วรรณธิดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมและน้ำเค็มที่รุกล้ำพื้นที่สวนมะม่วงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เทศบาลฯ ยังมีความกังวลคือภาคอุตสาหกรรมมีการดึงน้ำจากคลองชลประทานไปใช้ ขณะที่ชาวบ้านไม่ได้ใช้น้ำเพื่อภาคการเกษตร แต่ใช้เพื่อรักษาระดับน้ำผิวดิน เพื่อให้ดินชุ่มชื้น และช่วยในการระบายน้ำเท่านั้น

มะม่วง

มะม่วง 1 ต้นเสียบกิ่งได้หลายพันธุ์ ผลผลิตที่ได้รสชาติหวานอร่อย – พิเศษเฉพาะไม่เหมือนใคร

สำหรับพื้นที่ปลูกมะม่วงกว่า 121 ไร่ ในตำบลเนินพระนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลเมืองมาบตาพุด มีลักษณะพิเศษคือเป็นเกษตรพื้นทราย ในอดีตมีการปลูกพุทรามากว่า 70-80 ปี ปัจจุบันเหลือเพียง 2 -3 ราย เนื่องจากราคาถูก จึงหันมาปลูกมะม่วงมากขึ้น โดยมีมะม่วงทั้งหมด 53 สายพันธุ์ ทั้งนี้จุดเปลี่ยนจากการปลูกมะม่วง ซึ่งกลายมาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน9 ชุมชนในตำบลเนินพระมาจากการจุดประกายของลุงทวน วงษ์เนินซึ่งเห็นต้นมะม่วงป่าขึ้นสามารถเติบโตบนพื้นทราย และให้ผลผลิตได้โดยไม่ต้องรดน้ำ จึงได้ทดลองนำกิ่งพันธุ์มะม่วง เช่น อกร่อง เขียวเสวย น้ำดอกไม้มาเสียบยอดลงบนตอมะม่วงป่าเก่าทั้งนี้ต้นมะม่วง1 ต้นสามารถเสียบกิ่งได้หลายพันธุ์ซึ่งผลผลิตที่ได้รสชาติหวานอร่อย แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับลูกหลานและเพื่อนบ้านจนกระทั่งขยายเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบันกลายเป็นความพิเศษเฉพาะของพื้นถิ่นนี้ที่ไม่เหมือนที่ไหนด้วยรสชาติที่อร่อยเข้มข้น ทั้งยังไม่อมน้ำมากเกินไป เนื้อละเอียดไม่แฉะน้ำทำให้รสชาติมะม่วงอยู่ในเนื้อ ๆ กรอบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะนอกจากนี้ผิวสวยและเปลือกบาง

ลุงชลอ วงษ์เนิน
ลุงชลอ วงษ์เนิน

ล่าสุดผลผลิตมะม่วงเขียวเสวยจากสวนลุงชลอ วงษ์เนิน ประธานวิสาหกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ทางชีวภาพมาบตาพุด ได้รับรางวัลที่ 2 ประเภทมะม่วงดิบประเภทมะม่วงดิบจากงานเกษตรแฟร์เมื่อต้นปีพ.ศ.2563ด้วยลักษณะเฉพาะของมะม่วงที่นี้ ทำให้เทศบาลฯ ให้ความสำคัญเพื่อให้สวนมะม่วงที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นนี้ยังคงอยู่ต่อไป ที่สำคัญพื้นที่เกษตรพื้นทรายอยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น ทำให้ต้องหาทางป้องกันทั้งเรื่องน้ำและอากาศ ซึ่งล้วนมีผลต่อผลผลิตมะม่วงของเกษตรกร

รางวัลที่ 2 ประเภทมะม่วงดิบประเภทมะม่วงดิบจากงานเกษตรแฟร์

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ดร.ปริเวท กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วยมะม่วงที่ปลูกจากพื้นทรายของตำบลเนินพระ มีรสชาติดีแตกต่างจากที่อื่น ในอนาคตจึงมีแนวคิดที่จะรับ Pre- order เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และเพิ่มมูลค่าโดยตรง อีกทั้งพื้นที่มาบตาพุด ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ หากได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวนมะม่วง และสวนพุทรา ก็จะเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับคนในพื้นที่ได้อีกด้วย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save