โชคยืนยงอุตสาหกรรมชูโรงไฟฟ้าแก๊สชีวภาพ ผลิตไฟฟ้าและความร้อน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน


บริษัท โชคยืนยงอุตสาหกรรม จำกัด ตั้งอยู่ เลขที่ 100 หมู่ 5 ตำบลโป่งแดง อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา บนพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ โดยการดำเนินธุรกิจโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ขนาดกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลัง 750 ตันแป้งต่อวัน มีระบบผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และใช้เองภายในโรงงาน รวมถึงนำความร้อนเหลือทิ้งจากระบบผลิตไฟฟ้ากลับมาใช้ในกระบวนการอบแป้งและใช้ในระบบทำความเย็นแบบดูดซึม (Absorption Chiller) ใช้ทดแทนเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนที่ใช้อยู่เดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังนั้น จะมีน้ำเสียจากกระบวนการผลิตปริมาณมากกว่า 12,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เดิมโรงงานได้ใช้การบำบัดน้ำเสียโดยวิธีการบำบัดแบบบ่อผึ่ง (Stabilization Pond) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหากลิ่นรบกวนแก่ชุมชน ดังนั้นจึงปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบ UASB หรือ Up-flow Anaerobic Sludge Blanket ที่สามารถบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพ เป็นไปตามกฎหมายกำหนด แก้ไขปัญหากลิ่นรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีผลพลอยได้ นั่นก็คือ ก๊าซชีวภาพที่นำกลับมาใช้ทดแทนน้ำมันเตาได้อีกด้วย

สำหรับโครงการพลังความร้อนร่วม (Cogeneration) ของบริษัท โชคยืนยงอุตสาหกรรม จำกัด ประกอบด้วยระบบการผลิตพลังงาน 2 ระบบหลัก คือ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพด้วยวัตถุดิบน้ำเสีย และ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมก๊าซชีวภาพ ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อนด้วยวัตถุดิบก๊าซชีวภาพ

ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ทดแทนการใช้น้ำมันเตา
ระบบผลิตก๊าซชีวภาพ ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ UASB สามารถรองรับน้ำเสียได้ถึง 7,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ระยะเวลาในการกักเก็บน้ำเสีย 36 ชั่วโมง สามารถบำบัดหรือลดความสกปรกของน้ำเสียที่มีค่า COD 30,000 มิลลิกรัมต่อลิตร ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นมากกว่า 90% (COD Removal Rate >90%) ผลิตแก๊สชีวภาพที่มีสัดส่วนก๊าซมีเทน (CH4) ประมาณ 65% นำเข้าสู่ระบบปรับปรุงคุณภาพแบบ Bio Scrubber เพื่อกำจัดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) จากนั้นจึงใช้ Blower ส่งก๊าซชีวภาพไปยังจุดที่ต้องการใช้งาน โดยก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ประมาณ 55% จะถูกส่งไปใช้ทดแทนน้ำมันเตาในกระบวนการอบแป้งมันสำปะหลัง ได้สูงสุดถึง 100% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 45% จะส่งไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป

สำหรับ Biogas Engine Set ใช้หลักการทำงานเดียวกับเครื่องยนต์เผาไหม้ภายใน ก๊าซชีวภาพจะถูกป้อนเข้าสู่กระบอกสูบในเครื่องยนต์ ลูกสูบเคลื่อนที่เพื่ออัดความดันในกระบอก เกิดการจุดระเบิดพร้อมดันลูกสูบและคายไอเสีย ลูกสูบที่อัดความดันในกระบอก เกิดการจุดระเบิดพร้อมดันลูกสูบและคายไอเสีย ลูกสูบที่เคลื่อนที่ ขึ้นลงเชื่อมต่อเข้ากับเพลาข้อเหวี่ยง พลังงานที่ได้จากการขับเพลาให้หมุนนี้จะส่งต่อไปขับชุดกําเนิดไฟฟ้า (Generator) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป  

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมก๊าซชีวภาพ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ในสัดส่วน 45% ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการนำไปทดแทน
น้ำมันเพื่อใช้ในกระบวนการอบแป้งมันสำปะหลัง จะส่งไปใช้ยังโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมก๊าซชีวภาพ โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีกำลังการผลิตติดตั้ง 5.44 เมกะวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 4.4 เมกะวัตต์ โดยบริษัทได้ทำสัญญาจำหน่ายไฟให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 1 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 3.4 เมกะวัตต์ นำไปใช้ภายในบริษัทฯ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและใช้ภายในโรงไฟฟ้า และยังผลิตความร้อนเพื่อนำไปใช้ในการอบแป้งมันสำปะหลัง และใช้แทนไฟฟ้าในการผลิตน้ำเย็นสำหรับ Absorption Chiller

นำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์
จากกระบวนการ Biogas Engine มีการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ คือ Heat Recovery System และ Absorption Chiller
1. Heat Recovery System
โดยการนำความร้อนจากท่อไอเสียของระบบผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีความร้อนสูงกว่า 500 องศาเซลเซียส ไปผ่านหม้อน้ำ และถ่ายเทความร้อนให้กับน้ำ ทำให้น้ำเดือดกลายเป็นไอน้ำ นำไปใช้ทดแทนกับไอน้ำจากหม้อไอน้ำเดิม ลดการใช้เชื้อเพลิงของหม้อไอน้ำ ซึ่งเดิมเป็นหม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงจาก Biogas
2. Absorption Chiller
ใช้ความร้อนจากน้ำหล่อเย็นแทนไฟฟ้าในการผลิตน้ำเย็น ที่อุณหภูมิประมาณ 90 องศาเซลเซียส สามารถทำความเย็นได้ 86 ตันความเย็น (RT) และใช้ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการต้มสารสื่อตัวนำเพื่อรักษาเสถียรภาพของความเย็นที่ผลิตได้ เทียบเท่า 24 ตันความเย็น รวมพลังงานความร้อนเหลือทิ้งที่นำกลับมาใช้ผลิตน้ำเย็นทั้งหมด 110 ตันความเย็นดังกล่าวจะนำไปใช้แทนเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนที่ใช้อยู่เดิมทั้งหมด ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบปรับอากาศ โดยลดทั้งการใช้พลังงานไฟฟ้าและลดการซ่อมบำรุง

การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในโรงงาน ใส่ใจชุมชนรอบข้าง

บริษัท โชคยืนยงอุตสาหกรรม จำกัด ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับการบำบัดน้ำเสียในอดีต ที่น้ำเสียของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง มีการเจือปนของสารพิษหลายชนิด หากปล่อยสู่ลำน้ำสาธารณะจะเป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และส่งกลิ่นเหม็น จากการนำ Biogas มาสันดาปเผาไหม้ในเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และมานำความร้อนที่ทิ้งกลับมาผลิตพลังงานความร้อนร่วม ทำให้ลดการปล่อยไอเสีย ไม่ทำให้เกิดเขม่าควัน หรือสร้างมลภาวะให้แก่ชุมชนบริเวณรอบข้าง นอกจากนี้ยังมีการคลุมผ้าใบบ่อน้ำเสียก่อนเข้าระบบ Biogas เพื่อลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ รวมไปถึงการนำน้ำกลับมาใช้ในกระบวนการล้างมันสำปะหลัง เพื่อลดการปล่อยลงสู่คลองสาธารณะ ทั้งยังมีการปลูกป่ายูคาลิปตัส ปาล์มจำนวน 400 ไร่ เพื่อรองรับน้ำเสียและยังปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วให้กับชาวบ้านและเกษตรกรที่ปลูกหญ้าเนเปียร์บริเวณรอบข้างด้วย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save