สนพ. เผยร่างแผนพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า รองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ไทยในอนาคต


สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยร่างแผนการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ตามนโยบายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 ซึ่งเป็นนโยบายสนับสนุนเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเปลี่ยนรูปแบบเชื้อเพลิงจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว จากผลการศึกษาของโครงการจัดทำแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ พบว่าปี 2030 ประเทศไทยควรจะมีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charge ในหัวเมืองใหญ่ จำนวน 8,227 เครื่อง และการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในเขตพื้นที่ทางหลวง (Highway) จำนวน 5,024 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเครื่องสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั่วประเทศอีก 8,291 เครื่อง

ปัจจุบันกระแสของโลกกำลังมุ่งเข้าไปสู่รูปแบบของการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะหลายทศวรรษที่ผ่านมายานยนต์สารพัดชนิดต่างใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงที่เป็นฟอสซิล ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยเองก็มีการกำหนดนโยบายเพื่อให้สอดรับกับเจตจำนงของนานาชาติในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงได้เห็นชอบกรอบ “แผนพลังงานชาติ” โดยได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน ที่จะมีผลต่อทิศทางการพัฒนาพลังงานที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ (1) เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 (2) ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ผ่านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 (3) ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่าร้อยละ 30 และ (4) ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ตามแนวทาง 4D1E

และเพื่อให้มีการดำเนินการที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งกำหนดเป้าหมายในปี 2568 จะมีจำนวนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast Charge 2,200-4,400 เครื่อง และในปี 2573 จะมี 12,000 เครื่อง ครอบคลุมทั้งเมืองใหญ่ พื้นที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก และพื้นที่ชุมชน ทาง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงได้มีการจัดทำร่างแผนการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น เพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ตามนโยบายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญอย่างมากในอนาคตเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในระยะยาว ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มความสามารถในการเปลี่ยนรูปแบบเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว และยังช่วยแก้ไขปัญหาสภาพอากาศจากภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ได้อีกด้วย

ซึ่งจากผลการศึกษาของโครงการจัดทำแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ พบว่า ในปี 2030 ประเทศไทยควรจะมีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charge ในหัวเมืองใหญ่ จำนวน 8,227 เครื่อง และการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในเขตพื้นที่ทางหลวง (Highway) จำนวน 5,024 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเครื่องสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั่วประเทศอีก 8,291 เครื่อง

สำหรับสาระสำคัญของร่างแผนฉบับนี้ จะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านนโยบาย ได้กำหนดเป้าหมายและสนับสนุนการพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะให้เพียงพอต่อความต้องการ ควบคู่การอุดหนุน สนับสนุนอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุ
  2. ด้านกฎระเบียบ ได้กำหนดมาตรฐานการติดตั้งเครื่องอัดประจุและสถานีฯ มาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการของสถานีอัดประจุไฟฟ้าฯ สาธารณะ อีกทั้งยังปรับปรุงขั้นตอนขออนุญาตประกอบกิจการ การศึกษาและจัดทำกรอบหลักเกณฑ์ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการบูรณาการ EV ในรูปแบบต่าง ๆ
  3. ด้านเทคโนโลยี ได้กำหนดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโครงข่ายไฟฟ้าให้สามารถรองรับการใช้งานได้ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสื่อสารเพื่อรองรับการบูรณาการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นแนวทางการลดผลกระทบและการวางแผนการพัฒนาสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) หน่วยงานภาครัฐ (2) หน่วยงานภาคขนส่งและผู้ให้บริการอัดประจุ EV (3) หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า และ (4) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยจากการรับฟังความคิดเห็นพบว่า ประชาชนอยากให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องอัดประจุในที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ทั้งในเรื่องของราคาเครื่องอัดประจุ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง หม้อไฟ ค่าขยายไฟ ค่าไฟ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาในเรื่องกฎระเบียบ และด้านเทคนิค รวมถึงแนวทางการสนับสนุนการติดตั้งเครื่องอัดประจุในกลุ่มผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมหรือหอพัก ในส่วนของผู้ประกอบการในเชิงพาณิชย์ต้องการให้ภาครัฐช่วยลดความยุ่งยากในการขออนุมัติติดตั้งสถานีอัดประจุ โดยเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานจัดการแบบ One Stop Service รวมทั้งเสนอให้มีการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของสถานีอัดประจุเป็นรายปี และไม่ควรควบคุมราคาจำหน่าย แต่ควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกการตลาด

อย่างไรก็ตามด้วยการจัดทำแผนฉบับนี้ คาดว่าจะสามารถรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและมีความสอดคล้องกับทิศทางภาพรวมในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีเพียงพอต่อความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และไม่เกิดภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะยาว อีกทั้งยังตอบสนองทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะมีความสำคัญอย่างยิ่งกับคนไทยทุกคน


ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save