กสอ.ยกระดับชุมชนตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี ให้เป็นหมู่บ้าน CIV 5 ดาว ดึงไอเดียคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ต่อยอดธุรกิจ พร้อมพัฒนาทักษะก่อนสู่ตลาดแรงงาน


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) สานต่อโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ลงพื้นที่ชุมชนตะเคียนเตี้ย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แหล่งเรียนรู้การท่องเที่ยววิถีมะพร้าวที่มีความเข้มแข็ง ฝ่าวิกฤตCOVID -19 สร้างรายได้และงานในชุมชน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่มีความแข็งแกร่ง พร้อมผนึกกำลังกระทรวง อว. ดึงพลังจากนักศึกษารุ่นใหม่ร่วมกับชุมชนต่อยอดธุรกิจ เพิ่มมาตรฐานการให้บริการและผลิตภัณฑ์ ยกระดับการพัฒนาเป็นหมู่บ้าน CIV 5 ดาว และเป็นต้นแบบให้หมู่บ้านอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ความสำเร็จ เพื่อขยายผลไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ขณะเดียวกันได้บูรณาการแผนยุวชนสร้างชาติพัฒนาเยาวชน เพิ่มทักษะและประสบการณ์นอกห้องเรียนก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต

ธีระยุทธ วานิชชัง
ธีระยุทธ วานิชชัง (กลาง) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม

ธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ฯพณฯ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ลงพื้นที่เพื่อศึกษาความก้าวหน้าการยกระดับโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ของชุมชนตะเคียนเตี้ย บางละมุง จ.ชลบุรี ภายใต้ โครงการ “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” เพื่อส่งเสริมศักยภาพของชุมชนให้แข็งแกร่งตามแนวทางการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเครื่องจักรกลทางเศรษฐกิจ โดยชุมชนตะเคียนเตี้ย ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จและมีศักยภาพสำหรับการเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชนอื่น ๆ โดยชุมชนได้นำวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาและให้ความสำคัญในการนำทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นจุดขาย รวมถึงยังสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวผ่านหมู่บ้าน CIV ที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ชุมชนตะเคียนเตี้ยเป็น 1 ใน 250 หมู่บ้าน CIV

สำหรับชุมชนตะเคียนเตี้ยเป็น 1 ใน 250 หมู่บ้าน CIV ที่กสอ. ได้ดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบันและเป็นหนึ่งใน 27 ชุมชนแรก ที่ กสอ.ได้เข้าไปพัฒนาโดยได้บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงจากแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยชุมชนตะเคียนเตี้ยมีความโดดเด่นตรงที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชนมีการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลักที่มีอยู่เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญของภาคตะวันออกและชุมชนได้ร่วมมือกันพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยววิถีมะพร้าวชาวตะเคียนเตี้ย” โดยเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมในพื้นที่ต่าง ๆ ของชุมชน พร้อมกำหนดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว ไม่ว่าเป็นบ้านร้อยเสา สวนฟ้าใสไอโกะ บ้านใจดีสวนป่าสาโรชกะแหวว บ้านป้าลมุล จุดสาธิตการทำอาหารบ้านป้าแป๊ด บ้านกะลาโฮมสเตย์ โดยชุมชนสามารถพัฒนาอาหารประจำถิ่นที่ใช้มะพร้าวมาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารทั้งคาว หวานซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนตะเคียนเตี้ย

ชุมชนตะเคียนเตี้ย

“ชุมชนตะเคียนเตี้ย ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบที่สำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กสอ. เข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนให้เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐทั้งในด้านการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center : ITC 4.0) ในการต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นการสร้างโอกาสทางการตลาด ด้วยระบบออนไลน์ หรือ e-commerce ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมอบรมกว่า 100 ราย ตลอดจนการพัฒนาการบริการให้ได้มาตรฐานของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)และมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่มีอยู่ทั่วประเทศรวมถึงการเข้าถึงแหล่งสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ตามมาตรการของภาครัฐผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ซึ่ง กสอ. ทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกชุมชนและผู้ประกอบการ โดยมีการมอบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่า 29 ล้านบาทให้ผู้ประกอบการชุมชนตะเคียนเตี้ยกว่า 20 โครงการ รวมทั้งยังได้เปิดหลักสูตรอบรมการบริหารจัดการธุรกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทำการตลาดให้ผู้ประกอบการ SME สตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ธีระยุทธ กล่าวว่า ปัจจุบันมีโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ทั้งหมด 254 ชุมชน ครอบคลุมทั่วประเทศและทั่วทั้งภูมิภาค สามารถยกระดับเป็น CIV ดาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของชุมชน CIV กระทรวงอุตสาหกรรมโดย กสอ. ได้ร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการพัฒนาหมู่บ้าน CIV 5 ดาว ไปแล้ว 11 ชุมชน นำร่องของปีงบประมาณ 2563 สร้างรายได้ประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนชุมชนตะเคียนเตี้ยจะร่วมมือกับ อว.ดำเนินงานในปีงบประมาณ 2564 โดยร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้ “ยุวชนสร้างชาติ” โดยจะนำทีมนักศึกษา ชั้นปีที่ 3 และปีที่4 จำนวน 8-10 คน ต่อทีมที่เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาจากสาขาวิชาต่าง ๆลงพื้นที่ศึกษาและจัดทำแผนงานร่วมกับชุมชนในการพัฒนาต่อยอดจากการเป็นหมู่บ้าน CIV 5 ดาว ไปสู่การพัฒนาชุมชนให้มีความหลากหลายมากเพื่อให้เกิดศักยภาพสูงทั้งทางด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการการพัฒนาเทคโนโลยี การผลิต และการตลาด รวมทั้งยังเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ เข้ามาเรียนรู้ความสำเร็จที่เกิดขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้าสร้างหมู่บ้าน CIV 5 ดาว ทั้งหมด 170 ชุมชน

“การพัฒนาศักยภาพชุมชนร่วมกับ อว. ในครั้งนี้เพื่อยกระดับหมู่บ้าน CIV 5 ดาว ไปอีกขั้นหนึ่ง โดยนำความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆของนักศึกษา มาผสมผสานกับวิถีชุมชนเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ให้เกิดความแปลกใหม่โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ การตลาด การนำองค์ความรู้ด้านภูมิสถาปัตยกรรมเข้ามาพัฒนา ตลอดจนการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อรองรับกับการท่องเที่ยวที่มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งยังคงต้องรักษาอัตลักษณ์และเกิดความร่วมมือจากชุมชนทำให้นักศึกษาได้เพิ่มประสบการณ์นอกห้องเรียนเพิ่มทักษะก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน” ธีระยุทธ กล่าว

ธีระยุทธ กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID -19 ที่ผ่านมาการดำเนินงานที่เข้มแข็งของชุมชน ส่งผลให้แรงงานในชุมชนมีงานทำทั้งยังสามารถรองรับแรงงานที่อพยพกลับภูมิลำเนาซึ่งสามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่ในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน กสอ. มีนโยบาย “ปั้น ปรุง เปลี่ยน” SMEให้ดีพร้อมซึ่งการปั้น SMEหรือวิสาหกิจชุมชนให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นมิติหนึ่งในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ความคิดสร้างสรรค์และทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ และมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของชุมชน ประกอบกับการน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่9 มาประยุกต์ในการจัดทำหมู่บ้าน CIV จึงนับเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้พัฒนาอย่างยั่งยืน

วันดี ประกอบธรรม

ด้าน วันดี ประกอบธรรม ผู้นำชุมชนตะเคียนเตี้ย กล่าวว่า ชุมชนตะเคียนเตี้ย มีโฮมสเตย์ประมาณ 3 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 600-700 คน โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นกรุ๊ปทัวร์ฺที่มาจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การที่ชุมชนตะเคียนเตี้ย จะยกระดับเป็นหมู่บ้าน CIV 5 ดาวนั้นจะต้องสร้างเรื่องราวต่างๆ และเพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆ อีกมากมาย เพื่อให้มีความน่าสนใจ ทั้งอาหารพื้นถิ่น “แกงไก่กะลา” การทำน้ำมะพร้าวสกัดเย็น การปล่อยตัวเบียน พิชิตด้วงมะพร้าว รวมทั้งมีการนวดไทย และนวดสปา เพื่อสร้างอัตลักษณ์ฺการท่องเที่ยววิถีมะพร้าวชาวตะเคียนเตี้ย

ที่ผ่านมา ชุมชนตะเคียนเตี้ย มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวจำนวนมาก ปัจจุบันเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากชุมชนตะเคียนเตี้ยอยู่ไม่ไกลจากถนนมอเตอร์เวย์ จังหวัดชลบุรี และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ชาวบ้านในชุมชนขายสวนมะพร้าวจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับชุมชนฯ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save