ถึงเวลา… ประหยัดพลังงานในบ้าน อย่างจริงจัง


เราพูดกันถึงเรื่องการประหยัดพลังงานมาเนิ่นนานกว่า 10 ปี ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน แต่ในทางปฏิบัตินั้นที่ผ่านๆ มา ไม่มีกฎเกณฑ์และมาตรการที่จริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะในภาคครัวเรือน จะเห็นความเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม

ด้วยเหตุนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงร่วมกันพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานในบ้านอยู่อาศัยขึ้นเป็นครั้งแรก และสร้างต้นแบบบ้านประหยัดพลังงานเพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมการจัดการพลังงานบ้านอยู่อาศัย ภายใต้ “โครงการศึกษาเพื่อจัดทำเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย” ประจำปี พ.ศ. 2561

โดยเกณฑ์มาตรฐานสำหรับ ปี พ.ศ. 2562-2564 พบว่า บ้านเดี่ยวควรมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 25 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปีและสำหรับห้องแถว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด ควรมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 44 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี สำหรับพลังงานไฟฟ้าในระบบปรับอากาศและระบบแสงสว่าง ซึ่งคาดว่าเกณฑ์ข้อบังคับที่ศึกษาได้นี้จะบังคับใช้ได้จริงในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะบังคับใช้บ้านอยู่อาศัยที่ก่อสร้างใหม่ ที่ยื่นขออนุญาตในปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

สาร์รัฐ ประกอบชาติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน
สาร์รัฐ ประกอบชาติ

สาร์รัฐ ประกอบชาติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศกำลังเพิ่มขึ้นแบบไร้ขีดจำกัด หนึ่งในสัดส่วนสำคัญมาจากการใช้พลังงานบ้านอยู่อาศัย ซึ่งมีการเพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยปีละ 500,000 หลังต่อปี ทำให้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นและเกินความจำเป็นโดยมีสัดส่วนจำนวนบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟเกินทั่วประเทศเฉลี่ยราว 40% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 10,000 ล้านบาท จากการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศเกินความจำเป็น สอดคล้องกับข้อมูลของ พพ.ที่พบว่าปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของครัวเรือนที่อยู่อาศัยในแต่ละปีพุ่งสูงขึ้นมาอยูที่ประมาณ 20% เป็นรองแค่ภาคอุตสาหกรรม (30-37%) และอันดับ 1 คือ ภาคการคมนาคมขนส่ง (40%)

เพื่อให้ให้เป็นไปตามแผนการลดใช้พลังงานไฟฟ้าของบ้านอยู่อาศัย พพ. จึงได้ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพ การใช้พลังงานในบ้านอยู่อาศัยขึ้นเป็นครั้งแรก และสร้างต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมการจัดการพลังงานที่อยู่อาศัย ภายใต้ “โครงการศึกษาเพื่อจัดทำเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อ าศัย” ประจำปีพ.ศ. 2561 ซึ่งได้รับงบประมาณในการดำเนินการศึกษาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 10 ล้านบาท และจะทำการศึกษาวิจัยค่ามาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานใหม่ทุกๆ 5 ปี เพื่อเป็นมาตรฐานในการออกแบบทางพลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัย อันจะก่อให้เกิดผลในวงกว้าง เช่นเดียวกับมาตรฐานด้านพลังงานในอาคารขนาดใหญ่ และเกิดการประหยัดพลังงานของประเทศได้ตามเป้าหมายในภาคครัวเรือนที่อยู่อาศัยที่ พพ.วางเอาไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2579 จะต้องลดใช้พลังงานในภาคครัวเรือนที่อยู่อาศัยให้ได้ 13,633 กิโลวัตต์-ชั่วโมง และจะนำผลการศึกษาในโครงการนี้ไปให้ความรู้ ชี้แนะเพื่อสร้างความเข้าใจสร้างความมั่นใจในการหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือนรวมทั้งสร้างความมั่นใจในแบบบ้านประหยัดพลังงานที่ทางคณะผู้วิจัยได้นำเสนอต่อประชาชนที่สนใจนำไปก่อสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัยในอนาคต หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัยเดิมเจาะเฉพาะพื้นที่ใช้วัสดุฉนวนกันแสงแดด หรือจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ไว้ใช้ยามคํ่าคืน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งได้ ทั้งนี้คาดว่าจะบังคับใช้ได้จริงในอีก 5 ปีข้างหน้า

ผลการศึกษาจาก “โครงการศึกษาเพื่อจัดทำเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย” ปี พ.ศ. 2561

ผศ.รุ่งโรจน์ วงศ์มหาศิริ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
ผศ.รุ่งโรจน์ วงศ์มหาศิริ

ผศ.รุ่งโรจน์ วงศ์มหาศิริ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หัวหน้าโครงการศึกษาเพื่อจัดทำเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย กล่าวว่าในระยะแรกเป็นการเก็บข้อมูลพื้นฐานของที่พักอาศัยการใช้ไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 2,654 หลัง เป็นบ้านเดี่ยวมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 120 ตารางเมตร มีความสูง 1-2 ชั้นประมาณ 2.9 เมตร เป็นหลังคาจั่วมุม 30 องศา เป็นส่วนใหญ่ มีอัตราส่วนช่องเปิดประมาณ 20% ของพื้นที่ผนังในแต่ละด้าน มีสัดส่วนพื้นที่ปรับอากาศต่อพื้นที่ใช้สอย ประมาณ 20% ความยาวชายคาประมาณ 1 เมตร รวมใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 35 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี และห้องแถว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 100 ตารางเมตร ความสูง 1-2 ชั้น ประมาณ 3 เมตร เป็นหลังคาจั่วมุม 30 องศา โดยลาดมาด้านหน้าและหลังเป็นส่วนใหญ่ มีอัตราส่วนช่องเปิดประมาณ 20% ของพื้นที่ผนังในแต่ละด้านมีสัดส่วนพื้นที่ปรับอากาศต่อพื้นที่ใช้สอย ประมาณ 20% ความยาวชายคาประมาณ 1 เมตร รวมใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 54 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี

และเมื่อคณะผู้ทำการศึกษานำมาคำนวณค่ามาตรฐานที่บ้านอยู่อาศัยควรจะมีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2564 พบว่า บ้านเดี่ยวควรมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 25 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี และสำหรับห้องแถว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด ควรมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 44 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี สำหรับพลังงานไฟฟ้าในระบบปรับอากาศและระบบแสงสว่าง โดยขึ้นอยู่กับวัสดุเปลือกอาคารวัสดุก่อสร้างมีฉลากประหยัดพลังงานเบอร์ 5 ระบบไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศและระบบไฟฟ้าและแสงสว่างควรมีมาตรฐานฉลากประหยัดพลังงานเบอร์ 5 กำกับ คาดว่าจะมีบ้านใหม่สูงถึง 70-80% ที่ต้องก่อสร้างให้ตรงกับเกณฑ์มาตรฐานนี้หากประกาศใช้

ปัญหาการใช้พลังงานที่พบจากการสำรวจและแนวทางแก้ปัญหา

ดร.ชญาณิน จิตรานุเคราะห์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ลักษณะบ้านที่อยู่อาศัยในปัจจุบันไม่ใส่ฉนวนเหนือฝ้าเพดาน บริเวณใต้หลังคา ไม่มีชายคาและการกันแดดบริเวณช่องเปิดในพื้นที่ปรับอากาศที่เหมาะสมมีช่องเปิดแบบบานเกล็ดในพื้นที่ปรับอากาศ เปิดห้องนํ้าเข้าสู่ห้องนอนที่ใช้เครื่องปรับอากาศโดยตรง อีกทั้งใช้เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพตํ่าหลายๆ บ้านยังเป็นรุ่นดั้งเดิมที่เข้ามาจำหน่ายในระยะแรกๆ สำหรับในเมืองไทย ไม่มีการปรับเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นหม้อหุงข้าวตู้เย็น โทรทัศน์ พัดลม และอื่นๆ เป็น ระยะเวลานานกว่า 10 ปี ทำให้เกิดการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น ใช้หลอดไฟที่ไม่มีโคมสะท้อนแสง แสงสว่างไม่เพียงพอในพื้นที่ ทำให้มีการติดหลอดไฟมากเกินความจำเป็น ที่สำคัญมีพฤติกรรมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบเปิดแล้วไม่ยอมปิด เปิดทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น จึงจำเป็นที่ภาครัฐควรลงพื้นที่ให้ข้อมูลเกณฑ์มาตรฐานที่ศึกษาได้เพื่อให้ประชาชนรับทราบ และพร้อมปรับตัวดูแลควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าของบ้านที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามข้อกำหนดต่างๆ ตามที่ภาครัฐกำหนดเพื่อให้การดำเนินงานได้รับการยอมรับ การร่วมมืออันดีจากประชาชนผู้อยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่ พร้อมกันนี้ควรมีการอบรมประชาชนที่จะก่อสร้างบ้านสมัยใหม่ให้มีความเข้าใจในการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานมาใช้ให้มากขึ้น รวมทั้งมีการหาแหล่งเงินกู้ที่ไม่สูงมากนักให้กับประชาชนหรือผู้ประกอบการที่สร้างบ้าน มอบส่วนลดภาษีให้กับประชาชน ผู้ประกอบการที่ปรับเปลี่ยนเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และสอนวิธีคำนวณการใช้วัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้านอย่างง่ายให้ประชาชนเพื่อจะได้นำไปคำนวณค่าพลังงานที่ใช้ให้ไม่สูง ช่วยลดพลังงานในบ้านอาศัยและประหยัดเงินชำระค่าไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่งด้วย

โครงการศึกษาเพื่อจัดทำเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย” ประจำปี พ.ศ. 2561

ทิศทางการประหยัดพลังงานในบ้านยุคใหม่

บวรพงษ์ สุนิภาษา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการอนุรักษพ์ ลังงานภาคประชาชนและธุรกิจ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ที่ได้จากการศึกษาในโครงการนี้ ช่วงแรกๆ จะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจก่อน แล้วจะค่อยๆ ขยับเป็นมาตรการบังคับใช้เพื่อให้สอดรับกับแผนการประหยัดพลังงานภาครัฐและรูปแบบการก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัย อาคารสิ่งก่อสร้างเพื่ออยู่อาศัยในอนาคต ได้มีแนวทางในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นในเรื่องประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ พพ.ได้ออกแบบบ้านที่อยู่อาศัยเพื่ออนุรักษ์พลังงานในหลากหลายรูปแบบแจกจ่ายประชาชนมีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ง่ายๆ ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ www.dede.go.th สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน โทรศัพท์ 0-2223-0021 หรือเข้าไปที่ www.dede.go.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/dedeofthailand

บ้านประหยัดพลังงาน

รศ. ดร.พันธุดา พุฒิไพโรจน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า หากจะให้ทิศทางบ้านยุคใหม่หันมาประหยัดพลังงานให้มากขึ้นนั้น ต้องมีการสร้างความเข้าใจการก่อสร้างออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน Smart Energy และการออกแบบผังเมือง ควรมีบทบาทเข้ามาควบคุมด้วยเพื่อให้เป็นพื้นที่โซน Smart City ยืดหยุ่นการใช้งานได้ต ามความเหมาะสม มีความปลอดภัยคำนึงถึงผู้พักอาศัยทุกๆ ช่วงอายุ ยิ่งในยุคเข้าสู่สังคมสูงวัยสำหรับประเทศไทยด้วยแล้วควรมีการออกแบบบ้าน ออกแบบพื้นที่ให้รองรับผู้สูงอายุด้วย อาจจะติดตั้งตัวระบบควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในบ้านหากเกินความจำเป็นมีสัญญาณเตือนให้คนในบ้านทราบและหาทางปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า ปิดอุปกรณ์ในพื้นที่ที่ไม่มีคนใช้งาน เพื่อเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยประหยัดพลังงานของบ้านแต่ละหลังได้

บ้านประหยัดพลังงาน

พันธุเทพ ทานชิติกุล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมคเคอร์โฮม จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมผู้บริโภคในการมองหาที่อยู่อาศัยเริ่มเปลี่ยนไป เทรนด์การอนุรักษ์พลังงานเริ่มเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจเลือกซื้อมากขึ้น เพราะการมีบ้านที่ประหยัดพลังงานอยู่อาศัยเท่ากับว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนที่จะต้องชำระค่าไฟฟ้าก็จะลดลงด้วย ดังนั้นผูป้ ระกอบการอสังหาริมทรัพย์ ในปัจจุบันจึงพยายามนำเสนอรูปแบบการก่อสร้างบ้านที่ตอบโจทย์ตรงนี้ เช่น ใช้วัสดุทนความร้อน ระบายความร้อนภายในบ้านที่มีคุณภาพในราคาที่ไม่แพงจนเกินไปและได้มาตรฐานตามข้อกำหนด การปรับเปลี่ยนหลังคาบ้านให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับเก็บพลังงาน ติดกระจกที่มีแผงโซลาร์เซลล์ด้านที่โดนแดด ปูแผ่นพลาสติกเพื่อป้องกันความชื้นที่สามารถระเหยขึ้นมาจากผิวดิน ที่สำคัญทีมออกแบบบ้านในโครงการจะมุ่งเน้นการถ่ายเทความร้อนออกจากตัวบ้าน เพราะประเทศไทยจะได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ทางทิศใต้เป็นเวลานานถึง 8-9 เดือน วางผังบ้าน ช่องประตูและช่องหน้าต่างคำนึงถึงทิศทางกระแสลม แต่หากพื้นที่ทางเข้า-ออกของบ้านกับถนนจำเป็นต้องสร้างบ้านที่รับแดดในทิศทางดังกล่าว ก็มีทางแก้โดยการติดตั้งกันสาดหรือปลูกต้นไม้ที่เหมาะสมก็ได้ ที่สำคัญควรสร้างจิตสำนึกในการช่วยกันลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นภายในบ้านเพื่อให้เรามีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนในอนาคต


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 91 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 คอลัมน์ SPECIAL Scoop โดย เปมิกา สมพงษ์


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save