วิกฤตโลกร้อนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว


ความเสี่ยงจากสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงตามสภาพภูมิอากาศโลก Global Climate Risk Index 2018 ขององค์กร Germ Watch ในระหว่างปี พ.ศ.2540-2559 ได้ระบุว่าในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยได้ถูกตัดให้อยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว โดยจะส่งผลกระทบต่อต่อการดำรงชีวิตของคน สัตว์และพืช อันเนื่องมาจากสถานการณ์ภัยทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย ภัยแห้งแล้ง และวาตภัยที่เกิดรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น

ดังนั้นเพื่อบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และท้องถิ่นในการสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงและผลของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อนที่ยั่งยืน โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติให้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2579 นั้นเอง ซึ่งการจัดเสวนาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำให้ทุกฝ่ายเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาล่วงหน้าให้ทันเหตุการณ์

วิกฤตโลกร้อนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

จิระศักดิ์ ชูความดี รองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้กล่าวในงานเสวนา “วิกฤตโลกร้อนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว” ว่า ประเด็นของปัญหาวิกฤติของโลกร้อนที่เป็นเรื่องที่สำคัญมีผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลก ซึ่งในเวทีการประชุมระดับโลก เช่น การประชุมสหประชาชาติ (UN) และ การประชุมองค์กรเศรษฐกิจระดับโลก (World Economic Forum : WEF) ในช่วงระยะที่ผ่านมาก็ได้สะท้อนถึงความห่วงใยในประเด็นความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของมวลมนุษยชาติในโลกที่จะต้องเผชิญกับการเสี่ยงภัยจากภัยธรรมชาติ อุทกภัย ภัยแล้ง และวาตภัยซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรง และเกิดบ่อยครั้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

เมื่อเร็วๆนี้ (17 พ.ค. 2562) สำนักหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน ได้เปลี่ยนภาษาที่ใช้สื่อสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจาก คำว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ” หรือ “Climate Change” เป็นคำว่า “ภาวะคับขันของสภาพภูมิอากาศ” หรือ “Climate Emergency” และเปลี่ยนจากคำว่า “โลกร้อน” หรือ “Global Warming” มาเป็นคำว่า “วิกฤตโลกร้อน หรือ “Global Heating” เพื่อย้ำเตือน และสื่อสารให้เห็นถึงความรุนแรงของโลกร้อนที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมวลมนุษยชาติ

จิระศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในการเสวนาในครั้งนี้คณะผู้จัดการเสวนาต้องการให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้รับรู้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกร้อน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับวิกฤตของสถานการณ์ของโลกร้อนที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันตามที่ท่านทั้งหลายอาจจะประสบ เช่น การที่อุณหภูมิของอากาศร้อนสูงขึ้นในบางวันหรือบางพื้นที่กว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาอาจจะไม่รู้สึกว่าอากาศร้อนเช่นนี้ และในหลายประเทศที่มีอุณหภูมิของอากาศร้อนสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส เช่น ประเทศอินเดีย และประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนในทั่วทุกภูมิภาค เช่น ฝนตก ฝนแล้ง น้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้งก็เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมป่าไม้ ซึ่งได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นกรอบแนวคิดในการเสวนา คือ

1) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4.1 สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ข้อ 4.1.4 รักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง และชุมชน การส่งเสริมปลูกป่าเศรษฐกิจ

2) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4.3 สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศซึ่งมุ่งเน้นการปล่อยก๊าชเรือนกระจก และสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ และการสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการรับมือ และปรับตัวเพื่อลดความสูญเสีย และเสียหายจากภัยธรรมชาติ และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ประเด็น เป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมป่าไม้โดยตรงที่จะต้องมาเผยแพร่ความรู้ สื่อสารข่าวสารข้อมูล ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ ผมก็ต้องขอขอบคุณคณะผู้จัดงานที่ได้หยิบยกประเด็นนี้มาขยายผลได้ทันเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการริเริ่มโครงการ “คนไทยร่วมใจปลูกต้นไม้ลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน” “Sustainable Green Growth Cooperation Declaration :SGGC” ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ของภาคประชาชน เพื่อจุดกระแส และขับเคลื่อนวาระการปลูกต้นไม้ให้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันปลูกต้นไม้ในทุกวาระ ทุกโอกาสของวันสำคัญ ๆ ของประเทศ

“ในฐานะตัวแทนของหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมป่าไม้ ใคร่ขอชื่นชมในความริเริ่มจัดทำคำประกาศเจตนารมณ์การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Sustainable Green Growth Cooperation Declaration: SGGC) ให้เป็นวาระแห่งชาติของคนไทยทุกคนในการสร้างพลังของคนไทยให้มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือ “ความยั่งยืน” ไว้ ณ เวทีการเสวนาแห่งนี้” จิระศักดิ์ กล่าว

วิกฤตโลกร้อนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

สำหรับในประเด็นหัวข้อเรื่อง “การปลูกต้นไม้เป็นทุนหมุนเวียน และเป็นเงินออมเพื่อเกษียณอายุ” เป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งให้แก่ผู้ที่มีที่ดินปล่อยไว้ว่างเปล่าหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินไม่คุ้มค่า ซึ่งอาจจะต้องถูกจัดเก็บภาษีที่ดินหากปล่อยทิ้งที่ดินไว้ว่างเปล่าในอัตราที่สูงขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ให้หันมาปลูกไม้มีค่า เช่น ไม้สัก ไม้ยางนา พะยูง ชิงชัน ประดู่ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้กรมป่าไม้ได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 ให้ไม้มีค่าตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 ที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป (พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562

ซึ่งขณะนี้ได้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ผู้ปลูกไม้มีค่าสามารถตัดได้ ขายคล่องเพียงแต่ต้องสำแดงแหล่งที่มาของไม้ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนที่หันมาปลูกต้นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจกันมากขึ้น ทั้งเพื่อประโยชน์ใช้สอยส่วนตัว หรือเพื่อปลูกไว้เป็นแหล่งรายได้หรือเก็บเป็นทรัพย์สินเพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน นอกจากจะทำให้ประเทศได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้ภาคป่าไม้สามารถเป็นแหล่งดูดซับก๊าชเรือนกระจกที่ชดเชยการปล่อยก๊าชเรือนกระจก (CO2) ในภาคการผลิต เช่น ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ได้ในอีกทางหนึ่งด้วย

จิระศักดิ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการสร้างกระแสการตื่นตัวเรื่องการปลูกต้นไม้ว่า เพื่อสร้างแหล่งทุนหมุนเวียนเป็นเงินออมให้ผู้ที่สนใจปลูกไม้มีค่าเพื่อเป็นแหล่งรายได้ และส่งมอบให้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจากผลการวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีเงินเก็บเพื่อการเกษียณอายุไม่เพียงพอต่อการครองชีพในอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า

จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องมีการวางแผนการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นหลักประกันชีวิตในอนาคต ซึ่งจะต้องยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือจะต้องให้มีความสมดุลทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดย “มีความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” ซึ่งเป็นหลักการของความยั่งยืน ดังนั้น จึงใคร่ขอให้ทุกท่านน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สุขในส่วนตน และส่วนรวมของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป

มนุษยชาติไม่เคยถูกกดดันให้ยื้อยุดกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่หนักหน่วงเช่นนี้มาก่อน ถ้าเราไม่ลงมือทำอย่างเร่งด่วน และทันทีเพื่อหยุดภาวะโลกร้อน อาจทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับคืนได้


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save