ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติร่าง MOU ขยายความร่วมมือด้านไฟฟ้าไทย-ลาว จากกำลังการผลิต 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2565 ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) (Memorandum of Understanding between The Government of the Kingdom of Thailand and The Government of the Lao People’s Democratic Republic Regarding Cooperation on the Development of Electrical Energy in the Lao People’s Democratic Republic)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนาม โดยวิธีการลงนามแบบเสมือนจริง (Virtual Signing Ceremony)

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ พน. นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของเรื่อง
พน. รายงานว่า

1. กพช. ในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 มีมติเห็นชอบการขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและ สปป.ลาว เรื่อง ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศไทย และสอดคล้องกับข้อเสนอของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นการปิดความเสี่ยงในการขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ในอนาคต และเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ไฟฟ้าจากพลังน้ำมีต้นทุนต่ำกว่าพลังงานสะอาดเภทอื่น จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศในอนาคตเมื่อประเทศไทยมีระดับการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ การขยายกรอบดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบความมั่นคงทางพลังงานที่กำหนดให้รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ประเทศใดประเทศหนึ่งได้ไม่เกิน 13% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในระบบ

2. เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2565 คณะทำงานพิจารณากรอบบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ฝ่ายไทย) ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ได้จัดประชุมหารือทวิภาคีกับคณะผู้แทนของฝ่าย สปป.ลาว ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ (เพ็ดสะหวัน รัตตะนะธงไช) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของฝ่าย สปป.ลาว เพื่อร่วมกันพิจารณากรอบร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่จะขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและ สปป.ลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ และเห็นชอบในสารัตถะ ถ้อยคำ และเนื้อหาของร่างบันทึกความเข้าใจฯ (ตามข้อ 1) รวมถึงเห็นชอบร่วมกันที่จะให้มีการลงนามร่วมกันในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ โดยวิธีการลงนามแบบเสมือนจริง (Virtual Signing Ceremony) เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างทั้งสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

3. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. การขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้า ขยายความร่วมมือด้านพลังนไฟฟ้าจากปริมาณกำลังการผลิตเดิม 9,000 เมกะวัตต์ โดยเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตขึ้นอีก 1,500 เมกะวัตต์ รวมเป็นปริมาณกำลังการผลิตใหม่ประมาณ 10,500 เมกะวัตต์ สำหรับขายพลังงานไฟฟ้าให้กับราชอาณาจักรไทย

2. แนวทางการดำเนินการ ให้การไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ/หรือหน่วยงานของประเทศไทยอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นผู้รับผิดชอบการซื้อขายไฟฟ้าและพิจารณาความร่วมมือในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการใน สปป.ลาว ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย รวมไปถึงการพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าในเชิงเทคนิคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับการส่งผ่านไฟฟ้าจาก สปป.ลาว สำหรับเงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของแต่ละโครงการนั้น จะต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดต่อไป

3.การส่งเสริมความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น

1) จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำการศึกษาร่วมกันในรายละเอียดในเชิงเทคนิคและเศรษฐศาสตร์สำหรับการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งแบบสายส่งต่อสายส่ง

2)พัฒนาไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงความร้อนและส่งเสริมการพัฒนาระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าและระบบการขายปลีกไฟฟ้าใน สปป.ลาว นอกเหนือจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ

3)จัดสรรทรัพยากรน้ำ รวมถึงความร่วมมืออื่น ๆ ในการลดการปล่อยคาร์บอนภายใต้เงื่อนไขของการพัฒนาที่ยั่งยืนและผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

4) พิจารณา การก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าข้ามพรมแดนของแต่ละประเทศและ/หรือสายส่งพลังงานไฟฟ้าที่จะเชื่อมโยงกับระบบสายส่งเดิมไปยังและ/หรือจากประเทศที่สาม

4. กลไกการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านของราชอาณาจักรไทยและคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาพลังงานไฟฟ้าแห่ง สปป.ลาว รวมถึงผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมาย ร่วมมือกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จของบันทึกความเข้าใจเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

5. การบังคับใช้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้และใช้แทนที่บันทึกความเข้าใจฉบับเดิมเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2559 ตั้งแต่วันที่มีการลงนามของทั้งสองฝ่ายและ ความตกลงต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วหรืออยู่ระหว่างดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับลงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2536 วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2539 วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2549 วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2550 และวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2559 ยังคงดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยยังมีผลบังคับใช้ และยังเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าที่สอดคล้องกับบันทึกความเข้าใจฉบับนี้


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save